• banner

โรคตาในผู้สูงอายุ

ปัญหาเรื่องสายตาที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เกิดจากความเสื่อมถอยตามอายุ ถ้าหากไม่ระวังรักษาสุขภาพตา ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติและปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ การสังเกตอาการ หรือการตรวจสุขภาพตาควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบการมองเห็นไม่รบกวนในชีวิตประจำวันนะคะ วันนี้เรามารู้จักโรคตาที่พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้นกันดีกว่าค่ะว่ามีอะไรบ้าง

ผู้สูงอายุกับเรื่องสุขภาพเป็นของคู่กันที่ต้องดูแล ยิ่งอายุมากขึ้นอวัยวะต่าง ๆ  ในร่างกายจะเกิดการเสื่อมตาม ๆ กันมา ไม่เว้นแม้ตาดวงตา ซึ่งโรคตาบางโรคจะพบได้เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุจึงควรตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อหาความผิดปกติในช่วงแรกจะได้สามารถป้องกันรักษาหรือชะลอความเสื่อมได้ สำหรับโรคตาที่พบมากในผู้สูงอายุ คือ

• ต้อกระจก เกิดจากความขุ่นมัวของเลนส์แก้วตา ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปที่จอประสาทตาด้านในลูกตาได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมองเห็นภาพต่าง ๆ อย่างพร่ามัว และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ต้อกระจกทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่น เช่น  ต้อหิน หรือมีการอักเสบรุนแรงในตาได้

• เบาหวานขึ้นตา เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเลือดที่เข้าไปเลี้ยงจอประสาทตาผิดปกติ เกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ประกอบกับระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน และโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ในระยะแรกของภาวะเบาหวานขึ้นตาอาจจะยังไม่พบอาการหรือความผิดปกติใด ๆ แต่เมื่อมีความรุนแรงมากขึ้น จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ผิดปกติไป เกิดภาพมัว หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว แยกแยะสีได้ยากขึ้น หรือสูญเสียการมองเห็น เป็นต้น

• ต้อหิน เกิดจากมีการทำลายเส้นประสาทอย่างต่อเนื่อง มีทั้งชนิดความดันตาสูงและความดันตาต่ำ จะเกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ในผู้ที่มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นต้อหิน หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ลักษณะและความรุนแรงแตกต่างกันไปตามประเภทของต้อหินที่เป็น โรคต้อหินส่วนใหญ่จะทำให้ลานสายตาเสียบริเวณขอบในระยะเริ่มแรก ซึ่งผู้ป่วยจะยังไม่รู้สึกถึงการมองเห็นที่ผิดปรกติต่อมาจะสูญเสียการมองเห็นจากทางด้านนอก และตาบอดถาวรในที่สุด ดังนั้นการจะทราบว่าเป็นโรคนี้หรือไม่จึงต้องได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์เท่านั้น

• ภาวะสายตายาว มีอาการเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป จะทำให้ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดเจน เนื่องจากความสามารถและช่วงในการเพ่งปรับสายตาลดลง เนื่องจากเลนส์แก้วตาแข็งตัวขึ้น และการทำงานของกล้ามเนื้อตาลดลง ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดเมื่อยตา และปวดศีรษะได้ถ้าเพ่งมองนาน ๆ ใช้สายตามองระยะใกล้ ๆ ได้ลำบาก เช่น อ่านหนังสือ เย็บผ้า เป็นต้น

หากผู้สูงอายุสงสัยว่าสายตาผิดปกติสามารถมาพบจักษุแพทย์ได้ทันที หรือตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อช่วยปกป้องดวงตาและการมองเห็นของตนเองให้มีสุขภาวะที่ดีนะคะ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
Medical Center: Eye Center
Publish date desc: 29/05/2024

Author doctor

Dr. Chayanee Engkagul

img

Specialty

Glaucoma

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us

Other package