• banner

เนื้องอกมดลูกไม่ใช่โรคร้าย

ผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกมดลูกอาจจะไม่มีอาการอะไรเลย ในรายที่มีอาการส่วนใหญ่จะมีอาการปวดท้องน้อย มีเลือดออกผิดปกติ อุจจาระผูกเรื้อรัง กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ๆ แท้งบุตร หรือมีบุตรยาก แต่ก็เป็นโชคดีที่เนื้องอกชนิดนี้มีเปอร์เซ็นต์ที่จะกลายเป็นมะเร็งได้น้อยมาก หากคุณได้รับการตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกมดลูก จึงไม่ต้องตกใจจนเกินเหตุ ขอให้ปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษา เพื่อที่จะหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป

โดยปกติการตรวจภายในจะสามารถบอกถึงรูปร่างลักษณะขนาดโดยรวม ความเรียบของผิวนอก รวมทั้งอาการเจ็บปวดของมดลูกได้ ถ้าหากผู้ป่วยมีเลือดออกผิดปกติ หมอจะตรวจดูผนังช่องคลอดและปากมดลูกง่าอักเสบติดเชื้อหรือไม่ และจะทำการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่เรียกว่า Pap Smear ในคราวเดียวกัน

แต่หลายคน พอพูดถึงการตรวจภายในก็จะไม่กล้าไปพบหมอ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นคนโสด ในปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องตรวจภายในกันทุกราย เพราะสามารถทำอัลตราซาวด์ หรือคลำหน้าท้อง ซึ่งผู้ป่วยบางรายสามารถคลำพบได้เองในกรณีที่เนื้องอกนั้นมีขนาดใหญ่ ความจริงแล้วในช่วงเช้า ๆ เวลาตื่นนอน ขณะที่กระเพาะปัสสาวะยังบรรจุปัสสาวะอยู่เต็มและดันตัวมดลูกขึ้นมา เราก็สามารถคลำเองได้ คลำดูตรงหน้าท้องว่ามีอะไรแปลก ๆ ผิดปกติอยู่หรือเปล่า มีผู้ป่วยหลายรายที่มาพบหมอด้วยเหตุที่ว่า ตื่นเช้ามาแล้วคลำพบก้อนเนื้อบริเวณหน้าท้อง เมื่อทำอัลตราซาวด์ก็พบตำแหน่งของเนื้องอกในมดลูกที่ชัดเจน จึงได้ทำการรักษาตามความเหมาะสมต่อไป

บางรายพบว่าเป็นเนื้องอกมดลูกในตำแหน่งที่ค่อนไปทางด้านหลังของตัวมดลูก กรณีนี้ใช้วิธีคลำเองค่อนข้างลำบาก ผู้ป่วยก็จะมาพบหมอด้วยสาเหตุของอาการท้องผูกเรื้อรังบ้าง ปัสสาวะบ่อยบ้าง หรือกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ ปวดหน่วงหน้าท้อง ปวดเมื่อยหลัง หรือระดูมามากผิดปกติ หรือบางรายอาจไม่พบอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่มาพบหมอเพื่อทำการตรวจสุขภาพประจำปี และในขณะที่ตรวจมะเร็งปากมดลูกก็พบว่ามีเนื้องอกในมดลูก

ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องตกใจ เมื่อพบว่าเป็น “เนื้องอกมดลูก”
เนื้องอกมดลูกไม่ใช่เนื้อร้ายที่น่ากลัว เพราะเนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเนื้อร้าย แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมี และโอกาสที่จะกลายเป็นเนื้อร้ายมีไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ผู้เขียนทำการรักษาผู้ป่วยมาเป็นเวลา 30 ปี พบผู้ป่วยเพียง 2 รายที่มาพบหมอด้วยอาการผิดปกติมากมาย ซึ่งเมื่อทำการผ่าตัดก็พบว่าเนื้องอกมดลูกเริ่มกลายเป็นเนื้อร้าย โดยต้องพิจารณาจากผลเนื้อที่ตรวจและทำการรักษากันต่อไป

ผู้ป่วยที่พบว่าเป็นเนื้องอกมดลูก หากก้อนเนื้อมีขนาดไม่ใหญ่มาก ส่วนใหญ่ถือเอาขนาดมดลูกโตประมาณการตั้งครรภ์ 3-31/2 เดือน (12-14 สัปดาห์) เป็นเกณฑ์ ถ้ามีขนาดไม่เกินนี้และไม่มีอาการผิดปกติอย่างอื่น ก็อาจนัดมาตรวจเป็นระยะ ๆ ส่วนมากจะทุก 3-6 เดือนหรือ 1 ปี และชี้แนะคนไข้ให้ปรับพฤติกรรมด้านการบริโภค ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทที่จะไปกระตุ้นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาจส่งผลทำให้เนื้องอกโตขึ้น ได้ เช่น นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ หรือเนื้อสัตว์ที่มีการให้สารเร่งการเจริญเติบโต แต่ถ้าเนื้องอกนั้นมีขนาดเกินเกณฑ์ดังกล่าว และมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เนื้องอกนั้นไปเบียดอวัยวะข้างเคียง หรือไปทำการขีดขวางการบีบตัวของมดลูก ส่งผลให้มีประจำเดือนมาก หรือทำให้ปวดมดลูก อย่างนี้ก็ควรมาคุยกันในเรื่องการรักษาต่อไป ส่วนผู้ป่วยในรายที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว เนื้องอกมดลูกที่เป็นอยู่จะไม่โตขึ้น บางส่วนจะเล็กลง แต่ไม่หายไป ถ้าไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

