• banner

อึดแค่ไหนก็ไร้ประโยชน์ ถ้าฝ่ายชายอสุจิไม่แข็งแรง

เกิดเป็นผู้ชาย ใครว่าต้อง “อึด” แล้วจะดี  เพราะต่อให้อึดแค่ไหน ก็มีลูกยากได้  
มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าหญิงหรือชายควรรู้ คือ กว่า 40 % ของคู่รักที่มีบุตรยาก มีสาเหตุมาจากฝ่ายชาย ซึ่งภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ชายนั้นขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพศชายจากอัณฑะที่ถูกควบคุมด้วยสมองส่วนไฮโปธาลามัส (hypothalamus) และต่อมใต้สมอง ดังนั้นสาเหตุที่ทำให้คุณผู้ชายเกิดภาวะมีบุตรยาก นั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น  การอักเสบติดเชื้อที่ลูกอัณฑะ หลอดเลือดดำในถุงอัณฑะโป่งพอง ท่อนำอสุจิตัน หรืออาจเกิดจากความผิดปกติที่สมองส่วนไฮโปธาลามัสและต่อมใต้สมอง ที่สำคัญการจะเป็นพ่อคนได้นั้น อสุจิต้องมีคุณภาพดีด้วย  

"สาเหตุที่ทำให้สเปิร์มของฝ่ายชายอ่อนแอ"
มาดูปัจจัยหรือพฤติกรรม อะไรบ้างที่ทำให้คุณผู้ชายเสี่ยงสเปิร์มอ่อนแอ
  • การสร้างตัวของอสุจิที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากการอักเสบของลูกอัณฑะ
  • ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ตั้งแต่กำเนิด เช่น ลูกอัณฑะไม่ลงในถุงอัณฑะ
  • ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไร้ท่ออื่นๆ
  • ยา การฉายแสง หรือเคมีบำบัดบางชนิด
  • ความผิดปกติของภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายสร้างสารที่เป็นอันตรายต่ออสุจิ
  • สารเคมีบางชนิดที่อาจเข้าสู่ร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ตะกั่ว ทองแดง ยาฆ่าแมลง
  • สุรา บุหรี่และยาเสพติด ทำให้การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและการสร้างตัวอสุจิน้อยลง
  • ความเครียด มีผลต่อฮอร์โมนที่ใช้ผลิตอสุจิในผู้ชาย และทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว
  • ความร้อน เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นบริเวณถุงอัณฑะ อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตอสุจิ
  • การออกกำลังกายที่มากเกินไป ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำมีผลทำให้การผลิตอสุจิลดลง
  • น้ำหนักตัวมาก คนอ้วนที่มีน้ำหนักตัวมาก มีรอบเอวใหญ่ จะมีปริมาณน้ำเชื้อและจำนวนตัวอสุจิน้อย

คุณผู้ชายทั้งหลายที่วางแผนสร้างครอบครัว ทางที่ดีควรเริ่มเตรียมความพร้อม ด้วยการหมั่นไปตรวจสุขภาพ และเข้ารับการตรวจวิเคราะห์สเปิร์ม (Semen Analysis) เพื่อดูว่าอสุจิของคุณมีความแข็งแรงหรือไม่ เพื่อให้คุณสามาารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม

"การตรวจสเปิร์มในผู้ชาย Semen Analysis"
การตรวจวิเคราะห์สเปิร์ม (Semen Analysis) คือ วิธีการทดสอบหาปริมาณ จำนวน การเคลื่อนไหว และความผิดปกติของเชื้ออสุจิ เพื่อหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากจในผู้ชายด้วยการเก็บน้ำอสุจิใส่ลงในภาชนะพลาสติกปราศจากเชื้อที่ห้องปฏิบัติการได้จัดเตรียมไว้ให้ ดังนี้

ขั้นตอนการเก็บน้ำอสุจิ
  • งดมีเพศสัมพันธ์ และหลั่งอสุจิ เป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 วัน
  • ล้างมือและอวัยวะเพศให้สะอาด แล้วเช็ดให้แห้งก่อนการเก็บน้ำอสุจิ
  • เก็บน้ำอสุจิด้วยวิธีช่วยตัวเอง (Masturbation)
  • ระหว่างการเก็บน้ำอสุจิ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสภายในภาชนะเก็บน้ำเชื้อ
  • ห้ามเก็บโดยใช้ถุงยางอนามัย เพราะสารหล่อลื่นในถุงยางอนามัย สามารถทำให้อสุจิตายได้
  • เก็บเชื้อใส่ภาชนะที่สะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
  • ห้ามนำน้ำเชื้ออสุจิใส่ตู้เย็น หรือแช่น้ำแข็ง

วิธีการตรวจอสุจิ
การตรวจอสุจิสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีดังนี้

