• banner

ความจำเสื่อมในโรคหลอดเลือดสมอง

สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง
1. เกิดตามหลัง อัมพฤกษ์ อัมพาต จากโรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดสมองแตก
2. สมองเสื่อมจากปัญหาการไหลเวียนของหลอดเลือดสมอง ได้แก่ โรคหลอดเลือดฝอย โรคหลอดเลือดแดงใหญ่

สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง พบได้เป็นอันดับสอง ในกลุ่มโรคสมองเสื่อม เป็นรองจากโรคอัลไซเมอร์

การตรวจภาพสมอง บอกร่องรอยของโรคหลอดเลือดสมอง
1. รอยที่ทำให้มีอาการอัมพฤกษ์
2. รอยที่ทำให้มีปัญหาสมองเสื่อม เช่น รอยโรคจากโรคหลอดเลือดฝอย โรคหลอดเลือดแดงใหญ่

เมื่อมาพบแพทย์ด้วยอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และได้ตรวจภาพสมอง อาจพบรอยที่เนื้อสมองจากปัญหาหลอดเลือดฝอย อ่านได้เป็น ปัญหาหลอดเลือดฝอยระดับเล็กน้อย ปานกลาง หรือมาก แม้ว่ามีร่องรอยเห็นได้จากภาพเนื้อสมองอย่างเห็นได้ชัด แต่อาจยังไม่รู้สึกว่ามีปัญหาด้านทักษะการคิด อย่างไรก็ตามอาจส่งผลเป็นสมองเสื่อมเมื่อายุมากขึ้น และเป็นปัจจัยเสริมโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งพบอุบัติการณ์สูงขึ้นตามวัย

โรคหลอดเลือดฝอย พบในผู้ที่มีโรคสมองเสื่อม พบได้ตั้งแต่หนึ่งในสิบ ถึงหนึ่งในสามของผู้ที่มีโรคสมองเสื่อม นับว่าโรคหลอดเลือดฝอยเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม

โรคหลอดเลือดสมอง พบได้ในผู้ที่เริ่มมีปัญญาแย่ลง ไปจนถึงขั้นสมองเสื่อม พบโรคหลอดเลือดสมองได้เกือบครึ่งหนึ่งในผู้ที่เริ่มมีปัญหาสมอง กระทั่งติดตามไปในระยะเวลาห้าปี จนพบมีโรคสมองเสื่อม

ปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่
• อายุมาก
• ความดันโลหิตสูง
• เบาหวาน
• ไขมันคอเลสเตอรอลสูง
• มีกิจกรรมระหว่างวันน้อย ประเภทนั่งๆ นอนๆ
• ผู้มีน้ำหนักตัวไม่อยู่ในเกณฑ์
• สูบบุหรี่

การป้องกันปัจจัยเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต ย่อมเป็นไปในทางเดียวกันกับการป้องกันสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

ในผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ประมาณหนึ่งในสิบ มีโรคสมองเสื่อมตามมา
1. มีปัจจัยร่วมกันของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคสมองเสื่อม เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
2. โรคอัมพาตที่มีปัญหาพูดไม่ได้ เสียความเข้าใจภาษา รอยโรคที่เกิดกับสมองซีกซ้าย โรคอัมพาตที่มีอาการชักร่วมด้วย

โรคอัมพาตที่สร้างความเสียหายแก่เนื้อสมอง จนสมองฝ่อ โรคอัมพาตดังกล่าวเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมตามมา

จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า มีอาการสมองเสื่อม และทรุดลงตามหลังโรคอัมพาต

การรักษาปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือด ป้องกันอัมพาตเกิดซ้ำ อาจทำให้อาการสมองเสื่อมคงที่และไม่แย่ลงกว่าเดิม

โรคหลอดเลือดฝอย อาจส่งผลได้ 2 แบบ
• ส่งผลให้เป็นอัมพาต
• ส่งผลให้มีอาการสมองเสื่อม โดยที่ไม่ได้เป็นอัมพาต แต่อาการสมองเสื่อมอาจมีลักษณะทรุดลงอย่างรวดเร็ว หรืออาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อาการสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง
• อาจเป็นทักษะการคิดที่แย่ลง
• อาจมีปัญหาทางด้านอารมณ์ ความคิดหลงผิด ภาพหลอน
• ร่วมกับปัญหาการเดิน เดินช้าลง
• มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย กลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้
• อาจพบความจำเสื่อม เรื่องความจำเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ความจำเสื่อมชนิดนี้เกิดจากรอยโรคที่สมองส่วนจำเพาะขาดเลือด หรือมีเลือดออก ความจำเสื่อมคล้ายในโรคอัลไซเมอร์ แต่แยกกันที่ลักษณะการดำเนินโรค ปัญหาความจำที่เกิดในโรคหลอดเลือดสมอง จะพบว่าความจำทรุดลงอย่างรวดเร็ว

การรักษา ได้แก่ รักษาปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือด ปรับยารักษาเรื่องอารมณ์ ความคิด ความจำ การนอนหลับ และฟื้นฟูสมรรถภาพ

ภาพที่ 1 : ภาพด้านซ้ายมือ โรคหลอดเลือดฝอย พบรอยโรคเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับภาพด้านขวามือ ถ่ายไว้เมื่อ 12 ปีก่อน ซึ่งพบรอยโรคระดับเล็กน้อย

ภาพที่ 2 : โรคหลอดเลือดฝอย พบรอยโรคระดับปานกลาง

ภาพที่ 3 : โรคหลอดเลือดสมอง สมองขาดเลือดเป็นบริเวณกว้างที่สมองซีกซ้าย เป็นอัมพฤกษ์ พูดไม่ได้  และมีโรคสมองเสื่อม

ภาพที่ 4 : โรคหลอดเลือดสมอง และโรคสมองเสื่อม ร่องรอยจากหลอดเลือดสมองแตก บริเวณสมองส่วนลึกของสมองซีกซ้าย ภาพด้านขวามือเห็นเป็นรอยสีดำในภาพเนื้อสมอง

ภาพที่ 5 : โรคหลอดเลือดสมอง และโรคสมองเสื่อม จากหลอดเลือดแดงใหญ่แคโรติดอุดตันทั้งสองข้าง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคระบบประสาท
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 30/09/2024

แพทย์ผู้เขียน

นพ. ชัยธวัช เทียนวิบูลย์

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคระบบประสาท

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