รู้ทันข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาที่สำคัญซึ่งพบมากในวัยกลางคน และผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่า ปวดขา ข้อเข่าเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ รู้สึกเดินขึ้น-ลงบันไดยากมากขึ้น ลุกนั่งแล้วรู้สึกเจ็บปวด หากปล่อยทิ้งไว้จนข้อเข่าเสื่อมรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร
โรคที่เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า เมื่อไม่มีกระดูกอ่อนที่คลุมผิวข้อ เนื้อกระดูกก็จะมาชนกันขณะรับน้ำหนัก ทำให้เกิดอาการปวด กระดูกอ่อนผิวข้อเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุ 30 ปี แต่เมื่ออายุมากขึ้น เซลล์กระดูกอ่อนสร้างและซ่อมแซมผิวข้อที่สึกกร่อนไม่ทัน ทำให้ผิวข้อไม่เรียบ ความหนาของผิวกระดูกอ่อนลดลง ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม
อาการ
ปวดเวลาใช้งาน เดินลำบาก
ข้อเข่าฝืดตึงตอนเช้า พอขยับสักพักก็ดีขึ้น
มีเสียงกรอบแกรบในข้อเวลาเคลื่อนไหว
บวมเมื่อเกิดการอักเสบในข้อเข่า
ข้อเข่าโกงผิดรูป
ข้อเข่าใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีกระดูกงอก
เหยียด งอเข่าได้น้อยลง
ทำไมจึงปวดบวม ข้อเข่าโก่ง
เมื่อผิวกระดูกอ่อนสึกกร่อน กระดูกส่วนใต้ผิวกระดูกอ่อนจะกระแทกกันเวลาเดินจึงทำให้ปวด เศษกระดูกอ่อนที่หลุดออกมาจะกระตุ้น ทำให้เกิดการอักเสบในข้อเข่าจึงทำให้บวมและปวด ผิวกระดูกอ่อนที่บางลงทำให้แนวของข้อเข่าเปลี่ยนไปจึงทำให้เข่าโก่ง เมื่อข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น ข้อเข่าจะหลวม ร่างกายจึงพยายามสร้างกระดูกให้ใหญ่ขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงแก่ข้อเข่า แต่กระดูกงอกที่เกิดขึ้นจะไปขัดขวางการงอเหยียดของข้อเข่า
อยากมีข้อเข่าที่ดีควรปฏิบัติตัวอย่างไร
หลังจากเราเข้าใจการทำงานของข้อเข่าแล้ว เราก็มาเรียนรู้การดูแลรักษาข้อเข่าเพื่อให้เรามีข้อที่ดีใช้ไปนานๆ
ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต คนไทยมีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนพื้น เช่น นั่งยองๆซักผ้า ล้างจาน นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ การใช้ห้องน้ำแบบนั่งยองๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต้องการการงอเข่ามากกว่าปกติ ทำให้มีแรงกระทำต่อข้อเข่า ซึ่งถ้าทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นเวลานาน และทำเป็นประจำจะส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น เราควรปรับพฤติกรรมเหล่านี้ด้วยการนั่งบนเก้าอี้ ใช้ห้องน้ำชักโครกแบบมีโถรองนั่ง การใช้งานเข่าในกิจกรรมหนัก เช่น ปีนเขา วิ่งทางไกล กระโดด เล่นกีฬาหนัก จะต้องมีการซ้อมอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกาย และกล้ามเนื้อมีความพร้อมรองรับกิจกรรมหนัก ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ถ้าไปทำกิจกรรมหนักเหล่านี้อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้
ลดน้ำหนัก การปรับลดกิจกรรมหนักเป็นสิ่งที่ดีต่อข้อเข่า แต่เราอาจลืมไปว่าน้ำหนักตัวของเราเป็นสิ่งแรกที่ข้อเข่าต้องรับน้ำหนัก การที่จะรู้ว่าเราอ้วนแค่ไหนเราวัดจากดัชนีมวลกาย โดยการนำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ถ้าผลที่ได้เกิน 25 ก็จัดว่าอ้วน
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน แอโรบิกจะทำให้ร่างกายมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ซึ่งกล้ามเนื้อต้นขาที่แข็งแรงจะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่า ทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลง จะช่วยป้องกันข้อเข่าเสื่อมได้ แต่อย่าลืมว่าต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต้องค่อยๆ เริ่มปรับความหนักขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ควรหักโหมในทันที อาจทำให้บาดเจ็บได้ การว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อข้อเข่ามาก เพราะมีแรงกระทำต่อข้อเข่าน้อยและเป็นการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย
การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง
นั่งบนเก้าอี้ กระดกข้อเท้าขึ้น เกร็งต้นขาและยกขาเหยียดเข่าตรง เกร็งค้างไว้ นับ 1-10 แล้วเอาลง ให้ทำสลับกันทั้งสองข้างต่อเนื่องกัน 30 นาที
การถีบจักรยาน โดยเฉพาะจักรยานสำหรับออกกำลังกายที่สามารถปรับความหนืดได้ จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่มีข้อสำคัญคือ ต้องปรับอานที่นั่งให้สูงเพื่อไม่ให้เข่างอมาก ลักษณะแบบต้องเขย่งปลายเท้าในการถีบเล็กน้อย ควรถีบจักรยานให้ได้ต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน
โทร. 0 2265 7777