• banner

โรคไต ต้องฟอกไตไปตลอดชีวิตหรือไม่

ผู้ป่วยโรคไต เมื่อมีอาการถึงจุดที่ไตไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้เองตามกลไกปกติ จะต้องเข้าสู่การบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกไต หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งการฟอกไตจะช่วยลดอาการและป้องกันการสะสมของสารพิษและของเหลวในร่างกายที่ก่ออันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่การรักษาด้วยวิธีฟอกไต จะต้องทำตลอดชีวิตหรือไม่ เรามีข้อมูลมาบอกค่ะ
    
เมื่อไตสูญเสียการทำงานไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งรักษาประคับประคองด้วยยาอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต เพื่อกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย ปัจจุบันมีวิธีการหลัก 3 วิธี คือ

  • การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เป็นการกรองเลือดผ่านตัวกรองของเครื่องไตเทียม เพื่อนำเลือดออกจากร่างกายมาทำให้สะอาดขึ้น เป็นการกำจัดของเสีย ปรับระดับเกลือแร่ในเลือด และปรับสมดุลของน้ำในร่างกายของผู้ป่วยไตวายให้เป็นปกติ เครื่องจะนำเลือดนั้นกลับสู่ร่างกาย ในการฟอกเลือดแต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. หรือมากกว่า และต้องทำการฟอกเลือดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
  • การล้างไตทางช่องท้อง คือ การใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง โดยที่เยื่อบุผนังช่องท้องจะทำหน้าที่กรองของเสียและของเหลวออกจากเลือดไปสู่น้ำยาล้างไต ทิ้งไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง น้ำยาจะพักอยู่ในท้องทำการกรองของเสียและน้ำส่วนเกิน เมื่อครบกำหนดเวลา ผู้ป่วยจะปล่อยน้ำยาที่ดูดซึมของเสียและน้ำส่วนเกินออกมาทางช่องท้อง
  • การปลูกถ่ายไต คือ การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคไว้ในร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้ไตใหม่ทำหน้าที่ทดแทนไตเดิม ทั้งการกำจัดของเสีย ปรับสมดุลน้ำและเกลือแร่ แต่ต้องรับประทานยากดภูมิเพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดการต่อต้านไตใหม่
    
การฟอกไตต้องทำตลอดชีวิตไหม?
ผู้ที่มีอาการไตวายเฉียบพลันไม่จำเป็นต้องฟอกไตตลอดชีวิต สามารถหยุดฟอกไตได้เมื่อไตกลับมาทำงานตามปกติ ซึ่งจะใช้เวลาเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของไตในผู้ป่วยแต่ละราย แต่ผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต

การฟอกไต มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคไต เพราะระบบขับของเสียของผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง จะไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้ ทำให้ของเสียและสารพิษต่าง ๆ สะสมอยู่ในร่างกายอย่างต่อเนื่อง หากไม่รักษาอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ และส่งผลให้การทำงานของอวัยวะอื่นๆ ล้มเหลวไปด้วย จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777 
Medical Center: Nephrology and Hemodialysis Center
Publish date desc: 14/03/2024

Author doctor

Dr. Somrath Srijaruneruang

img

Specialty

Kidney Disease

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us