• banner

โรคติดเกม คุกคามสุขภาพเด็ก รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

“โรคติดเกม คุกคามสุขภาพเด็ก รีบรักษาก่อนสายเกินแก้ ”


พยาบาล:
สวัสดีค่ะท่านผู้ชม วันนี้รายการวิชัยยุทธจิตสุขได้ จะขอนำเสนอหัวข้อเรื่อง เด็กติดเกม เนื่องจากในปัจจุบันนี้ เวลาที่เราติดตามข่าวสาร เรามักจะพบข่าวเด็กมีพฤติกรรมติดเกมกันมากขึ้น

วันนี้เราได้มีโอกาสมาคุยกับ พญ.สวรรยา เสาวภาพ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธกันค่ะ สวัสดีค่ะคุณหมอแพร คำถามแรกเลยนะคะ ทำไมปัญหาเด็กติดเกมถึงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกวันค่ะ

แพทย์:
จากช่วงโควิดที่ผ่านมานะคะ เด็กจำเป็นต้องใช้แท็บเล็ตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการเรียนออนไลน์มากขึ้น หลังจากนั้นก็มีความเคยชินกับการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ รวมถึงปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำงานและมีกิจกรรมหลากหลาย ทำให้มีเวลาให้เด็กน้อยลง เด็กจึงใช้เกมออนไลน์หรือออฟไลน์ต่างๆ เล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลินมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีการทำกิจกรรมอย่างอื่นน้อยลงไปด้วยค่ะ

พยาบาล:
แล้วอายุเท่าไรที่เราจะควรกำหนดว่า สามารถเล่นเกมได้ค่ะ

แพทย์:
จริงๆ แล้ว อายุที่เด็กสามารถใช้หน้าจอได้นะคะ ควรจะมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ถึงจะเริ่มอนุญาตให้ใช้หน้าจอได้นะคะ ในกลุ่มเด็กอายุ 3-6 ปี ก็สามารถเล่นเกมที่เกี่ยวกับเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการ หรือเกมเกี่ยวกับการเรียนรู้ได้นะคะ สำหรับเด็กที่ 6 ขวบขึ้นไป ก็สามารถเริ่มเล่นเกมที่เกี่ยวกับความสนุกเพลิดเพลินได้มากขึ้น แต่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด แล้วก็ต้องเป็นเกมที่ไม่มีความรุนแรงและใช้ภาษาที่สุภาพค่ะ เด็ก 10 ขวบถึงวัยรุ่น อาจจะให้เล่นเกมที่มีการต่อสู้ได้บ้าง แต่ต้องไม่มีฉากที่รุนแรง และสำหรับในเด็กวัยรุ่น เขาอาจจะอยากเลือกเกมด้วยตัวเขาเอง เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะเฝ้าระวังและสังเกตการณ์ในเกมที่ลูกเล่น และเข้าใจในเกมที่เขาเล่นด้วยค่ะ

พยาบาล:
แล้วมีกำหนดจำนวนเวลาในแต่ละวันไหมคะ ว่าวันนึงต้องไม่ควรเกินเท่าไร

แพทย์:
ตามที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำเวลาเล่นเกม ก็ไม่ควรจะเกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้ง และในวันที่ต้องไปเรียนหนังสือก็ไม่ควรจะเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับวันที่เป็นวันหยุดหรือวันเสาร์อาทิตย์นะคะ ก็สามารถอนุญาตให้เล่นได้ประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวันค่ะ

พยาบาล:
เรามีวิธีการป้องกันที่จะแนะนำกับผู้ปกครองว่าเพื่อไม่ให้ลูกติดเกมคะ และให้เข้าเนื้อหาเกมที่เหมาะสมตามวัยค่ะ

แพทย์:
อันดับแรกนะคะ ก่อนที่จะอนุญาตให้เด็กเริ่มเล่นเกม ผู้ปกครองควรจะตั้งกติกาอย่างชัดเจนกับลูกว่า จะเล่นได้กี่ชั่วโมง เล่นด้วยเครื่องไหน เล่นที่ไหน แล้วก็ต้องมีข้อกำหนดว่า ถ้าผิดกติกา จะมีการลงโทษอย่างไร โดยใช้การลงโทษแ บบที่ไม่รุนแรงนะคะ

นอกจากนี้ผู้ปกครองก็ควรเข้าถึงเนื้อหาเกมที่เด็กเล่น เช่น ใช้อีเมลหรือ account ของผู้ปกครองในการสมัครเกม หรือทุกครั้งที่เด็กต้องเติมเงินในเกม ก็ต้องขออนุญาตผู้ปกครองก่อนค่ะ

สัญญาณเตือน !!
พยาบาล:

