• banner

เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้ อาการเหล่านี้บอกอะไรได้บ้าง ?

“เริ่มต้นสวย ชีวิตก็ไปได้สวยจริงไหม?” เพราะจุดเริ่มต้นที่สำคัญของผู้หญิง คือ การก้าวเข้าสู่วัยเริ่มสาว ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พบการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สรีระ ฮอร์โมน ไปจนถึงด้านอารมณ์ สาวๆ หลายคน อาจรู้สึกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และมีจำนวนไม่น้อย ที่พบปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิงอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันพบมากขึ้นในวัยเริ่มสาว ที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่

  • อาหารที่ไม่เหมาะสม
  • ความเครียด
  • ไม่มีเวลาออกกำลังกายดูแลตัวเอง
  • สภาพแวดล้อม
  • พันธุกรรม ฯลฯ
ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็แล้วแต่ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระบบสืบพันธุ์ของสาวๆ ซ้ำร้ายอาจส่งผลต่อการมีบุตรยากตามมาอีกด้วย


ประจำเดือนมาไม่ปกติอีกเรื่องที่สาวๆ ห้ามละเลย ถ้าไม่อยากมีบุตรยาก
“เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม” กับปัญหาสุดคลาสสิคของผู้หญิงวัยเริ่มสาว ที่ส่วนใหญ่ต้องเคยผ่านประสบการณ์ “ประจำเดือนมาไม่ปกติ” แล้วทั้งนั้น แน่นอนว่าต่างคนก็ต่างอาการ แต่แบบไหนกันที่อาจส่งผลต่อการมีบุตรยากโดยไม่รู้ตัว  

วิธีสังเกตุอาการประจำเดือนมาไม่ปกติที่ส่งผลต่อการมีบุตรยาก

1. ความถี่ของการมีประจำเดือน ความจริงแล้วประจำเดือนควรมาทุกๆ 21 – 35 วัน หากมีประจำเดือนถี่หรือห่างกว่านี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า “มีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่” และอาจเข้าสู่ภาวะ “ไม่ตกไข่เรื้อรัง” ส่งผลให้มีบุตรยาก นอกจากนี้ยังพบว่าในผู้หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายเด่น เช่น หน้ามัน ขนดก เมื่ออัลตราซาวด์ดูรังไข่จะพบฟองไข่ใบเล็กๆ จำนวนมาก ที่ไม่สามารถเจริญเติบโตไปสู่ขั้นที่ตกไข่ออกมาได้ จึงสะสมอยู่ภายในรังไข่ ทั้งนี้ปกติธรรมชาติของผู้หญิง จะเกิดการตกไข่เพื่อแสดงความพร้อมในการตั้งครรภ์ ประมาณ 80% ของการมีประจำเดือน นั่นหมายความว่าการมีประจำเดือน 10 ครั้ง จะพบไข่ตกเพียง 8 ครั้งเท่านั้น ฉะนั้นหากจะมาวัดกันเรื่องความถี่ของการมีประจำเดือนคงต้องระวังกันให้ดี ยิ่งใครอยากมีลูกแล้วละก็ยิ่งต้องระวังกันไปใหญ่ โดยอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดความผิดปกติ คือ ความเครียด ที่ส่งผลต่อการตกไข่ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติเสี่ยงต่อการมีบุตรยากได้เช่นกัน

2. ปริมาณและระยะเวลาของเลือดประจำเดือนที่ออก ตามปกติระยะเวลาของเลือดที่ออกนั้น ควรอยู่ที่ 2–7 วัน ในกรณีที่มีลิ่มเลือดปนออกมา หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยหลังจากประจำเดือนหยุดแล้ว อาจเป็นสัญญาณของการเกิดปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูก และเป็นสาเหตุทำให้มีบุตรยาก เพราะตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวและเจริญเติบโตในโพรงมดลูกที่มีความผิดปกติได้ หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน

3. อาการปวดประจำเดือน สำหรับอาการปวดท้องระหว่างมีประจำเดือนถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นช่วงที่มดลูกกำลังกำจัดเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาโดยกล้ามเนื้อมดลูกจะหดตัวและกีดขวางหลอดเลือดเล็กๆ จำนวนมาก เพื่อให้เยื่อบุผนังลอกออก กระบวนการนี้เองที่ส่งสารความเจ็บปวดไปยังสมอง ในเวลาเดียวกัน ร่างกายยังปล่อยสารประกอบโพรสตาแกลนดิน (prostaglandins) ทำให้มดลูกหดตัวมากขึ้นนั่นเอง


