• banner

ปวดศีรษะ “ไมเกรน”

ไมเกรน เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย สามารถพบได้ทั่วไปตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งอาการปวดไมเกรนมักจะรุนแรงและรบกวนการชีวิตประจำวัน ดังนั้นหากมีอาการปวดไมเกรนควรเข้ารับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สาเหตุของไมเกรน
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าไมเกรนเกิดจากอะไร แต่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง และสารเคมีในสมอง

ปัจจัยกระตุ้นไมเกรน
  • ความเครียด
  • นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอน หรือ นอนมากจนเกินไป
  • แสงแดดจ้า แสงไฟกะพริบ แสงไฟสว่าง
  • เสียงที่ดังจนเกินไป
  • กลิ่นที่รุนแรง เช่น น้ำหอม กลิ่นบุหรี่ กลิ่นสี
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างเฉียบพลัน
  • ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาฮอร์โมนเพศทดแทน
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง estrogen เช่น ช่วงมีประจำเดือน หลังคลอดบุตร หรือช่วงก่อนหมดประจำเดือน
  • อาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต ผงชูรส ชีส อาหารแปรรูป แอลกอฮอล์

อาการของไมเกรนแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

1. อาการเตือน (Prodrome phase)
     - จะมีอาการทางอารมณ์เป็นหลัก เช่น อยากอาหารมากกว่า อารมณ์แปรปรวน อ่อนเพลียไม่มีแรง
      - มีอาการปวดตึงต้นคอ
      - มักจะมีอาการก่อนเริ่มปวดศีรษะประมาณ 24 ชั่วโมง

2. อาการนำ (Aura phase)
       - อาการที่พบมากที่สุด คือ อาการทางการมองเห็น ซึ่งพบได้ประมาณ 90% เช่น มองเห็นแสงกะพริบ มองเห็นภาพเบลอหรือบิดเบี้ยว
       - อาการอื่นๆที่ สามารถพบได้ เช่น อ่อนแรงแขนขา หรือ ชาแขนขาครึ่งซีก

3. อาการปวดศีรษะ (Headache phase)
       - ปวดศีรษะข้างเดียวของศีรษะ มักจะปวดตุ๊บๆบริเวณศีรษะ สามารถร้าวไปบริเวณกระบอกตาและท้ายทอยได้
       - อาการปวดศีรษะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก โดยอาการปวดจะค่อยๆปวดมากขึ้นจนถึงจุดปวดมากที่สุด โดยจะใช้เวลานานเป็นชั่วโมง
       - อาการปวดศีรษะจะรุนแรงมากขึ้นได้ เมื่อทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เดิน ขึ้นบันได ก้มศีรษะ
       - อาการปวดศีรษะนาน ประมาณ 4 ชั่วโมง ถึง 3 วัน หากไม่ได้รับการรักษา
       - ขณะปวดศีรษะ อาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง

4. อาการหลังปวดศีรษะ (Postdrome phase)
       - จะมีอาการอ่อนเพลีย หาวบ่อยๆ มึนงง สับสน
       - มักมีอาการหลังปวดศีรษะภายใน 24 ชั่วโมง

การรักษาไมเกรน
ปัจจุบันการรักษาไมเกรนจะใช้ยาเป็นหลัก

1. ยาบรรเทาปวดไมเกรน - ยาแก้ปวดทั่วไป เช่น Paracetamol และ ยากลุ่ม NSAIDs เช่น Naproxen - ยาแก้ปวดเฉพาะไมเกรน ได้แก่ ยากลุ่ม Triptan เช่น Sumatriptan, Eletriptan และยากลุ่ม Ergotamine เช่น Cafergot - ยาลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ได้แก่ Metoclopramide และDomperidone

2. ยาป้องกันไมเกรน - ยากลุ่มลดความดัน เช่น Propranolol - ยาต้านอาการซึมเศร้า เช่น Amitriptyline - ยากันชัก เช่น Divalproex sodium, Topiramate - ยาanti CGRP เช่น Erenumab

การป้องกันไมเกรน
  • สังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
  • จดบันทึก Migraine diary
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แนะนำให้เข้านอนและตื่นตรงเวลา
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารตรงเวลา ไม่แนะนำให้อดอาหาร

อาการปวดศีรษะนั้นมีมากมายหลายสาเหตุ หากมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังหรือปวดรุนแรงมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุสำหรับแนวทางการรักษา สำหรับโรคปวดศีรษะไมเกรนถึงแม้จะเป็นโรคที่เรื้อรัง แต่สามารถที่จะควบคุมให้โรคสงบลงได้ โดยการออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอนะคะ อีกทั้งควรหมั่นสังเกตตัวเอง และหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่กระตุ้นการปวดหัวไมเกรนด้วยค่ะ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777 
Medical Center: Neurology Center
Publish date desc: 29/06/2022

Author doctor

Dr. Thawinee Cheewamaitreewong

img

Specialty

Neuropathic physician

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us

Other package