มีสัญญาณเตือนหรือพฤติกรรมอะไรไหมคะ ที่บ่งบอกว่า ลูกเราติดเกมแล้วค่ะ

แพทย์:
อันดับแรกนะคะ เด็กๆ จะขอเล่นเกมมากขึ้น ใช้เวลามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงเวลาที่เรากำหนดไว้ เขาก็จะไม่ยอมเลิกเล่นเกม แล้วก็มีท่าทีหงุดหงิด เด็กบางคนก็จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวนะคะ ถ้าเป็นรุนแรง เด็กอาจจะไม่หลับไม่นอน ไม่ยอมรับประทานอาหาร หรืออาจจะตื่นสาย ไม่ยอมไปโรงเรียน ในบางคนอาจจะเก็บตัวอยู่แต่ในห้องเล่นเกม ไม่พบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวค่ะ

พยาบาล:
ถ้าเกิดกรณีอย่างนี้จะต้องส่งผลกระทบต่อกายและใจของเขาแน่ๆค่ะ แล้วมันส่งผลกระทบต่อกายและใจของเด็กคนนั้นอย่างไรบ้างคะ

แพทย์:
ในเรื่องทางกายนะคะ ถ้าเด็กไม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ หรือนอนน้อยเกินไป ก็ย่อมมีผลกระทบต่อร่างกายอยู่แล้วนะคะ ในเรื่องของทางจิตใจ จะขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนกับครอบครัว ไม่สามารถพัฒนาการตามวัยได้ อาจจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าหรืออาจจะทำให้ผู้ปกครองเป็นห่วงอย่างมากจนมีความเครียดกับผู้ปกครองได้ค่ะ

ทำอย่างไรเมื่อเด็กติดเกมแล้ว?  
พยาบาล:
ถ้าลูกเราติดเกมไปแล้ว คุณหมอจะมีคำแนะนำว่าเราจะแก้ปัญหายังไงบ้างคะ

แพทย์:
ส่วนใหญ่จะมีปัญหาจากการติดเกมที่รุนแรง เช่น ไม่ยอมไปโรงเรียน ไม่ยอมรับประทานอาหาร ไม่อาบน้ำ บางคนก็มีปัสสาวะในห้องนอนเลย ไม่ยอมออกไปไหน ไม่เจอเพื่อน ไม่คุยกับคุณพ่อคุณแม่ก็มีค่ะ

อันดับแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติก่อนนะคะ แล้วก็ระลึกไว้เสมอว่า เราอยู่ฝ่ายเดียวกับลูก ลูกกำลังมีปัญหา เราจะเข้าไปช่วยลูก เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าไปคุยกับเขาดีๆ ค่ะ ตอนนี้ถ้าเขากำลังหมกมุ่นกับการเล่นเกมอยู่ เราก็ต้องหมกมุ่นไปกับเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไปนั่งเล่นเกมกับเขาเฉยๆ นะคะ เราต้องเข้าไปแสดงท่าทีสนใจว่า ลูกเล่นเกมอะไรอยู่ มันสนุกยังไงบ้าง อาจจะเข้าไปอยู่กับเขาก่อนในช่วงแรก

หลังจากนั้นเมื่อเราสามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกได้แล้ว ค่อยๆ ดึงเขาออกมาให้กินข้าว อาบน้ำ แล้วพาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เขาเคยชอบนะคะ จะเป็นดนตรี กีฬา ศิลปะ หรืออาจจะชวนเขาออกมาเล่นเกมที่เป็นบอร์ดเกมที่ไม่ใช่ใช้หน้าจอร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ก็ได้ค่ะ

พยาบาล:
คุณหมออยากจะฝากอะไรให้กับผู้ปกครองหรือท่านผู้ชมท่านผู้ฟังที่กำลังฟังเราตอนนี้อยู่บ้างคะ

แพทย์:
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้ลูกกลายเป็นเด็กติดเกม ก็คือคุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลาสร้างความสัมพันธ์กับลูก รู้จักลูกแล้วก็ให้ความรักความอบอุ่นกับลูก ลูกจะได้ไม่ติดเกม แล้วก็มีสุขภาพจิตที่ดีค่ะ

พยาบาล:
คำถามสุดท้ายนะคะ อยากให้คุณหมอฝากอะไรถึงผู้ปกครองเรื่องของการป้องกันการติดเกมค่ะ

แพทย์:
ทุกครั้งก่อนเล่นเกม เราต้องมีกติกาสำหรับลูกๆ เสมอ และเราต้องยึดตามกติกานั้นอย่างเคร่งครัดนะคะ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องพึงระลึกเสมอว่า เกมเป็นแค่สิ่งเพลิดเพลินส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่กิจกรรมหลักที่เด็กควรจะทำนะคะ เพราะฉะนั้นควรจะให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรมที่เหมาะสมตามวัย ทำหน้าที่ตามวัยให้เรียบร้อยก่อนที่จะอนุญาตให้เล่นเกม และควรจะให้เวลากับลูกๆ ในการใช้ร่วมกันมากขึ้นด้วยค่ะ เด็กๆ จะได้ไม่พึ่งพาเกมค่ะ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

โทร. 0 2265 7777
Medical Center: Mental Health Center
Publish date desc: 13/09/2024

Author doctor

Dr. Sawanya Saowapap

img

Specialty

Child and adolescent psychiatry

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us

Other package