• banner

ตรวจภายในตั้งแต่วัยสาว ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ใครว่า "ตรวจภายใน" เป็นเรื่องน่าอาย สาวๆคนไหนที่คิดแบบนี้อยู่ เปลี่ยนความคิดด่วน! จริงๆแล้วการตรวจภายในเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผู้หญิงอย่างเราไม่ควรละเลย  เพราะอาการผิดปกติเล็กๆน้อยๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายในอนาคตได้ เพื่อความสบายใจ เราจึงควรเริ่มตรวจภายในตั้งแต่วัยสาว การตรวจภายใน (Per Vaginal Examination) คือ การตรวจดูอวัยวะภายในบริเวณอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง ตั้งแต่ ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำรังไข่ รังไข่ เพื่อตรวจหาความผิดปกติหรือโรคต่างๆในผู้หญิง เช่น สาเหตุของอาการปวดประจำเดือน การตกขาวที่ผิดปกติ แผลที่อวัยวะเพศ ตรวจหาภาวะมีบุตรยาก ช็อคโกแลตซีสต์ รวมไปถึงมะเร็งปากมดลูก ผู้หญิงเราเริ่มตรวจภายในได้ตั้งแต่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป หรือเมื่อมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว และสำหรับสาวโสดที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ก็ควรเข้ารับการตรวจภายในทุกปี เพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูก จริงๆแล้วสาวโสดมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกได้น้อย เพราะมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากการติดไวรัสเอชพีวี โดยร้อยละ 99.7 ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีโอกาสการติดไวรัสเอชพีวีได้จากทางอื่น เช่น การสัมผัส เพราะฉะนั้นกันไว้ดีกว่าแก้คิดซะว่าการตรวจภายในเป็นเรื่องธรรมชาติ หากพบความผิดปกติจะได้รักษาทันเวลา

"เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนไปตรวจภายใน "
ก่อนเข้ารับการตรวจภายใน ผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์  และการใช้ยาเหน็บที่บริเวณอวัยวะเพศเป็นเวลาอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง โดยผู้ที่มีประจำเดือนไม่สามารถเข้ารับการตรวจภายในได้  ก่อนตรวจ แพทย์จะมีการสอบถามซักประวัติคนไข้ เช่น เรื่องปัญหาสุขภาพทั่วไป อาการแพ้ยาต่างๆ ระยะเวลาในการมีประจำเดือน มามากน้อยแค่ไหน?  มีอาการตกขาวผิดปกติและมีอาการคันที่อวัยวะเพศหรือไม่ มีอาการปวดประจำเดือนไหม? เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่? ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เพื่อประเมินอาการร่วมกับผลตรวจ  โดยคุณสามารถทราบผลตรวจได้ภายในวันเดียว หรือในกรณีของผู้ที่เข้ารับตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธีแปปสเมียร์ อาจใช้เวลา 1 สัปดาห์

การตรวจภายในใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 10-15 นาที โดยมีขั้นตอนดังนี้
  • การตรวจดูอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกด้วยตาเปล่า (External Visual Exam) ในขั้นแรก ผู้เข้ารับการตรวจต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า สวมชุดคลุม แล้วนอนลงบนเตียงตรวจขาหยั่ง แยกหัวเข่าออกทั้งสองข้าง เพื่อให้แพทย์เริ่มตรวจดูสภาพอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกด้วยตาเปล่าก่อน ว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจดูภายในช่องคลอดด้วยเครื่องมือสำหรับตรวจช่องคลอด (Internal Visual Exam) แพทย์ใช้เครื่องมือสำหรับตรวจช่องคลอด (Speculum) มีลักษณะคล้ายปากเป็ดอันเล็กๆ สอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อขยายให้เห็นปากมดลูก ในบางรายที่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear หรือ Pap Test)  หรือที่เรียกกันว่า การตรวจแปปสเมียร์ แพทย์จะใช้อุปกรณ์เข้าไปป้ายเก็บตัวอย่างเซลล์ที่บริเวณปากมดลูกออกมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูก
  • การตรวจด้วยการใช้มือคลำที่หน้าท้องพร้อมกับการใช้นิ้วสอด (Bimanual Examination) แพทย์จะสวมถุงมือที่มีการเคลือบสารหล่อลื่น แล้วจึงใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อตรวจดูขนาดและตำแหน่งของมดลูก ตรวจหาความผิดปกติภายใน ตรวจหาก้อนเนื้อต่างๆ แพทย์อาจมีการตรวจทางทวารหนักด้วย เพื่อหาก้อนเนื้องอกหรือความผิดปกติภายในที่อาจเกิดขึ้น

