เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้ อาการเหล่านี้บอกอะไรได้บ้าง ?
“เริ่มต้นสวย ชีวิตก็ไปได้สวยจริงไหม?” เพราะจุดเริ่มต้นที่สำคัญของผู้หญิง คือ การก้าวเข้าสู่วัยเริ่มสาว ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พบการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สรีระ ฮอร์โมน ไปจนถึงด้านอารมณ์ สาวๆ หลายคน อาจรู้สึกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และมีจำนวนไม่น้อย ที่พบปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิงอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันพบมากขึ้นในวัยเริ่มสาว ที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่
- อาหารที่ไม่เหมาะสม
- ความเครียด
- ไม่มีเวลาออกกำลังกายดูแลตัวเอง
- สภาพแวดล้อม
- พันธุกรรม ฯลฯ
ประจำเดือนมาไม่ปกติอีกเรื่องที่สาวๆ ห้ามละเลย ถ้าไม่อยากมีบุตรยาก
“เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม” กับปัญหาสุดคลาสสิคของผู้หญิงวัยเริ่มสาว ที่ส่วนใหญ่ต้องเคยผ่านประสบการณ์ “ประจำเดือนมาไม่ปกติ” แล้วทั้งนั้น แน่นอนว่าต่างคนก็ต่างอาการ แต่แบบไหนกันที่อาจส่งผลต่อการมีบุตรยากโดยไม่รู้ตัว
วิธีสังเกตุอาการประจำเดือนมาไม่ปกติที่ส่งผลต่อการมีบุตรยาก
1. ความถี่ของการมีประจำเดือน ความจริงแล้วประจำเดือนควรมาทุกๆ 21 – 35 วัน หากมีประจำเดือนถี่หรือห่างกว่านี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า “มีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่” และอาจเข้าสู่ภาวะ “ไม่ตกไข่เรื้อรัง” ส่งผลให้มีบุตรยาก นอกจากนี้ยังพบว่าในผู้หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายเด่น เช่น หน้ามัน ขนดก เมื่ออัลตราซาวด์ดูรังไข่จะพบฟองไข่ใบเล็กๆ จำนวนมาก ที่ไม่สามารถเจริญเติบโตไปสู่ขั้นที่ตกไข่ออกมาได้ จึงสะสมอยู่ภายในรังไข่ ทั้งนี้ปกติธรรมชาติของผู้หญิง จะเกิดการตกไข่เพื่อแสดงความพร้อมในการตั้งครรภ์ ประมาณ 80% ของการมีประจำเดือน นั่นหมายความว่าการมีประจำเดือน 10 ครั้ง จะพบไข่ตกเพียง 8 ครั้งเท่านั้น ฉะนั้นหากจะมาวัดกันเรื่องความถี่ของการมีประจำเดือนคงต้องระวังกันให้ดี ยิ่งใครอยากมีลูกแล้วละก็ยิ่งต้องระวังกันไปใหญ่ โดยอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดความผิดปกติ คือ ความเครียด ที่ส่งผลต่อการตกไข่ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติเสี่ยงต่อการมีบุตรยากได้เช่นกัน
2. ปริมาณและระยะเวลาของเลือดประจำเดือนที่ออก ตามปกติระยะเวลาของเลือดที่ออกนั้น ควรอยู่ที่ 2–7 วัน ในกรณีที่มีลิ่มเลือดปนออกมา หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยหลังจากประจำเดือนหยุดแล้ว อาจเป็นสัญญาณของการเกิดปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูก และเป็นสาเหตุทำให้มีบุตรยาก เพราะตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวและเจริญเติบโตในโพรงมดลูกที่มีความผิดปกติได้ หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน
3. อาการปวดประจำเดือน สำหรับอาการปวดท้องระหว่างมีประจำเดือนถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นช่วงที่มดลูกกำลังกำจัดเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาโดยกล้ามเนื้อมดลูกจะหดตัวและกีดขวางหลอดเลือดเล็กๆ จำนวนมาก เพื่อให้เยื่อบุผนังลอกออก กระบวนการนี้เองที่ส่งสารความเจ็บปวดไปยังสมอง ในเวลาเดียวกัน ร่างกายยังปล่อยสารประกอบโพรสตาแกลนดิน (prostaglandins) ทำให้มดลูกหดตัวมากขึ้นนั่นเอง
"ปวดประจำเดือนแบบไหน สัญญาณอันตรายมีบุตรยาก"
จากสถิติพบว่าการปวดประจำเดือนพบได้ถึง 50% ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่จะปวดท้องส่วนล่าง กระจายไปบริเวณหลังหรือต้นขา มักจะปวดในวันแรกของการมีประจำเดือน เมื่ออายุมากขึ้นอาการจะลดลง แต่ถ้าอายุมากแล้วยังมีอาการปวดมากขึ้น อาจบ่งบอกได้ว่ามีความผิดปกติบางอย่างซ่อนอยู่ โดยสังเกตได้จากอาการปวดท้องน้อยเกือบทุกครั้ง รู้สึกปวดหน่วงๆ ลงช่องคลอดหรือทวารหนัก ปวดทั้งก่อนและหลัง หรือระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งมักจะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก ได้แก่ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่บริเวณรังไข่ หรือช็อคโกแลตซีสอีกด้วย"
"ดูแลตัวเองเบื้องต้นให้ประจำเดือนมาปกติลดความเสี่ยงภาวะมีบุตรยาก"
สำหรับผู้หญิงวัยเริ่มสาว สามารถดูแลตัวเองง่ายๆ เริ่มต้นที่เปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบการผลิตฮอร์โมนเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น มีประจำเดือนสม่ำเสมอมากขึ้น เช่น
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หาวิธีผ่อนคลาย ไม่ทำให้ตัวเองเครียดจนเกินไป
- ดูแลการทานอาหาร หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ เลือกรับประทานธัญพืช ผลไม้และผักสีต่างๆ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูงหรือคาเฟอีน
- งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- นวดเบาๆบริเวณหลังช่วงล่างและท้องน้อย
- ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
- ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้เพียงพอสำหรับการมีประจำเดือนได้ตามปกติ
การสังเกตความผิดปกติของประจำเดือนที่เกิดขึ้น จะช่วยประเมินได้ว่ามีแนวโน้ม มีบุตรยาก หรือไม่ หากพบอาการหรือกังวลสาวๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาภาวะผู้มีบุตรยากต่อไป เพราะ “การดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย” โดยเฉพาะอนาคตหากต้องแต่งงานมีครอบครัว การเตรียมตัวเพื่อลดความเสี่ยงมีบุตรยากจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
"ตกขาว มีตุ่มขึ้น ปัญหาในร่มผ้าที่สาวๆ ไม่กล้าบอกใคร "
อีกเรื่องที่ทำให้สาวๆ กังวลใจในลำดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น “อาการตกขาว” ซึ่งเป็นภาวะที่พบบ่อยและสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน สำหรับผู้หญิงเข้าสู่วัยเริ่มสาว หลายคนสงสัยว่าอาการตกขาวเกิดจากอะไร ตกขาวผิดปกติคือแบบไหน เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายหรือระบบสืบพันธุ์มีปัญหาหรือไม่ ถ้าแต่งงานมีครอบครัวจะส่งผลต่อการมีบุตรยากหรือเปล่า แน่นอนว่าต้องมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย แต่ขั้นแรกควรรู้ก่อนว่าอาการตกขาวมีแบบไหนบ้าง?