"ปวดประจำเดือนแบบไหน สัญญาณอันตรายมีบุตรยาก"

จากสถิติพบว่าการปวดประจำเดือนพบได้ถึง 50% ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่จะปวดท้องส่วนล่าง กระจายไปบริเวณหลังหรือต้นขา มักจะปวดในวันแรกของการมีประจำเดือน เมื่ออายุมากขึ้นอาการจะลดลง แต่ถ้าอายุมากแล้วยังมีอาการปวดมากขึ้น อาจบ่งบอกได้ว่ามีความผิดปกติบางอย่างซ่อนอยู่ โดยสังเกตได้จากอาการปวดท้องน้อยเกือบทุกครั้ง รู้สึกปวดหน่วงๆ ลงช่องคลอดหรือทวารหนัก ปวดทั้งก่อนและหลัง หรือระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งมักจะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก ได้แก่ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่บริเวณรังไข่ หรือช็อคโกแลตซีสอีกด้วย"

"ดูแลตัวเองเบื้องต้นให้ประจำเดือนมาปกติลดความเสี่ยงภาวะมีบุตรยาก"

สำหรับผู้หญิงวัยเริ่มสาว สามารถดูแลตัวเองง่ายๆ เริ่มต้นที่เปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบการผลิตฮอร์โมนเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น มีประจำเดือนสม่ำเสมอมากขึ้น เช่น

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หาวิธีผ่อนคลาย ไม่ทำให้ตัวเองเครียดจนเกินไป
  • ดูแลการทานอาหาร หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ เลือกรับประทานธัญพืช ผลไม้และผักสีต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูงหรือคาเฟอีน
  • งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • นวดเบาๆบริเวณหลังช่วงล่างและท้องน้อย
  • ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
  • ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้เพียงพอสำหรับการมีประจำเดือนได้ตามปกติ

การสังเกตความผิดปกติของประจำเดือนที่เกิดขึ้น จะช่วยประเมินได้ว่ามีแนวโน้ม มีบุตรยาก หรือไม่ หากพบอาการหรือกังวลสาวๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาภาวะผู้มีบุตรยากต่อไป เพราะ “การดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย” โดยเฉพาะอนาคตหากต้องแต่งงานมีครอบครัว การเตรียมตัวเพื่อลดความเสี่ยงมีบุตรยากจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง


"ตกขาว มีตุ่มขึ้น ปัญหาในร่มผ้าที่สาวๆ ไม่กล้าบอกใคร "

อีกเรื่องที่ทำให้สาวๆ กังวลใจในลำดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น “อาการตกขาว” ซึ่งเป็นภาวะที่พบบ่อยและสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน สำหรับผู้หญิงเข้าสู่วัยเริ่มสาว หลายคนสงสัยว่าอาการตกขาวเกิดจากอะไร ตกขาวผิดปกติคือแบบไหน เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายหรือระบบสืบพันธุ์มีปัญหาหรือไม่ ถ้าแต่งงานมีครอบครัวจะส่งผลต่อการมีบุตรยากหรือเปล่า แน่นอนว่าต้องมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย แต่ขั้นแรกควรรู้ก่อนว่าอาการตกขาวมีแบบไหนบ้าง?


1. ตกขาวแบบปกติ รู้ไว้ ไร้กังวล

อาการตกขาวโดยทั่วไปเกิดจากกลไกทางธรรมชาติ ขึ้นอยู่สภาพร่างกายของผู้หญิงแต่ละคน เป็นการที่ผนังช่องคลอดลอกหลุดเอาของเสียออกมาจากช่องคลอด โดยจะมีลักษณะเหลวสีขาวใส หรืออาจเป็นของเหลวสีขาวขุ่น เปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตโรน (Progesterone)

“ตกขาว” เป็นของเหลวที่ถูกผลิตโดยต่อมภายในช่องคลอด จะมีลักษณะใสไม่มีสี หรือเป็นสีขาวไม่มีกลิ่นเหม็น ปริมาณไม่มากและไม่ทำให้เกิดอาการคัน เพื่อนำพาเซลล์ที่ตายแล้วและแบคทีเรียในช่องคลอดออกมา เสมือนการทำความสะอาดและป้องกันการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ผู้หญิงทุกคนเป็นได้และไม่เป็นอันตราย