“เนื้องอกมดลูก” เจอกันบ่อย เป็นกันมาก
ปัจจุบันผู้หญิง 1 ใน 4-5 ราย จะพบว่าเป็นเนื้องอกชนิดนี้ ส่วนใหญ่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ในสมัยก่อนพัฒนาการทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าเหมือนสมัยนี้ ถ้าผู้ป่วยเป็นเนื้องอกมดลูกขนาดยังไม่ใหญ่มากนัก คือมีขนาดของก้อนเนื้อโตประมาณ 3-4 ซม. ก็จะตรวจไม่พบ แต่หากมีเนื้องอกมดลูกโตขนาดเท่ากับคนตั้งครรภ์ได้ 2-3 เดือน ถึงจะระบุได้ว่าเป็นเนื้องอกมดลูก

สมัยนี้วงการแพทย์มีเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัย การตรวจโดยการทำการอัลตราซาวด์จะสามารถเห็นได้ชัดเจนว่ามีก้อนเนื้อที่ผิดปกติปรากฏอยู่ ทำให้วินิจฉัยได้เร็วขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนเพิ่งตรวจพบเนื้องอกมดลูกในผู้ป่วยวัย 24 ปี ซึ่งมีก้อนเนื้อใหญ่ประมาณ 10 ซม. ซักถามประวัติก็ไม่พบว่ามีคนใครอบครัวเป็นเนื้องอกมดลูก ได้แต่ข้อมูลว่าเป็นคนชอบบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด พวกไก่ทอดต่าง ๆ อาหารประเภทนี้จะไปกระตุ้นฮอร์โมน ทำให้เนื้องอกมดลูกที่เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกที่มีอยู่แล้วยิ่งเจริญเติบโตเร็วผิดปกติ

เป็นไปได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของผู้ที่ป่วยเป็นเนื้องอกมดลูก อาจเป็นเพราะการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ซึ่งไปกระตุ้นเนื้องอกมดลูกที่เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญเติบโตเร็วผิดปกติ อีกทั้งปัจจุบันการแพทย์มีเครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้สามารถตรวจพบได้เร็วขึ้น จึงพบว่าเป็นเนื้องอกชนิดนั้นมากขึ้น โดยปกติแล้วมดลูกจะมีขนาดโตขึ้นตามวัย เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็จะหยุดเติบโตและมีขนาดปริมาตรประมาณ 80-100 ซี.ซี หรือมีขนาดเท่ากับลูกชมพู่ หากมดลูกโตผิดปกติคือมีขนาดเท่ากับลูกแอปเปิ้ลลูกใหญ่ หรือเหมือนคนที่มีอายุครรภ์ได้ 3 เดือน ก็สามารถเริ่มคลำพบได้ทางหน้าท้อง เนื้องอกมดลูกที่ตรวจพบมีทั้งขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด ไปจนถึงขนาดเท่ากับศีรษะทารก ซึ่งผู้ป่วยที่มีเนื้องอกก้อนโตบางรายคิดว่าตัวเองอ้วนด้วยซ้ำไปเพราะไม่มีอาการผิปกติแต่อย่างใด แต่บางรายจะรู้สึกเจ็บปวดมากถึงขนาดตัวงอ เนื่องจากเส้นพังผืดที่ยึดมดลูกอาจถูกดึงรั้งทำให้มดลูกเอียง หรือถ่วงมดลูกไปทางใดทางหนึ่ง หรือก้านของมดลูกบิด ผู้ป่วยบางรายมีประจำเดือนออกมามากจนทำให้เกิดอาหารโลหิตจาง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และซูบซีด บางรายพบว่ามีอาหารปวดหลัง บางรายมาพบหมอด้วยปัญหาการมีบุตรยาก ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากก้อนเนื้อไปปิดกั้นทางเดินของตัวอสุจิไม่ให้เข้าไปในท่อนำไข่ได้ หรือก้อนเบียดจนโพรงมดลูกผิดรูปไป ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถมาฝังตัวเจริญเติบโตในมดลูกได้

เพราะเนื้องอกมดลูกไม่ใช่เนื้อร้าย จึงไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการ “ผ่าตัด” ทุกรายไป
อย่างที่บอกไปแล้วว่า โอกาสของก้อนเนื้อที่จะกลายเป็นมะเร็งนั้นมีน้อยมาก หากผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด แพทย์ก็จะไม่แนะนำให้ผ่าตัด

