• banner

การรับมือตอนตั้งครรภ์ เมื่อคุณแม่เป็นโรค NCDs (Non-communicable diseases)

“การรับมือตอนตั้งครรภ์ เมื่อคุณแม่เป็นโรค NCDs” ผมได้รับมอบหมายหัวข้อมาอย่างนี้ครับ นับว่าเป็นเรื่องที่พูดคุยยากนะครับ เพราะหัวข้อมันกว้างขวางมาก อีกอย่างมันค่อนข้างเป็นทางด้านอายุรกรรมซะมากกว่า

NCDs ย่อมาจาก Non-communicable diseases ซึ่งหมายถึงโรคที่ไม่ติดต่อ ซึ่งก็คือโรคต่าง ๆ ที่มิใช่โรคติดเชื้อ เช่น เบาหวาน โลหิตจาง มะเร็ง โรคอ้วน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น

โดยลำพังของตัวโรคพวกนี้ พบว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในสตรีได้ถึงร้อยละ 65 อันนี้เป็นข้อมูลจาก Maternal Health Task Force (MHTF) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นโรคเหล่านี้ แล้วตั้งครรภ์มันก็ต้องมีผลต่อการตั้งครรภ์ การคลอด และทารกในครรภ์ด้วยแน่นอน ไม่มากก็น้อยครับ

ด้วยกระบวนการตั้งครรภ์เอง เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในร่างกายตลอดช่วงระยะเวลา 40 สัปดาห์  อย่างเรื่องโรคเบาหวาน เมื่อสตรีตั้งครรภ์แล้วระบบฮอร์โมนก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มากมาย การเผาผลาญของระบบน้ำตาลจะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีโอกาสจะเกิดภาวะที่เรียกว่า abnormal glucosetolerance ได้มากขึ้น ซึ่งก็คือมีโอกาสสูงที่น้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นได้ โดยทั่วไปจะเริ่มตรวจคัดกรองภาวะน้ำตาลในเลือดสูงด้วยวิธีจำเพาะสำหรับคนตั้งครรภ์ เมื่อมีอายุครรภ์ประมาณ 6 เดือน แต่หากมีประวัติเป็นโรคเบาหวานมาอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ก็แน่นอนครับว่าความเสี่ยงต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้นได้มาก ความสำคัญอยู่ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด เพราะหากน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์จะส่งผลต่อภาวะครรภ์และทารกในครรภ์แน่นอน

น้ำตาลในเลือดที่สูงมากๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ จะผ่านรกไปถึงทารกในครรภ์ และมีผลให้เซลเนื้อเยื่อร่างกายของทารกส่วนที่เป็นเนื้อนุ่ม (soft tissue) มีเพิ่มขึ้น ด้วยกลไกต่างๆ เช่นตัวทารกเองก็ได้สารอาหารจำนวนมาก และน้ำตาลกลูโคสที่มากจากแม่มาลูก มีผลให้ตับอ่อนของทารกสร้างฮอร์โมนอินซูลินขึ้นมามาก เพื่อลดน้ำตาลกลูโคสในเลือด และเปลี่ยนกลูโคสนั้นให้กลายเป็นไขมันสะสมไว้ จึงทำให้ทารกในครรภ์มีขนาดใหญ่ น้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการคลอดยาก การบาดเจ็บแทรกซ้อนต่อมารดาและทารกก็จะมากครับ

สำหรับกรณีที่เป็นเบาหวานมานานก่อนหน้าตั้งครรภ์หลายๆ ปี จนมีผลทำให้หลอดเลือดส่วนปลาย ณ ตำแหน่งต่างๆ มีการเสื่อมตัว ก็อาจจะมีผลทำให้ทารกในครรภ์มีภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ได้ เพราะเลือด อาหาร ออกซิเจนต่างๆ จะส่งไปถึงทารกได้น้อย

น้ำตาลที่สูงมากๆ ในสตรีตั้งครรภ์ ยังส่งผลให้มีการลดลงของการสร้างสารตึงผิว (surfactant) ที่ปอดของทารกในครรภ์ ทำให้เซลล์ถุงลมที่ปอดของทารกยืดขยายตัวเพื่อรับอากาศได้ไม่ดี การแลกเปลี่ยนก๊าซก็ไม่ดีด้วย จึงส่งผลให้ทารกมีอาการหายใจลำบากหลังคลอดได้

นอกจากนี้ ทารกที่คลอดจากมารดา ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้มากหลังคลอดทันที เพราะตอนทารกอยู่ในครรภ์ตับอ่อนจะสร้างอินซูลินออกมามาก เพื่อจัดการกับน้ำตาลที่ผ่านจากแม่มาสู่ตัวทารกเอง พอทารกคลอดออกมาแล้วไม่มีน้ำตาลจากแม่เข้ามากระแสเลือด แต่อินซูลินที่ตับอ่อนของทารกเองสร้างออกมายังคงอยู่ จึงทำให้ตัวทารกเองประสบปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ

นี้ก็เป็นตัวอย่างของโรค NCDs ( Non-communicable diseases ) ในสตรีตั้งครรภ์น่ะครับ การเตรียมตัวก็คือต้องระวังอย่าให้ตัวเองเกิดเจ้าโรคนี้ก่อนตั้งครรภ์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
Medical Center: Women’s Health Center
Publish date desc: 08/04/2022

Author doctor

Dr. Viriya Lekprasert

img

Specialty

Obstetrician and Gynecologist

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us

Other package