2. ตกขาวผิดปกติแบบนี้ อย่านิ่งนอนใจ สาเหตุของการเกิดตกขาวที่ผิดปกตินั้น สามารถเกิดได้จากความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง ตั้งแต่บริเวณช่องคลอด ปากมดลูก ไปจนถึงมดลูก โดยสาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณช่องคลอด สังเกตง่ายๆ จากภายนอกคือสีที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งตามลักษณะตกขาว ได้ดังนี้

  • ปนเลือดหรือมีสีน้ำตาล อาการนี้พบได้ไม่บ่อย มักเกิดจากมะเร็งโพรงมดลูกหรือมะเร็งปากมดลูก อาจมีอาการปวดท้องน้อยหรือมีเลือดออกผิดปกติร่วมด้วย
  • ขุ่นมีสีเหลือง อาจมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น Gonorrhea เลือดออกระหว่างรอบเดือน หรือมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • สีเหลือง เขียว มีฟองปน อาจเกิดจากการติดเชื้อปรสิต (Trichomoniasis) มักมีอาการปวดและคันเวลาปัสสาวะร่วมด้วย
  • สีชมพู พบได้ในหญิงหลังคลอด เนื่องจากการลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก
  • สีขาวหนาเป็นก้อน เกิดจากการติดเชื้อราจนมีอาการบวม แดง คันบริเวณอวัยวะเพศ เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
  • สีขาว เทา หรือเหลือง กลิ่นคาวเหมือนปลา เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการคัน แสบ แดง และบวมบริเวณอวัยวะเพศและอาจพบอาการร่วมอื่น เช่น แสบร้อนบริเวณช่องคลอด คัน มีตุ่มบริเวณช่องคลอดและอวัยวะเพศ อาการปวดท้องน้อยหรือเสียวในช่องท้อง อาการไข้ เป็นต้น
3. ป้องกันเบื้องต้นก่อนเป็น “ตกขาว” ได้ดังนี้
  • หากไม่มีความจำเป็น ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
  • ควรดื่มน้ำเยอะๆ รับประทานอาหารสดใหม่และมีคุณภาพ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรล้างอวัยวะเพศทุกครั้ง
  • ไม่ควรใส่กางกางที่มีขนาดเล็กกว่าไซต์ตัวเองหรือรัดเกินไป
  • ดูแลอวัยวะเพศให้แห้งอยู่เสมอ อย่าให้อับชื้น ควรเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง

สำหรับสาวๆ ที่เกิดอาการ "ตกขาวไม่ปกติ" ต้องให้แพทย์ตรวจภายในหาสาเหตุว่าติดจากเชื้ออะไร เพื่อที่จะได้รักษาตรงตามอาการ หากไม่มั่นใจไม่ควรรักษาเอง เพราะอาจทำให้ ระคายเคือง และติดเชื้อมากกว่าเดิม หากไม่รีบทำการรักษา อาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ส่งผลต่อการเกิดอาการมีบุตรยากตามมาในไม่ช้า


"ปัสสาวะมีเลือด อาการแบบนี้ ปล่อยไว้ไม่ดีแน่ "

พอเริ่มก้าวสู่วัยเริ่มสาวปฏิกิริยาตามธรรมชาติของร่างกาย ก็เริ่มส่งสัญญาณต่างๆ ออกมาให้เห็น เช่น “อาการปัสสาวะมีเลือด” ที่เกิดขึ้นกับสาวคนไหน ก็คงตกใจไม่น้อย อาการแบบนี้ บ่งบอกว่าระบบสืบพันธุ์กำลังมีปัญหารึเปล่านะ?ปกติแล้วปัสสาวะจะมีสีใส สีเหลืองอ่อน หรืออาจมีสีเหลืองเข้ม ขึ้นอยู่กับว่าดื่มน้ำมากน้อยแค่ไหน หากเมื่อใดที่ปัสสาวะของเรามีสีผิดปกติ เช่น สีออกแดง นี่อาจเป็นอาการปัสสาวะเป็นเลือด Hematuria (Blood in the Urine) คือ มีเลือดออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ซึ่งสามารถสื่อถึงโรคอันตรายต่างๆ อาจเป็นผลทั้งทางตรงและทางอ้อม นำมาซึ่งภาวะมีบุตรยากได้ด้วยเช่นกัน

ปัสสาวะเป็นเลือดสามารถพบได้หลายลักษณะ หลายสี สามารถแสดงถึงบริเวณที่เกิดได้ด้วย

  1. เลือดสีแดงสด หรือสีแดงคล้ำ
    1.1 เลือดซึมตอนเริ่มปัสสาวะการมีเลือดออกแบบนี้ บ่งบอกถึงอาการท่อปัสสาวะเป็นแผลหรือฉีกขาด มักมีอาการปวดขณะถ่ายปัสสาวะ อาจมีหนอง และสามารถติดเชื้อได้ด้วย
    1.2 เลือดออกตอนเริ่มปัสสาวะ ถ้ามีเลือดออกแค่ตอนเริ่มแรก แต่ตอนหลังไม่มี อาจมีเหตุผลเหมือนกับเลือดซึมตอนเริ่มปัสสาวะ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด
    1.3 เลือดออกตอนท้ายปัสสาวะปัสสาวะที่มีเลือดออกในลักษณะนี้ มักเกิดจากอาการเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีสาเหตุมาจากนิ่วหรือเนื้องอก หรืออาจเป็นเพราะกระเพาะปัสสาวะอักเสบโดยอาการเหล่านี้มักจะมีอาการอื่นๆ เช่นปวดท้องน้อย หรือปัสสาวะขัดร่วมด้วย
    1.4 เลือดออกตลอดเวลาที่ปัสสาวะอาการลักษณะนี้ส่วนใหญ่มาจากภาวะเลือดออกในไต หรือกรวยไต หรือเลือดออกมากในกระเพาะปัสสาวะ
  2. ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ ปัสสาวะที่มีสีแดงแบบสีน้ำล้างเนื้อ และถ่ายออกมาเป็นสีเดียวกันตั้งแต่เริ่มปัสสาวะจนจบ อาการเช่นนี้โดยมากเกิดจากภาวะไตอักเสบ
  3. ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลดำ ปกติแล้วปัสสาวะสีนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะเลือดออกในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่เกิดจากการสลายตัวของสารสีเม็ดเลือดแดง และสารสีของกล้ามเนื้อลาย ที่แปรสภาพและออกมาเป็นปัสสาวะ ควรตรวจเพื่อหาทางรักษาต่อไป

ผลจากการปัสสาวะเป็นเลือดบ่งบอกสาเหตุของโรคอะไรได้บ้าง?

  1. ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อเรื้อรังอาจส่งผลให้มีเลือด ปนเปื้อนออกมากับปัสสาวะได้
  2. นิ่วในไตหรือในกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุต่างๆในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดก้อนนิ่วขึ้น จนทำให้ปัสสาวะปนเปื้อนเลือด
  3. ความผิดปกติในไต หากท่อปัสสาวะส่วนบนหรือไตติดเชื้อก็เป็นสาเหตุให้ปัสสาวะปนเปื้อนเลือดได้เช่นกัน

การป้องกันปัสสาวะเป็นเลือดโดยปกติแล้ว ไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง แต่มีวิธีช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เป็นสาเหตุได้ ดังนี้

  • โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ควรดื่มน้ำมากๆ ปัสสาวะทันทีที่รู้สึกปวดหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ เช็ดทำความสะอาดบริเวณท่อปัสสาวะจากหน้าไปหลัง (สำหรับผู้หญิง) หรือหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะเพศ และท่อปัสสาวะที่อยู่ใกล้เคียงกัน
  • นิ่วในไต ควรดื่มน้ำให้มาก ลดการบริโภคเกลือ โปรตีน หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของออกซาเลต (Oxalate) เช่น ผักโขม เป็นต้น
  • มะเร็งไต ควรรักษาน้ำหนักตัว รับประทานอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย

อย่างไรก็ตามหากปัสสาวะเป็นเลือด หรือกังวลควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป สำหรับการปัสสาวะเป็นเลือดที่นำไปสู่ภาวะมีบุตรยากนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ส่วนใหญ่พบว่าอาจเป็นผลข้างเคียงจากโรคไต ส่งผลให้เข้าสู่ภาวะมีบุตรยากเพราะโดยทั่วไปหากไตเสื่อม รังไข่อาจจะไม่ทำงาน ทำให้ไม่มีประจำเดือน หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ยากแก่การตั้งครรภ์ และมีบุตรยากเป็นต้น


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
Medical Center: Women’s Health Center
Publish date desc: 11/04/2022

Author doctor

Dr. Pimpagar Chavanaves

img

Specialty

ART (Assisted Reproductive Techologies)

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us

Other package