• banner

ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเป็นต้อหิน

สำหรับผู้ป่วยโรคต้อหินไม่สามารถรักษาแล้วหายขาดได้  ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเองและต้องติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมอาการของโรคไม่ให้แย่ลงไปกว่าเดิม และต้องมาพบจักษุแพทย์ตามนัดหมาย ที่สำคัญเมื่อรู้ว่าเป็นโรคนี้แล้ว อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยโรคต้อหิน สิ่งที่ผู้ป่วยโรคต้อหินจะต้องคำนึงไว้เสมอ คือ
• โรคต้อหินเกือบทั้งหมดรักษาให้หายขาดไม่ได้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะรักษาหายขาด แต่สามารถควบคุมอาการของโรคไม่ให้แย่ลงได้
• โรคต้อหินทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น การรักษาจึงมุ่งหวังไม่ให้มีการสูญเสียการมองเห็นเพิ่มขึ้น หรือป้องกันไม่ให้ตาบอด
• ต้องมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อรับการตรวจ
  - วัดความดันลูกตา ในการรักษาเน้นที่การควบคุมความดันลูกตา
  - ตรวจขนาดของขั้วจอประสาท
  - ตรวจลานสายตาด้วยเครื่องวิเคราะห์ลานสายตาอัตโนมัติ
  - ตรวจวัดความหนาของชั้นเส้นใยประสาทตาด้วยเครื่องตรวจวัดความหนาของชั้นประสาทตา
จากข้อมูลดังกล่าว แพทย์จะนำมาวิเคราะห์เพื่อปรับเปลี่ยนการรักษาเป็นกรณีๆ ไป
• เป้าหมายของการลดความดันลูกตา ไม่มีค่าตัวเลขที่แน่นอน ต้องพิจารณาแยกผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การลดความดันลูกตาให้ต่ำที่สุดที่จะไม่มีผลเสียต่อใยประสาทตาและการมองเห็น (ลานสายตา) ดังนั้น การที่ผู้ป่วยได้รับยาหยอดตาและความดันลูกตาลดลงสู่เกณฑ์ปกติ ไม่ได้หมายความว่าควบคุมโรคได้ แล้วจะต้องได้รับการตรวจเป็นระยะ เพื่อปรับลดความดันลูกตาให้ต่ำจนไม่มีผลเสียต่อประสาทตา จึงจะถือว่าควบคุมโรคได้
• ผู้ป่วยจะต้องลดปัจจัยเสี่ยงที่พอจะหลีกเลี่ยงได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โดยรักษาให้อยู่ในภาวะปกติและหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมต่างๆ ที่จะทำให้ควบคุมโรคเหล่านี้ยากขึ้นด้วย
• ยาบางกลุ่มเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องไประยะหนึ่ง เนื้อเยื่อจะเริ่มไม่ตอบสนองต่อฤทธิ์ของยา และเมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น ภาวะเสื่อมของเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น ขนาดยาที่เคยใช้ควบคุมโรคได้ก็อาจใช้ไม่ได้ผล

ดังนั้น ผู้ป่วยต้อหินจึงควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตาเป็นระยะตามนัดหมาย

สิ่งที่ผู้ป่วยต้อหินต้องทราบและปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อการรักษาที่ได้ผล
• รู้จักชื่อยา รู้วิธีการใช้ยา
    - หยอดอย่างไร  
    - บ่อยแค่ไหน
    - สัมพันธ์กับมื้ออาหารหรือไม่
    - ใช้ร่วมกับยาประจำได้หรือไม่
    - ต้องแช่ตู้เย็นหรือไม่
    - ต้องเก็บในที่มืด หรือไม่โดนแสงหรือไม่
• รู้อาการไม่พึงประสงค์ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
• รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อมีผลข้างเคียงของยาเกิดขึ้น
• รู้ว่าถ้าลืมหยอดยาจะทำอย่างไร

"ผู้ป่วยสามารถปรึกษาหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับคำถามข้างต้นได้จากจักษุแพทย์ผู้ให้การรักษา"

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
Medical Center: Eye Center
Publish date desc: 28/01/2025

Author doctor

Dr. Chayanee Engkagul

img

Specialty

Glaucoma

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us

Other package