• banner

ลดความเสี่ยง เพื่อป้องกันโรคหัวใจ

คงไม่มีใครอยากเป็นโรคหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ หลอดเลือดสมองตีบ ทั้งสองโรคมาจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงเช่นเดียวกัน คือมีการแข็งตัว เสียความยืดหยุ่น มีตะกรันไขมันสะสม ทำให้เลือดไหลผ่านไม่สะดวก กลุ่มโรคเหล่านี้มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ขาดการออกกำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ปัจจัยบางข้อก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ เช่น ยีน(พันธุกรรม) เพศ อายุ เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากเราลดปัจจัยเสี่ยงทุกข้อลงได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจลง บทความนี้จะกล่าวถึง การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเน้นเฉพาะ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และ อาหารป้องกันโรคหัวใจ

ความดันโลหิตสูงต้องคุมให้ดี
ความดันโลหิตสูง ส่วนมากแล้วไม่มีอาการ จะทราบต่อเมื่อวัดความดันโลหิตเท่านั้น จึงถูกเรียกว่า ฆาตกร เงียบเพราะกว่าจะรู้ตัวก็เกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นแล้ว จากการสำรวจสถานะสุขภาพของคนไทยล่าสุด คนไทยรู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูงมากขึ้น แต่ก็ยังควบคุมความดันโลหิตให้ปกติได้ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ เกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง แตกต่างกันไประหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ ยุโรป ส่วนประเทศไทยใช้เกณฑ์เดียวกับยุโรปคือ ความดันโลหิตที่มากกว่า 140/90 มม.ปรอท ถือว่ามีความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามแม้เกณฑ์วินิจฉัยจะแตกต่างกัน แต่แนวทางในการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงก็คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ต้องประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อน ถ้าเสี่ยงมากต้องรักษาให้ความดันโลหิตปกติมากที่สุด คือ 130/80 มม.ปรอท ปัจจุบันจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาที่มีตัวยาสองชนิดขึ้นไป รวมอยู่ในเม็ดเดียวกัน เพื่อความสะดวกของผู้ป่วย การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 130/80 มม.ปรอท มีความสำคัญมากในการลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดสมองแตก ลดภาวะหัวใจล้มเหลวลงได้มากกว่าร้อยละ 50 และลดการเกิดหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องท้อง เป็นต้น

ลดน้ำตาลในเลือด เลือกยาให้ถูกต้อง
ในผู้ป่วยเบาหวาน แต่เดิมพบว่าการลดระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม คุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเข้มงวด เช่น น้ำตาลสะสมอยู่ระหว่าง ร้อยละ 6-7 นั้นสามารถช่วยลดปัญหาเบาหวานขึ้นตา แต่ ไม่มีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างชัดเจน จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้ ยาลดน้ำตาลในเลือดกลุ่มใหม่ๆ ที่ชื่อ กลุ่ม SGLT2i มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ยากลุ่มนี้นอกจากลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีแล้ว ยังมีฤทธิ์ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวอีกด้วย นอกจากนั้นยาลดน้ำตาลชนิดฉีด ซึ่งไม่ใช่อินซูลินแบบเดิม คือยากลุ่ม GLP-1RA ก็ช่วยลดน้ำหนัก ลดน้ำตาล และช่วยลดโรคหลอดเลือดหัวใจลงได้ การเลือกใช้ยาลดน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน จึงก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ลดน้ำตาลด้วยยาอะไรก็ได้ แต่เป็นการเลือกยาตามความเสี่ยงของผู้ป่วยเบาหวาน

