• banner

นิ้วล็อค เกิดได้ รักษาได้

นิ้วล็อค โรคที่คนยุคใหม่เป็นกันมากพอสมควร พบได้จากการใช้มือต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมักจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานได้ยาก หรือยุ่งจนลืมปรับเปลี่ยนท่าทางและหยุดพัก บ่อยครั้งจึงปล่อยให้อาการของโรคนี้มีอาการเรื้อรัง และหนักมากขึ้น
    
นิ้วล็อค คืออะไร
โรคนิ้วล็อค หรือบางคนเรียกว่า โรคนิ้วสะดุด ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลย์กันระหว่างปลอกหุ้มเอ็นกับเส้นเอ็น ทำให้เกิดนิ้วล็อค โดยธรรมชาติเส้นเอ็นจะเคลื่อนไหวผ่านปลอกเส้นเอ็นโดยสะดวก เมื่อมีการเคลื่อนไหวของนิ้วมือ ถ้าตัวปลอกหุ้มเส้นเอ็นหรือตัวเส้นเอ็นมีการหนาตัว จะทำให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างเส้นเอ็นกับปลอกเส้นเอ็น ทำให้เกิดอาการนิ้วสะดุดหรือล็อคได้

เกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุที่ทำให้เกิดการหนาตัวของปลอกหุ้มเอ็นจริงๆ คงไม่ทราบ แต่เชื่อว่าเกิดจากการเสื่อมของปลอกเยื่อหุ้มเส้นเอ็น มักจะพบในคนอายุ 40-50 ปี โดยที่ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย 2-5 เท่า นิ้วที่พบได้บ่อยที่สุดคือ นิ้วหัวแม่มือ รองลงมานิ้วนาง นิ้วกลาง นิ้วก้อย และนิ้วชี้ตามลำดับ พบร่วมกับโรครูมาตอยด์หรือเบาหวานได้ พบความสัมพันธ์ของการใช้งานของมือที่ต้องใช้นิ้วมือกำบ่อยๆ เช่น การใช้กรรไกร งานซักผ้า การใช้ไขควง เกร็งนิ้วมือขณะทำงาน ใช้สมาร์ทโฟนติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือแม้แต่การเล่นกีฬา เช่น ตีกอล์ฟที่ผิดวิธีโดยกำไม้แน่นไป เป็นต้น 

อาการและความรุนแรง
ความรุนแรงของโรคเริ่มจากมีอาการเจ็บตรงโคนนิ้วหรือปลายนิ้วร้าวลงมาที่ข้อกลางของนิ้วได้ จะมีอาการสะดุดเวลากำเหยียดนิ้ว ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการล็อคในท่างอนิ้ว คือ สามารถกำนิ้วได้ แต่เวลาเหยียดต้องใช้นิ้วมืออื่นช่วย หรือบางคนค้างอยู่ในท่าเหยียด ซึ่งพบน้อยกว่าและกำนิ้วมือไม่ได้ และอาการสุดท้ายจะมีอาการข้อนิ้วยึดติดขยับไม่ได้ 

การรักษาอย่างถูกวิธีในแต่ละระดับความรุนแรง
การรักษาในขั้นแรกคงเริ่มจากการแนะนำให้พักนิ้วมือนั้นๆ ร่วมกับการทานยาต้านการอักเสบ ถ้าเริ่มมีอาการล็อคของนิ้ว การรักษามักจะใช้ยาสเตรอยด์เฉพาะที่ฉีด ซึ่งมักจะได้ผลดีประมาณ 70-80% โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นมาไม่นาน น้อยกว่า 4 เดือนไม่มีโรครูมาตอยด์หรือเบาหวานร่วมด้วย

สำหรับการผ่าตัด ข้อบ่งชี้เมื่อรักษาทางยาและฉีดยาไม่ดีขึ้น ซึ่งการผ่าตัดคือ การตัดปลอกหุ้มเอ็นออก โดยมี 2 วิธี คือ
• ผ่าตัดโดยเปิดแผลราว 1.5 ซม. ตรงโคนนิ้วแล้วเข้าไปตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นนั้นๆ วิธีนี้ข้อดีคือ เห็นพยาธิสภาพได้ชัดเจน สามารถตัดปลอกหุ้มเอ็นได้ทั้งหมด ข้อเสียคือ มีการเย็บและตัดไหม
• ผ่าตัดแบบไม่เปิดแผล คือใช้เข็มหรือมีดหรืออุปกรณ์บางอย่างเข้าไปตัดปลอกหุ้มเอ็น ซึ่งวิธีนี้ข้อดีคือ แผลเล็ก ไม่ต้องเย็บแผล แต่เนื่องจากวิธีนี้ทำโดยไม่เห็น จึงมีข้อเสียคือ อาจจะตัดปลอกหุ้มเอ็นไม่หมดหรืออาจทำให้ตัวเส้นเอ็นฉีกขาดและอันตราย ที่สำคัญที่น่ากลัวก็คือ โดนเส้นประสาทที่เลี้ยงนิ้วนั้น โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ซึ่งเส้นประสาทอยู่ใกล้กับปลอกเส้นเอ็นมาก และถ้าการวินิจฉัยโรคไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยก็จะไม่หายจากโรคนั้น ผู้ที่จะเลือกรับรักษาโดยวิธีไหน ควรจะศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนรวมทั้งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยตรง

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยในการรักษาเบื้องต้น
แนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มรักษาตั้งแต่มีอาการเจ็บที่โคนนิ้ว หรือมีอาการสะดุดของเส้นเอ็น เนื่องจาก 70% ของผู้ป่วยสามารถรักษาได้โดยการกินยาต้านการอักเสบหรือฉีดยา รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้มือที่ต้องกำแรงๆ และบ่อยๆ โดยไม่รับการผ่าตัด 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคกระดูกและข้อ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 09/05/2024

แพทย์ผู้เขียน

นพ. สมศักดิ์ ลีเชวงวงศ์

img

ความถนัดเฉพาะทาง

ศัลยแพทย์ทางด้านโรคกระดูกและข้อ

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา