ห้องตรวจสนามแม่เหล็ก (MRI)

การตรวจสนามแม่เหล็ก หรือ MRI เป็นการตรวจทางรังสีวินิจฉัยวิธีการหนึ่ง โดยอาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ แล้วนำสัญญาณที่ได้มาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้ได้ภาพอวัยวะในร่างกายที่มีความคมชัด สามารถแยกเนื้อเยื่อของร่างกายที่ปกติและผิดปกติออกจากกันได้  

การตรวจที่ใช้เครื่อง MRI

  • ตรวจระบบประสาท (Nervous System)
    MRI นำมาใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางมากที่สุด ซึ่งรวมถึงสมอง ไขสันหลัง และกระดูกสันหลัง สามารถตรวจพบความผิดปกติต่างๆ เช่น ก้อนเนื้องอก บริเวณของสมองที่ขาดเลือดไปเลี้ยง นอกจากนี้ยังสามารถตรวจดูเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองว่ามีการตีบหรืออุดตันหรือไม่ โดยไม่ต้องฉีดยาร่วมกับการตรวจ ความผิดปกติแต่กำเนิดของสมอง และบางสาเหตุของโรคลมชักก็สามารถตรวจพบได้ สำหรับไขสันหลัง และกระดูกสันหลัง MRI เป็นการตรวจที่ดีที่สุดสำหรับการวินิจฉัยการยื่นของหมอนรองกระดูกที่ไปกดทับเส้นประสาท หรือช่องไขสันหลังแคบจากกระดูกเสื่อม รวมถึงเนื้องอกในบริเวณนี้ด้วย

  • ตรวจกระดูกและข้อ (Musculoskeletal System)
    การตรวจ MRI ใช้ได้ดีในการตรวจระบบกระดูก ระบบกล้ามเนื้อและข้อ โดยจะสามารถเห็นความผิดปกติภายในโพรงกระดูก หรือไขกระดูกได้อย่างชัดเจน เช่น เนื้องอกภายในกระดูก MRI สามารถบอกขอบเขตของรอยโรคได้ถูกต้องแม่นยำ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการรักษา และในโรคของกระดูกบางอย่าง เช่น การขาดเลือดไปเลี้ยงที่หัวของกระดูกต้นขา การตรวจ MRI เป็นการตรวจที่ไวที่สุด ที่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ แม้ว่าภาพเอกซเรย์ธรรมดาจะยังปกติอยู่ ข้อที่มีการตรวจ MRI มากที่สุดคือ ข้อเข่า รองลงมาคือ ข้อไหล่ ซึ่งการตรวจด้วย MRI จะสามารถเห็นการฉีกขาดของเส้นเอ็น หรือกระดูกอ่อนภายในข้อ ในขณะที่การถ่ายภาพเอกซเรย์อาจเห็นเพียงเงาของน้ำในข้อ

  • ตรวจอวัยวะในช่องท้อง
    การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการตรวจคัดกรองที่ใช้มากที่สุดสำหรับอวัยวะในช่องท้อง และเมื่อต้องการดูอวัยวะบางอย่าง หรือความผิดปกติให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็มักเป็นการตรวจที่เลือกใช้มากที่สุด แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้สารไอโอดีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบในสารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือมีความเสี่ยงสูงต่อการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจ MRI ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ใช้บ่อย คือ การตรวจหาก้อนในตับ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจดูทางเดินน้ำดีได้โดยไม่ต้องฉีดสารเหนี่ยวนำแม่เหล็ก (Gadolinium) และยังตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆ ได้ เช่น ไต ต่อมหมวกไต เป็นต้น


การเตรียมตัว
ผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวก่อนล่วงหน้า สามารถเข้ารับบริการตรวจได้ทันที 
ยกเว้นการตรวจช่องท้องส่วนบน (MRI Upper abdomen) และการตรวจทางเดินน้ำดี (MRCP) ที่ผู้รับบริการจำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 4 ชั่วโมง

