• banner

ส่องกล้องทางเดินอาหาร ไม่น่ากลัวเลยสักนิด

การส่องกล้องทางเดินอาหารเป็นการตรวจที่พบได้บ่อยมาก โดยมีหลากหลายข้อบ่งชี้ ได้แก่ เลือดออกจากทางเดินอาหาร ท้องผูก ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว รวมไปถึงข้อบ่งชี้ที่พบบ่อยที่สุด คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติก็ตามคนไข้ที่จะได้รับการตรวจส่องกล้องครั้งแรก มักจะมีความกังวลแตกต่างกันไป ในบทความนี้จะรวบรวมคำถามที่หมอพบได้บ่อยไว้ดังนี้

คำถามที่ 1 ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ในกรณีส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน สามารถงดอาหารล่วงหน้าอย่างน้อย 6 ชั่วโมง แล้วรับการตรวจได้เลย ในกรณีส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง ต้องการมีการเตรียมลำไส้ก่อนการส่องกล้อง - แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนและงดอาหารที่มีกาก ได้แก่ ผัก ผลไม้ ถั่ว เป็นเวลาล่วงหน้า 2-3 วัน - ช่วง 1 วันก่อนการส่องกล้อง แนะนำให้รับประทานอาหารเหลวใส และคนไข้จะได้รับยาระบายเพื่อล้างลำไส้ใหญ่ทั้งหมด 2 ครั้ง เพื่อให้ลำไส้สะอาดจนสามารถตรวจหาเนื้องอกในลำไส้และทำการรักษาได้ครบถ้วน ทั้งนี้ ในกรณีที่คนไข้รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด จะมีการประเมินความปลอดภัยและเวลาที่เหมาะสมในการหยุดยาล่วงหน้า ได้แก่ หยุดยา aspirin, clopidogrel ก่อนส่องกล้อง 5-7 วัน

คำถามที่ 2 การส่องกล้องทำอย่างไร
กล้องตรวจทางเดินอาหารเป็นท่อยางนิ่มขนาดเล็ก และมีช่องข้างในเพื่อส่งอุปกรณ์เข้าไปทำการตรวจและรักษา - การส่องกล้องจะเริ่มหลังจากคนไข้หลับแล้ว การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนจะผ่านทางปาก เพื่อเข้าไปดูหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น - การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่างจะผ่านทวารหนัก เพื่อเข้าไปดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด จนถึงลำไส้เล็กส่วนปลาย  

คำถามที่ 3 ขณะรับการตรวจส่องกล้องจะเจ็บหรือไม่
มักจะเป็นคำถามแรกที่คนไข้ทุกรายจะถามหมอก่อนเริ่มการตรวจ จะมีการปรับให้ยาระงับความรู้สึกจนคนไข้หลับก่อน ดังนั้นในขณะที่ตรวจคนไข้จะไม่รู้สึกปวดหรือไม่สบายท้องเลย คนไข้มักจะรู้สึกตัวอีกครั้งที่ห้องพักฟื้น ในกรณีที่ตรวจพบเนื้องอก สามารถทำการตัดเนื้องอกออกได้ทันที โดยไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆทั้งสิ้น

คำถามที่ 4 มีความเสี่ยงหรือไม่
การส่องกล้องทางเดินอาหารมีความปลอดภัยสูงมาก คนไข้จะได้รับการประเมินร่างกายและอาการอย่างละเอียดเพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงที่สุด - หลังการส่องกล้อง คนไข้ส่วนมากจะไม่มีอาการปวดและจะจำไม่ได้ว่าส่องกล้องไปแล้ว ส่วนน้อยอาจมีอาการแน่นท้องเล็กน้อย ในกรณีที่ตรวจพบเนื้องอกและได้รับการตัดออก อาจมีความเสี่ยงเลือดออกภายหลังได้บ้าง

คำถามที่ 5 ต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่
การกินยาระบายเพื่อเตรียมลำไส้ใหญ่สามารถทำที่บ้านได้ แต่คนไข้ที่สูงอายุร่วมกับสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงมักจะแนะนำให้นอนโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่ หน้ามืดจากการสูญเสียน้ำ ความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด เช้าวันที่มาส่องกล้อง หมอจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีในการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน และประมาณหนึ่งชั่วโมงในการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง หลังจากนั้นใช้เวลาพักฟื้นหลังส่องกล้องประมาณ 2 ชั่วโมง คนไข้จะทราบผลการตรวจและสามารถกลับบ้านได้

คำถามที่ 6 กลัวว่าจะเจอมะเร็งลำไส้ใหญ่
เป็นคำถามที่เจอได้บ่อยและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไข้บางรายหลีกเลี่ยงการตรวจ อาการที่ทำให้สงสัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ่ายปนเลือด ท้องผูก ปวดท้องจากลำไส้อุดตัน คลำได้ก้อนในช่องท้อง สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ที่ไม่มีอาการดังกล่าวมีโอกาสเจอมะเร็งน้อย ส่วนมากมักจะพบเนื้องอกที่ยังไม่กลายเป็นมะเร็ง การตรวจหาและทำการตัดเนื้องอกนี้จะเป็นการป้องกันมะเร็งในอนาคตได้ ดีกว่าการหลีกเลี่ยงการส่องกล้องไปเรื่อยๆ จนมีอาการจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งมักจะทำการรักษาได้ยาก

คำถามสุดท้าย ไม่ตรวจได้หรือไม่
คนไข้ส่วนนึงก็ยังมีความกังวลในการส่องกล้องทางเดินอาหารอยู่แม้ว่าจะรู้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว เนื่องจากไม่เคยได้รับการตรวจเช่นนี้มาก่อน การปรึกษาหมอเจ้าของไข้หรือหมอเฉพาะทางระบบทางเดินอาหารจะช่วยให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นและคลายความกังวลได้ ทั้งนี้คนไข้แต่ละคนมีความแตกต่างกันในแง่ของสุขภาพร่างกายและข้อบ่งชี้ในการตรวจ หมอจะเป็นผู้ให้คำแนะนำเพื่อเลือกแนวทางการรักษาร่วมกันให้เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
Medical Center: Gastrointestinal and Liver Center
Publish date desc: 08/04/2022

Author doctor

Dr. Kasem Saenghirunvattana

img

Specialty

Gastroenterologist

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us

Other package