"อาการแบบไหนในผู้หญิง ที่ควรเริ่มตรวจภายใน"
  • สตรีที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้วควรตรวจภายในทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • เมื่อช่องคลอดมีเลือดออกผิดปกติ หรือมีประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • อาการปวดท้องน้อย
  • อาการตกขาวผิดปกติ มีสีที่เปลี่ยนไป หรือมีกลิ่นเหม็น
  • คลำเจอก้อน หรือพบความผิดปกติที่บริเวณท้องน้อย
นอกจากอาการข้างต้นแล้ว การตรวจภายในยังทำให้พบความผิดปกติ หรือโรคที่อวัยวะต่างๆในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงเรา

โรคที่พบได้จากการตรวจภายใน
  • รังไข่  มีโอกาสพบมะเร็งในรังไข่  ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในวัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยกลางคน จนถึงวัยสูงอายุ
  • มดลูก โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อมดลูก ที่พัฒนาเป็นเนื้องอกในมดลูก มีทั้งเนื้องอกธรรมดา และเนื้องอกที่พัฒนาไปเป็นมะเร็ง โดย 60% ของผู้หญิง มีโอกาสพบเนื้องอกในมดลูก
  • ก็อาจเป็นสาเหตุของปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติในผู้หญิง หรืออาจพัฒนาเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือที่รู้จักกันในชื่่อ “ช็อกโกแล็ตซีสต์” คืออาการผิดปกติที่เซลล์เจริญเติบโตผิดที่ จนมีขนาดใหญ่ขึ้น เลือดประจำเดือนไหลไปตกค้างอยู่ข้างใน มีสีน้ำตาล กลายเป็นซีสต์ในที่สุด และเมื่อก้อนซีสต์อักเสบจะมีอาการปวดท้อง ในคนที่ปวดท้องประจำเดือนมากๆ มีความเสี่ยงสูงที่เป็นช็อคโกแลตซีสต์ นอกจากนี้ ช็อคโกแล็ตซีสต์ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของ ภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากก้อนซีสต์เข้าไปเบียดรังไข่ และท่อนำไข่ ทำให้การผลิตไข่ไม่ได้คุณภาพ ไข่และอสุจิที่ผสมกันแล้วอาจฝังตัวได้ไม่สะดวก  ซึ่งหากคุณเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้เข้ารับการตรวจภายใน ก็อาจไม่มีทางรู้ได้เลยว่า กำลังมีช็อกโกแล็ตซีสต์อยู่ในร่างกาย จะทราบอีกทีก็ต่อเมื่อก้อนซีสต์เกิดอาการอักเสบ และปวดท้องอย่างรุนแรง จนอาจต้องผ่าตัดด่วน จากการตรวจภายใน หากพบความผิดปกติเล็กน้อยๆ ข้างต้น สาวๆ ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยด่วน อย่านิ่งนอนใจ เพราะความผิดปกติเหล่านี้อาจลามไปถึงภัยร้ายที่อันตรายถึงชีวิตอย่างมะเร็งปากมดลูกได้

"มะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายที่สาวๆ ต้องระวัง"
“มะเร็งปากมดลูก” ภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวผู้หญิงเรามากกว่าที่คิด เพราะในแต่ละวัน ผู้หญิงไทยตรวจพบมะเร็งปากมดลูก เฉลี่ยวันละ 18 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 2,200 คนต่อปี โดยผู้หญิงไทยมีอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับ   มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณปากมดลูกในผู้หญิง เกิดเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูกที่อยู่ส่วนภายในสุดของช่องคลอด ทำให้อาการตกขาวมากผิดปกติ มีลักษณะคล้ายหนอง และมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ทั้งทีไม่มีรอบเดือน ปวดช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธุ์ และมีเลือดออก  โดยทั่วไปมะเร็งปากมดลูกมักไม่แสดงอาการในช่วงแรก จะเริ่มแสดงอาการก็ต่อเมื่อเซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปแล้ว