1. การตรวจด้วยตาเปล่า(Macroscopic Examination)
  • ปริมาตร (Volume) น้ำอสุจิปกติจะมีมากกว่าหรือเท่ากับ1.5 มิลลิลิตร
  • ความเป็นกรด-ด่าง (pH) น้ำอสุจิมีความเป็นด่างอ่อนๆ โดยมีค่าปกติมากกว่าหรือเท่ากับ 7.2
  • ความหนืด (Viscosity) น้ำอสุจิที่ปกติ เมื่อหยดด้วยไปเปตต์จะยืดยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร
  • การละลายตัว (Liquefaction) การละลายตัวของน้ำอสุจิจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง
  1. การตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination)
  • การทดสอบอสุจิที่ยังมีชีวิต (Viability) ค่าปกติของอสุจิที่มีชีวิตต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 58%
  • ความเข้มข้น (Sperm concentration) มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 15 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตร
  • การเคลื่อนที่ของอสุจิ (Motility) ปกติควรจะมีอสุจิที่ยังเคลื่อนที่ได้อย่างน้อย 40%
  • รูปร่างอสุจิ (Morphology) รูปร่างของอสุจิที่ปกติควรจะมีมากกว่า 4%
  • เม็ดเลือดขาว(WBC) จำนวนเม็ดเลือดขาวได้ในน้ำอสุจิไม่ควรเกิน 1 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตร ถ้ามีเม็ดเลือดขาวมากเกินกว่านี้ อาจมีการติดเชื้อ
  • เม็ดเลือดแดง (RBC) ค่าปกติเม็ดเลือดแดงน้อยกว่า 1 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตร หากพบมากกว่านี้ อาจแสดงถึงการติดเชื้อ หรือบาดเจ็บหลังจากการหลั่งน้ำอสุจิ

ทั้งนี้ความถูกต้องและแม่นยำของการตรวจนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวที่ดีของฝ่ายชาย โดยหลังจากการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิข้างต้น แพทย์จะทำการประเมินภาวะมีบุตรยาก และแนะนำแนวทางในการรักษาขั้นต่อไป เพื่อให้คุณผู้ชายสามารถเป็นพ่อคนได้อย่างใจหวัง

"การรักษา และป้องกันภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย"
ภาวะมีบุตรยากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าเพศชายหรือเพศหญิง  การดูแลตัวเองให้ดีไว้ตั้งแต่เนิ่นๆจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสมีลูกในอนาคตให้กับคู่ของคุณได้ ซึ่งข้อมูลหลักๆ ที่ฝ่ายชายควรป้องกันตัวเองมี ดังนี้
  • ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในมาตรฐานที่เหมาะสม ผู้ชายที่มีค่า BMI มากกว่า 30 สามารถเพิ่มโอกาสของภาวะมีบุตรยากได้
  • เลือกรับประทานผักผลไม้ ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) เพื่อเสริมความแข็งแรงให้อสุจิ ซึ่งพบได้ในผักผลไม้สีเขียวเหลือง ถั่ว ปลา นม  ไข่แดง ตับ ข้าวซ้อมมือ และขนมปังโฮลวีต
  • ป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนหลายคน หรือป้องกันได้โดยการสวมใส่ถุงยางอนามัย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ใส่ใจเรื่องสุขภาพจิต หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะสิ่งนี้คือ ตัวการสำคัญที่ไปรบกวนระบบสืบพันธุ์ และการผลิตอสุจิในเพศชาย
  • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้ยาเสพติด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาและการรักษาบางประเภทที่ส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาในกลุ่มปิดกั้นแคลเซียม / ยารักษาอาการซึมเศร้า / ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย หากจำเป็นต้อนใช้ ก็ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

หากทำตามข้อแนะนำข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล ก็ยังมีอีกหลายวิธีทางการแพทย์ ที่เป็นทางออกให้คุณผู้ชายที่กำลังต้องเผชิญกับภาวะมีบุตรยาก  อย่างไรก็ตาม "ครอบครัว" นั้นจะเกิดขึ้นมาได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทั้งผู้ชายและผู้หญิง   เพราะร่างกายของแต่ละเพศ มีปัญหาและเรื่องที่ต้องดูแลต่างกัน ทางที่ดีควรหมั่นสังเกตตัวเอง พบแพทย์ ตรวจสุขภาพเป็นประจำตั้งแต่วันนี้  เพื่อพบทางออกของภาวะมีบุตรยาก มีเบบี๋ตัวน้อยออกมาได้อย่างที่ฝัน


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
Medical Center: Women’s Health Center
Publish date desc: 03/05/2018

Author doctor

Dr. Pimpagar Chavanaves

img

Specialty

ART (Assisted Reproductive Techologies)

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us

Other package