อาการเนื้องอกนี้สามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย และมีอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทเนื้อร้าย กับประเภทเนื้อไม่ร้าย เนื้องอกมดลูกจัดอยู่ในกลุ่มเนื้องอกชนิดไม่ร้าย ดังนั้นหากตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกมดลูกก็ไม่ต้องตกใจ เพราะในขั้นต้นนั้นหมอมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยเฝ้าติดตามดูการเติบโตของเนื้องอกไปเรื่อย ๆ ก่อน หากขนาดโตไม่มาก เมื่อปล่อยไว้จนผู้ป่วยอายุมากเข้าสู่วัยหมดระดู และระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง ขนาดของก้อนเนื้อนั้นก็จะเล็กลง

ขณะเดียวกันหากผู้ป่วยรับประทานสิ่งที่เข้าไปกระตุ้นฮอร์โมนเอสโตรเจนจะทำให้เซลล์ของกล้ามเนื้อมดลูกเติบโตได้ไว เพราะผู้เขียนเคยรักษาผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกชนิดนี้ทั้งบ้าน ซึ่งมีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารที่ไปกระตุ้นฮอร์โมนดังกล่าว หรือผู้ป่วยบางรายกินยาคุมชนิดทีมีฮอร์โมนกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง สิ่งดังกล่าวเหล่านี้อาจไปกระตุ้นเนื้องอกโตขึ้นได้ สตรีที่เข้าสู่วัยทองแล้วก็เช่นกัน ถ้าจำเป็นต้องกินฮอร์โมนชดเชยก็ควรเลือกชนิดที่เหมาะสม เพราะแทนที่จะใช้วิธีรักษาด้วยการเฝ้าติดตามดูการเติบโตของเนื้องอกนั้นไปเรื่อย ๆ แต่อาจต้องลงท้ายโดยการผ่าตัดก็ได้

การรักษาเนื้องอกมดลูกด้วยการ “ผ่าตัด” หรือ “ไม่ผ่าตัด” ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในอาการของผู้ป่วย และขนาดของเนื้องอกที่มีผลกระทบกับอวัยวะข้างเคียงอื่น ๆ รวมทั้งการเติบโตของก้อนเนื้อที่เร็วผิดปกติ ซึ่งก่อนจะตัดสินใจรักษาด้วยวิธีใด ทั้งผู้ป่วยและแพทย์ต้องคำนึ่งถึงความเหมาะสมที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยในแต่ละราย

เนื้องอกมดลูกในผู้ป่วยแต่ละคนไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีเดียวกัน การเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับจำนวน ขนาด ตำแหน่ง และความเร็วในการเติบโตของเนื้องอก ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงแตกต่างกัน ปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษาหลายวิธี โดยแพทย์จะให้คำปรึกษาแนะนำวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย หลังจากที่ได้ตรวจอย่างละเอียดแล้ว

อย่าวิตกกังวล ให้เฝ้าติดตามความเปลี่ยนแปลงของเนื้องอกไปก่อน
เนื่องจากปัจจุบันแพทย์มีเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยและเฝ้าติดตามดูแลขนาดของก้อนเนื้องอกได้อย่างแม่นยำถูกต้อง การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์เป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติรุนแรง ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยเลี่ยงการผ่าตัดไปได้ หากเนื้องอกนั้นไม่ได้ถูกกระตุ้นให้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ประคับประคองให้เนื้องอกอยู่กับผู้ป่วยไปจนกระทั่งถึงวัยหมดประจำเดือน ก็ทำให้เนื้องอกดังกล่าวเล็กลงเองได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้องอกมีระดับลดลง

สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาฮอร์โมนบางประเภท ควรเฝ้าติดตามเนื้องอกอย่างใกล้ชิด โดยปกติแล้วแพทย์จะนัดตรวจติดตามดูผลเป็นระยะทุก 3-6 เดือนหรือ 1 ปี ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ไปคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น หากขนาดของเนื้องอกโตขึ้น หรือผู้ป่วยที่ใช้ยาฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน ก็อาจต้องลดปริมาณของฮอร์โมนลง

ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกมดลูกจึงไม่ควรวิตกกังวลจนเกินเหตุ เพราะเนื้องอกมดลูกเป็นสิ่งที่สตรีควรระวังไว้เท่านั้น เป็นแล้วสามารถรักษาให้หายได้ และไม่ใช่โรคร้ายที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยทันที

ที่มา : พ.อ. นพ.พิบูลย์ ลีละพัฒนะ. (มีนาคม 2553). เนื้องอกมดลูก “ผ่า” “ไม่ผ่า”: เนื้องอกมดลูกไม่ใช่เรื่องร้าย. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, น. 20-27.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์สุขภาพสตรี
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 11/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

นพ. พิบูลย์ ลีละพัฒนะ

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านรักษาผู้มีบุตรยาก

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