มะเร็งปากมดลูก แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 0 ระยะที่เซลล์ของปากมดลูกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง สามารถตรวจพบได้จากการตรวจแป๊บสเมียร์  (Pap Smear หรือ Pap Test)  แต่จะยังไม่พบความผิดปกติภายในร่างกาย
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1  ระยะที่พบเซลล์มะเร็งที่บริเวณปากมดลูก
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 ระยะที่มะเร็งลุกลามออกจากปากมดลูกไปที่ช่องคลอดส่วนบนหรือบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 ระยะที่มะเร็งลุกลามไปถึงผนังอุ้งเชิงกราน ก้อนมะเร็งกดทับท่อไต ส่งผลให้ไตทำงานเสื่อมลง จนไม่สามารใช้งานได้
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4 ระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ตับ ปอด กระดูก และสมอง ในช่วงนี้อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด ปัสสาวะมีเลือดปน ปวดกระดูกโดย

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก 99% มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์มาแล้วทุกช่วงอายุ ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่เสมอ การตรวจแป๊บเสมียร์ (Pap smear) เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเซลล์บริเวณปากมดลูก ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยแพทย์จะวินิจฉัยร่วมกับผลการตรวจอื่นๆ เช่น อัลตราซาวน์ เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) เอกซ์เรย์ปอด (chest x-ray) ผลตรวจเลือด CBC เพื่อประเมินว่ามะเร็งอยู่ในระยะใด และแพทย์จะช่วยในวางแผนการรักษามะเร็งต่อไป นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆอย่าง ภูมิคุ้มกันต่ำ การสูบบุหรี่ และการมีลูกหลายคนที่ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกได้

ารรักษามะเร็งปากมดลูก ก่อนเข้ารับการรักษา แพทย์จะอธิบายทั้งข้อดีและข้อเสีย ผลกระทบและภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษามะเร็งรวมถึงเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จในการรักษาให้กับผู้ป่วย โดยตัดสินใจเลือกวิธีรักษาตามระยะของอาการป่วย ดังนี้
  1. การรักษามะเร็งปากมดลูกในระยะก่อนมะเร็ง
  • การผ่าตัดบางส่วนของปากมดลูก (Large Loop Excision of the Transformation Zone / LLETZ)
  • การผ่าตัดแบบ (Cone Biopsy)
  • Laser Therapy
  1. การรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเซลล์มะเร็งแล้ว
  • รังสีรักษา (Radiotherapy)
  • เคมีบำบัด(Chemotherapy)
  • การผ่าตัด (ผ่าตัดมดลุกและปากมดลูกแบบกว้าง เลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน) ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรกจะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดร่วมกับการทำเคมีบำบัด ในผู้ป่วยที่มีการลุกลามของมะเร็งมากขึ้น ต้องรักษาด้วยวิธีการฉายแสงรังสีร่วมกับการทำยาเคมีบำบัด

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งปากมดลูก เมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ จะส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกายต่างๆ เช่น ภาวะมีเลือดออกจากช่องคลอด ปัสสาวะมีเลือดปน ที่ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น เกิดการติดเชื้อในช่องคลอด มะเร็งอาจแพร่กระจายในเลือด หรือเจริญเติบโตกีดขวางบริเวณท่อไต จนไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และอาจเกิดไตวายในที่สุด

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก
  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV
  • หมั่นตรวจสุขภาพและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่เสมอ
  • ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อ
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
  • ไม่สูบบุหรี่

เห็นไหมว่าการตรวจภายในไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่การไม่ตรวจต่างหากละที่น่ากลัว เพราะความผิดปกติและโรคบางอย่างไม่แสดงอาการออกมาทันที ผู้หญิงเราจึงไม่สามารถรับรู้ได้ ภัยเงียบเหล่านี้ยิ่งปล่อยไว้ก็ยิ่งอันตราย สาวๆทั้งหลายควรหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพภายในให้มาก เริ่มตรวจภายในก่อนจะสายเกินไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
Medical Center: Women’s Health Center
Publish date desc: 11/04/2022

Author doctor

Dr. Pimpagar Chavanaves

img

Specialty

ART (Assisted Reproductive Techologies)

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us

Other package