1. ตกขาวแบบปกติ รู้ไว้ ไร้กังวล
อาการตกขาวโดยทั่วไปเกิดจากกลไกทางธรรมชาติ ขึ้นอยู่สภาพร่างกายของผู้หญิงแต่ละคน เป็นการที่ผนังช่องคลอดลอกหลุดเอาของเสียออกมาจากช่องคลอด โดยจะมีลักษณะเหลวสีขาวใส หรืออาจเป็นของเหลวสีขาวขุ่น เปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตโรน (Progesterone)
“ตกขาว” เป็นของเหลวที่ถูกผลิตโดยต่อมภายในช่องคลอด จะมีลักษณะใสไม่มีสี หรือเป็นสีขาวไม่มีกลิ่นเหม็น ปริมาณไม่มากและไม่ทำให้เกิดอาการคัน เพื่อนำพาเซลล์ที่ตายแล้วและแบคทีเรียในช่องคลอดออกมา เสมือนการทำความสะอาดและป้องกันการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ผู้หญิงทุกคนเป็นได้และไม่เป็นอันตราย
2. ตกขาวผิดปกติแบบนี้ อย่านิ่งนอนใจ สาเหตุของการเกิดตกขาวที่ผิดปกตินั้น สามารถเกิดได้จากความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง ตั้งแต่บริเวณช่องคลอด ปากมดลูก ไปจนถึงมดลูก โดยสาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณช่องคลอด สังเกตง่ายๆ จากภายนอกคือสีที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งตามลักษณะตกขาว ได้ดังนี้
- ปนเลือดหรือมีสีน้ำตาล อาการนี้พบได้ไม่บ่อย มักเกิดจากมะเร็งโพรงมดลูกหรือมะเร็งปากมดลูก อาจมีอาการปวดท้องน้อยหรือมีเลือดออกผิดปกติร่วมด้วย
- ขุ่นมีสีเหลือง อาจมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น Gonorrhea เลือดออกระหว่างรอบเดือน หรือมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- สีเหลือง เขียว มีฟองปน อาจเกิดจากการติดเชื้อปรสิต (Trichomoniasis) มักมีอาการปวดและคันเวลาปัสสาวะร่วมด้วย
- สีชมพู พบได้ในหญิงหลังคลอด เนื่องจากการลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก
- สีขาวหนาเป็นก้อน เกิดจากการติดเชื้อราจนมีอาการบวม แดง คันบริเวณอวัยวะเพศ เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
- สีขาว เทา หรือเหลือง กลิ่นคาวเหมือนปลา เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการคัน แสบ แดง และบวมบริเวณอวัยวะเพศและอาจพบอาการร่วมอื่น เช่น แสบร้อนบริเวณช่องคลอด คัน มีตุ่มบริเวณช่องคลอดและอวัยวะเพศ อาการปวดท้องน้อยหรือเสียวในช่องท้อง อาการไข้ เป็นต้น
- หากไม่มีความจำเป็น ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
- ควรดื่มน้ำเยอะๆ รับประทานอาหารสดใหม่และมีคุณภาพ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรล้างอวัยวะเพศทุกครั้ง
- ไม่ควรใส่กางกางที่มีขนาดเล็กกว่าไซต์ตัวเองหรือรัดเกินไป
- ดูแลอวัยวะเพศให้แห้งอยู่เสมอ อย่าให้อับชื้น ควรเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง
สำหรับสาวๆ ที่เกิดอาการ "ตกขาวไม่ปกติ" ต้องให้แพทย์ตรวจภายในหาสาเหตุว่าติดจากเชื้ออะไร เพื่อที่จะได้รักษาตรงตามอาการ หากไม่มั่นใจไม่ควรรักษาเอง เพราะอาจทำให้ ระคายเคือง และติดเชื้อมากกว่าเดิม หากไม่รีบทำการรักษา อาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ส่งผลต่อการเกิดอาการมีบุตรยากตามมาในไม่ช้า
"ปัสสาวะมีเลือด อาการแบบนี้ ปล่อยไว้ไม่ดีแน่ "
พอเริ่มก้าวสู่วัยเริ่มสาวปฏิกิริยาตามธรรมชาติของร่างกาย ก็เริ่มส่งสัญญาณต่างๆ ออกมาให้เห็น เช่น “อาการปัสสาวะมีเลือด” ที่เกิดขึ้นกับสาวคนไหน ก็คงตกใจไม่น้อย อาการแบบนี้ บ่งบอกว่าระบบสืบพันธุ์กำลังมีปัญหารึเปล่านะ?ปกติแล้วปัสสาวะจะมีสีใส สีเหลืองอ่อน หรืออาจมีสีเหลืองเข้ม ขึ้นอยู่กับว่าดื่มน้ำมากน้อยแค่ไหน หากเมื่อใดที่ปัสสาวะของเรามีสีผิดปกติ เช่น สีออกแดง นี่อาจเป็นอาการปัสสาวะเป็นเลือด Hematuria (Blood in the Urine) คือ มีเลือดออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ซึ่งสามารถสื่อถึงโรคอันตรายต่างๆ อาจเป็นผลทั้งทางตรงและทางอ้อม นำมาซึ่งภาวะมีบุตรยากได้ด้วยเช่นกัน
ปัสสาวะเป็นเลือดสามารถพบได้หลายลักษณะ หลายสี สามารถแสดงถึงบริเวณที่เกิดได้ด้วย
- เลือดสีแดงสด หรือสีแดงคล้ำ
1.1 เลือดซึมตอนเริ่มปัสสาวะการมีเลือดออกแบบนี้ บ่งบอกถึงอาการท่อปัสสาวะเป็นแผลหรือฉีกขาด มักมีอาการปวดขณะถ่ายปัสสาวะ อาจมีหนอง และสามารถติดเชื้อได้ด้วย
1.2 เลือดออกตอนเริ่มปัสสาวะ ถ้ามีเลือดออกแค่ตอนเริ่มแรก แต่ตอนหลังไม่มี อาจมีเหตุผลเหมือนกับเลือดซึมตอนเริ่มปัสสาวะ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด
1.3 เลือดออกตอนท้ายปัสสาวะปัสสาวะที่มีเลือดออกในลักษณะนี้ มักเกิดจากอาการเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีสาเหตุมาจากนิ่วหรือเนื้องอก หรืออาจเป็นเพราะกระเพาะปัสสาวะอักเสบโดยอาการเหล่านี้มักจะมีอาการอื่นๆ เช่นปวดท้องน้อย หรือปัสสาวะขัดร่วมด้วย
1.4 เลือดออกตลอดเวลาที่ปัสสาวะอาการลักษณะนี้ส่วนใหญ่มาจากภาวะเลือดออกในไต หรือกรวยไต หรือเลือดออกมากในกระเพาะปัสสาวะ - ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ ปัสสาวะที่มีสีแดงแบบสีน้ำล้างเนื้อ และถ่ายออกมาเป็นสีเดียวกันตั้งแต่เริ่มปัสสาวะจนจบ อาการเช่นนี้โดยมากเกิดจากภาวะไตอักเสบ
- ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลดำ ปกติแล้วปัสสาวะสีนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะเลือดออกในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่เกิดจากการสลายตัวของสารสีเม็ดเลือดแดง และสารสีของกล้ามเนื้อลาย ที่แปรสภาพและออกมาเป็นปัสสาวะ ควรตรวจเพื่อหาทางรักษาต่อไป
ผลจากการปัสสาวะเป็นเลือดบ่งบอกสาเหตุของโรคอะไรได้บ้าง?
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อเรื้อรังอาจส่งผลให้มีเลือด ปนเปื้อนออกมากับปัสสาวะได้
- นิ่วในไตหรือในกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุต่างๆในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดก้อนนิ่วขึ้น จนทำให้ปัสสาวะปนเปื้อนเลือด
- ความผิดปกติในไต หากท่อปัสสาวะส่วนบนหรือไตติดเชื้อก็เป็นสาเหตุให้ปัสสาวะปนเปื้อนเลือดได้เช่นกัน
การป้องกันปัสสาวะเป็นเลือดโดยปกติแล้ว ไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง แต่มีวิธีช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เป็นสาเหตุได้ ดังนี้
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ควรดื่มน้ำมากๆ ปัสสาวะทันทีที่รู้สึกปวดหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ เช็ดทำความสะอาดบริเวณท่อปัสสาวะจากหน้าไปหลัง (สำหรับผู้หญิง) หรือหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะเพศ และท่อปัสสาวะที่อยู่ใกล้เคียงกัน
- นิ่วในไต ควรดื่มน้ำให้มาก ลดการบริโภคเกลือ โปรตีน หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของออกซาเลต (Oxalate) เช่น ผักโขม เป็นต้น
- มะเร็งไต ควรรักษาน้ำหนักตัว รับประทานอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตามหากปัสสาวะเป็นเลือด หรือกังวลควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป สำหรับการปัสสาวะเป็นเลือดที่นำไปสู่ภาวะมีบุตรยากนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ส่วนใหญ่พบว่าอาจเป็นผลข้างเคียงจากโรคไต ส่งผลให้เข้าสู่ภาวะมีบุตรยากเพราะโดยทั่วไปหากไตเสื่อม รังไข่อาจจะไม่ทำงาน ทำให้ไม่มีประจำเดือน หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ยากแก่การตั้งครรภ์ และมีบุตรยากเป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777