ไขมัน LDL ยิ่งต่ำยิ่งดี
คำถามยอดฮิต คือ ไขมันคอเลสเตอรอลเท่าไรจึงเรียกว่าสูง สูงเท่าไรจึงอันตราย สูงเท่าไรจึงควรรับประทานยา ที่จริงแล้วเรื่องไขมันคอเลสเตอรอลนี้ หมายถึงระดับคอเลสเตอรอลในเลือด อย่าสับสนกับ คอเลสเตอรอลในอาหาร และคอเลสเตอรอลในเลือด ชนิดที่มีการศึกษามากที่สุดคือ แอล ดี แอล คอเลสเตอรอล ขอเรียกว่า LDL จากการศึกษาพบว่าความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ เพิ่มขึ้นตามระดับ LDL ในเลือด ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีค่าปกติของ LDL เพราะค่าที่สูงกว่า จะมีความเสี่ยงมากกว่าค่าต่ำเสมอ ยิ่งสูงมาก ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก ในเด็กแรกเกิดมีระดับ LDL เพียง 30-50 มก.ต่อ ดล. เท่านั้น ในปัจจุบัน จึงมีแนวคิดใหม่ ในการให้ยาลดระดับ LDL นั่นคือให้ยาตามความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในแต่ละราย แทนที่จะให้ยาตามระดับ LDL อย่างเดียว อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากระดับ LDL ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น เพศชาย อายุมากขึ้น การสูบบุหรี่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำไว้ว่า หากยังไม่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ควรให้ระดับ LDL ต่ำกว่า 130 มก.ต่อดล. และควรรับประทานยากลุ่ม statins เพื่อควบคุมระดับ LDL ในกรณีต่อไปนี้
  • ผู้ที่มี LDL มากกว่า 190 มก.ต่อดล.
  • ผู้ที่มีความเสี่ยง โดยใช้ Thai CV risk score มากกว่าร้อยละ 10
  • ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยข้ออักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV
  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ด้วยยากลุ่ม statins สามารถให้ได้แม้ในผู้ที่ระดับไขมัน LDL ไม่ได้สูง แต่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ สูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น เพราะจุดประสงค์ของการให้ยา เพื่อป้องกันการเกิด “heart attack” ในอนาคตนั่นเอง ยิ่งเริ่มยาได้เร็ว ความเสี่ยงในการเกิด heart attack จะลดลงมาก (life time risk ลดลง) อย่างไรก็ตาม แม้ยากลุ่ม statins จะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็มีผลแทรกซ้อนอยู่บ้าง เช่น ตับอักเสบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และ การเกิดเบาหวาน แต่จากการศึกษาพบว่า เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ประโยชน์จากการรับประทานยามีมากกว่าโทษจากยาหลายเท่า

อาหารป้องกันโรคหัวใจ
คำถามยอดฮิตอีกเช่นกันว่า อาหารอะไรบำรุงหัวใจ คำตอบคือ ไม่มีอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งที่บำรุงหัวใจโดยตรง การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด ก็เท่ากับช่วยบำรุงหัวใจแล้ว เนื่องจากอาหารเค็ม ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง อาหารหวาน ทำให้อ้วน ทำให้เกิดเบาหวานตามมา อาหารไขมันสูง ก็ทำให้อ้วนและมีผลทำให้ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในในเลือดผิดปกติ ล้วนชักนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ การศึกษาในต่างประเทศพบว่า การรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจลง ซึ่งก็คือ อาหารที่เน้นผัก ผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง เน้นการบริโภคปลา สัตว์ปีก แทนเนื้อแดง เลือกใช้น้ำมันพืชชนิดที่เป็น monounsaturated fat หลีกเลี่ยง trans-fat สำหรับบ้านเราสามารถดัดแปลงเป็นการรับประทานข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล หากเป็นสลัดก็ใช้น้ำมันมะกอก อาหารผัดทอด ใช้น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง เลี่ยงน้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม หลีกเลี่ยงอาหารติดมัน เช่น หนังเป็ด หนังไก่ หมูสามชั้น เป็นต้น ปัจจุบันเชื่อว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่ อาหารทะเลบางชนิด ไม่ได้ทำให้ระดับ LDL ในเลือดสูงมากนัก แต่ การรับประทาน trans-fat และ อาหารติดมัน (saturated fat) มีผลทำให้ระดับ LDL ในเลือดสูงขึ้น จะเห็นว่าการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำได้ไม่ยากนัก ควบคุมความดันโลหิต คุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดระดับ LDL แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การไม่สูบบุหรี่ และ การออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ยิ่งผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ยิ่งต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
Medical Center: Cardio-vascular Center
Publish date desc: 08/04/2022

Author doctor

Dr. Rapeephon Kunjara Na Ayudhya

img

Specialty

Cardiologist

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us

Other package