• banner

มะเร็งเต้านม ภัยร้ายที่ผู้หญิงควรรู้

มะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก มีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 22,158  รายต่อปี หรือ 55 คนต่อวัน คิดเป็นชั่วโมงละ 2.5 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 8,266 รายต่อปี (จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ) ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี มะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติภายในเต้านมเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งและขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย ซึ่งเซลล์มะเร็งส่วนใหญ่ที่พบมักจะเกิดขึ้นบริเวณต่อมผลิตน้ำนม (Lobules) และท่อน้ำนม (Ducts) มากกว่าส่วนอื่น ก่อนจะแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง ระบบน้ำเหลือง และสุดท้ายกระจายไปยังกระแสเลือด และไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ทั้งนี้แพทย์สามารถวินิจฉัยโดยดูจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ประวัติการกินยาต่าง ๆ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำเต้านม การตรวจภาพรังสีเต้านม (Mammogram) และอาจร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) แต่ที่จะให้ผลแน่นอนที่สุดคือ การเจาะดูดเซลล์ หรือตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางเซลล์วิทยาหรือทางพยาธิวิทยา เป็นต้น

รู้ไว้ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม
โรคมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในเพศหญิง โดยยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากสิ่งใด เนื่องจากสามารถเกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ ปัจจัย หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมได้
  • อายุ โอกาสจะมากขึ้นเมื่อผู้หญิงมีอายุมากกว่า 40 ปี
  • กรรมพันธุ์ โรคมะเร็งจำนวนมากจัดเป็นโรคของความผิดปกติทางพันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก 5-10% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม
  • ช่วงอายุของการมีประจำเดือน ผู้ที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ง่ายขึ้น
  • พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม มีพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารไขมันสูง มีภาวะอ้วน เป็นต้น
  • การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนหลังหมดประจำเดือนเป็นเวลานาน หรือการใช้ยาคุมกำเนิด
  • มีบุตรหลังอายุ 35 ปี หรือไม่มีบุตร
  • มีประวัติได้รับรังสีบริเวณทรวงอก

วิธีตรวจเต้านมได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองเป็นการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นด้วยวิธีการง่าย ๆ ควรทำอย่างสม่ำเสมอโดยทำการตรวจเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงหลังหมดประจำเดือนประมาณ 7-10 วัน หรือตรวจในช่วงที่รู้สึกว่าเต้านมนิ่มลง เนื่องจากในช่วงระยะเวลานั้นเต้านมจะไม่ตึงตัวมากจึงสามารถคลำก้อนได้ชัดเจน ส่วนวิธีการตรวจประกอบด้วยการดูและการคลำ ดังนี้

การดู
ควรตรวจสอบบริเวณหน้าอกทั้งสองข้าง โดยการดูเต้านมของผู้ป่วยในท่านั่ง ถอดเสื้อผ้าเพื่อให้มองเห็นบริเวณเต้านมชัดเจน และเริ่มตรวจจากการที่ให้วางแขนแนบลำตัวเป็นท่าแรก หลังจากนั้นเปลี่ยนท่า โดยยกแขนให้มืออยู่เหนือศีรษะ ซึ่งท่านี้จะช่วยให้เห็นเต้านมด้านล่างได้ดีขึ้น และเห็นการเปลี่ยนแปลงของเต้านมขณะเปลี่ยนท่า และสุดท้ายให้เอมือจับสะโพกและเกร็งหน้าอก เพื่อให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อหน้าอก

หลักการดูเต้านมประกอบด้วย
  • การดูขนาดเต้านม รูปร่าง และความสมมาตรของหน้าอก
  • การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง หัวนมและลานนม การยุบ การหนาตัว แผล หรือสีที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงของเหลวจากหัวนม

การคลำ
คลำโดยใช้ท้องนิ้ว โดยใช้ 3 นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำแบบตื้นและแบบลึก การคลำโดยกดเต้านมตื้นๆ และลึกลงไป โดยการคลำเ้ตานม มีทั้งหมด 3 วิธี ดังนี้
  • แบบก้นหอย หรือแบบตามเข็มนาฬิกา เริ่มคลำจากส่วนของเต้านมวนไปรอบ ๆ เต้านมถึงฐานนม
  • แบบรัศมีรอบเต้านม เริ่มคลำจากฐานของเต้านม ขึ้นมาที่ยอดทำให้รอบทั้งเต้านม
  • แบบแนวนอนขึ้นลงขนานกับลำตัว เริ่มคลำจากฐานเต้านมขึ้นมาถึงกระดูกไหปลาร้า โดยขยับนิ้วทั้ง3 ขึ้นลงสลับไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นควรตรวจเต้านมเป็นประจำ เมื่อสงสัยว่ามีสิ่งผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก 

นอกจากนั้น ยังควรคลำบริเวณรักแร้ว่ามีก้อนผิดปกติหรือไม่ ซึ่งเป็นบริเวณของต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ฉะนั้นควรตรวจเต้านมเป็นประจำ เมื่อสงสัยว่ามีสิ่งผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777 
Medical Center: Breast Center
Publish date desc: 27/05/2024

Author doctor

Dr. Lakkana Adireklarpwong

img

Specialty

General-Breast Surgeon

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us