ข้อดีของการตรวจ MRI

  • การตรวจนี้ปราศจากรังสีเอกซ์แบบที่ใช้ในการถ่ายภาพรังสีธรรมดาและการตรวจเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ จึงไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

  • สามารถให้ภาพที่แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อต่างๆได้อย่างชัดเจน ทำให้มีความถูกต้อง แม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น

  • สามารถทำการตรวจได้ในทุกๆ ระนาบ หรือทุกๆ แนวตามต้องการ ไม่ใช่เฉพาะแนวขวางอย่างเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

ข้อจำกัดของการตรวจ MRI

  • ใช้เวลาในการตรวจนาน ผู้รับการตรวจต้องให้ความร่วมมือพอสมควร

  • ในขณะตรวจ ผู้รับการตรวจต้องเข้าไปอยู่ในช่องแคบๆ ดังนั้น ผู้รับการตรวจต้องไม่กลัวการเข้าไปอยู่ในที่แคบๆ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของผู้ที่กลัวการเข้าไปอยู่ในที่แคบๆ (claustrophobia) เมื่อได้รับฟังคำอธิบาย หรือเข้าไปดูเครื่องมือใกล้ๆ และลองฟังเสียงที่จะเกิดขึ้นในขณะตรวจ รวมถึงมั่นใจว่า สามารถติดต่อกับผู้ทำการตรวจภายนอกได้ตลอดเวลาก็มักจะคลายความกลัวลง อาจให้ญาติอยู่ภายในห้องตรวจด้วย หากวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล แพทย์ผู้ส่งตรวจ อาจต้องให้ยานอนหลับ หรือให้ดมยาโดยวิสัญญีแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยหลับขณะตรวจ

  • เนื่องจากเป็นการตรวจที่ทำภายในสนามแม่เหล็ก ผู้รับการตรวจต้องถอดเครื่องใช้ หรืออุปกรณ์โลหะที่ถอดออกได้ไว้ภายนอก ส่วนโลหะที่มีอยู่ภายในร่างกายจากการผ่าตัดหรือบาดเจ็บในอดีต แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าปลอดภัยต่อการเข้ารับการตรวจหรือไม่ ซี่งส่วนใหญ่แล้วปลอดภัย เช่น เหล็กที่ดามกระดูกหัก แต่อาจทำให้ภาพที่ได้มีสัญญาณรบกวน ถ้าอยู่ใกล้บริเวณที่ทำการตรวจ

ในกรณีต่อไปนี้ ห้ามเข้ารับการตรวจ MRI

  • ผู้รับการตรวจที่ฝังอุปกรณ์ที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในร่างกาย เช่น เครื่องช่วยฟังแบบฝัง เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (Cardiac pacemaker) อาจทำให้เครื่องมือมีการทำงานผิดปกติได้ ปัจจุบันมีเครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจชนิดที่สามารถเข้าในห้องตรวจ MRI ก่อนตรวจควรแจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจทราบล่วงหน้า

  • ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดใช้คลิปหนีบเส้นเลือดโป่งพองผิดปกติที่สมอง ยกเว้นมีข้อมูลยืนยันว่าคลิปที่ใช้เป็นชนิดที่เข้าเครื่องได้ (MRI compatible)

  • ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตา และสงสัยว่าจะมีโลหะชิ้นเล็กๆกระเด็นเข้าไปในลูกตาหรือมีอาชีพเกี่ยวข้องกับโลหะ และมีความเสี่ยงต่อการมีโลหะชิ้นเล็กๆ กระเด็นเข้าลูกตา อาจมีการเคลื่อนที่ของโลหะซึ่งก่อให้เกิดอันตรายได้ การถ่ายภาพเอกซเรย์ของตาจะช่วยบอกได้ว่าผู้ป่วยมีโลหะในลูกตาหรือไม่




    วันและเวลาทำการ

    วันจันทร์-อาทิตย์
    เวลา 07.30 – 19.00 น.


    สถานที่
    ชั้น 1 อาคารวิชัยยุทธเหนือ

    ติดต่อสอบถาม

    แพ็กเกจอื่นๆ