• banner

กระดูกพรุน ภัยร้ายของผู้สูงอายุ

โรคกระดูกพรุนเป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เป็นโรคกระดูกชนิดหนึ่งที่มีการสลายของเนื้อกระดูกอย่างต่อเนื่อง ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักและเปราะได้ง่าย ซึ่งเป็นความเสื่อมสภาพของร่างกายที่เป็นไปตามวัยเมื่ออายุมากขึ้น เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าโรคกระดูกพรุน เป็นภัยร้ายกับผู้สูงอายุได้อย่างไรบ้าง

เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โรคกระดูกพรุนเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อย มักเกิดกับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป โดยเกิดจากร่างกายมีความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดน้อยลง จนทำให้กระดูกเปราะบาง เสื่อม และแตกหักง่าย ซึ่งบริเวณการหักของกระดูกที่พบได้บ่อย คือ สะโพก ข้อมือ และสันหลัง หากเกิดอุบัติเหตุแล้วก้นเกิดกระแทกพื้นก็จะทำให้กระดูกสะโพกหัก อาจไม่สามารถทำงานหรือเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เป็นภาวะที่มีอันตรายสูง ภาวะกระดูกหักหากเกิดในผู้สูงอายุจะรักษาได้ยาก เพราะกระดูกหักในผู้สูงอายุจะติดช้า เกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมาก และบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการของโรคกระดูกพรุน
จะไม่สามารถสังเกตเห็นอาการในช่วงแรก แต่จะทราบว่าป่วยก็เมื่อมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ เช่น มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังค่อม ส่วนสูงลดลง หรือแขน กระดูกข้อมือ สะโพก และกระดูกสันหลังแตกหักง่าย

ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน
  • เพศ เกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ลดลง ทำให้เนื้อกระดูกลดลงตามไปด้วย
  • อายุที่มากขึ้น ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ทั้งหญิงและชาย เซลล์สร้างกระดูกมีจำนวนลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้กระดูกบางและพรุน
  • กรรมพันธุ์ หากญาติใกล้ชิดทางสายเลือดมีประวัติป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับโรคดังกล่าวด้วย
  • สูบบุหรี่ สารพิษในควันบุหรี่ลดการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก
  • การใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชักบางชนิด หากจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • การบริโภคอาหาร กินอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือกินอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล อย่างอาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีความเป็นกรดสูง ดื่มน้ำอัดลม กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ขาดการออกกำลังกาย ขยับร่างกายน้อยหรือไม่ขยับร่างกาย เซลล์สลายกระดูกก็เพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น

การป้องกันโรคกระดูกพรุน
  • รับแสงแดด จะช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างกระดูกได้
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่พอเหมาะทุกวัน โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูงควรรับประทานให้เพียงพอในแต่ละวัน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา
  • ไม่สูบบุหรี่
  • รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้ต่ำกว่าเกณฑ์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เต้นแอโรบิก การเดินเร็ว การเดินสลับวิ่ง หมั่นตรวจสุขภาพและความพร้อมของร่างกายอยู่เสมอ
  • ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน เช่น ผู้สูงอายุ หญิงวัยหมดประจำ ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจกรองโรคกระดูกพรุน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
Medical Center: Bone and Joint Center
Publish date desc: 16/06/2024

Author doctor

Dr. Nawee Anuchatibud

img

Specialty

Orthopaedic Surgeon

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English, Chinese

Contact us

Other package