• banner

มารู้จักโรคปวดเส้นประสาทใบหน้ากันเถอะ

เคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมถึงมีอาการคล้ายไฟฟ้าช็อตบนใบหน้าเป็นจังหวะ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทเส้นที่ 5 และหากมีอาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักโรคปวดเส้นประสาทใบหน้ากันค่ะ

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณใบหน้าเกิดรับความรู้สึกรุนแรงผิดปกติ เช่น เมื่อถูกกระตุ้น ความรู้สึกที่ควรจะสัมผัสเบาๆ ก็กลายเป็นเจ็บปวด โดยส่วนใหญ่เป็นในวัยกลางคนขึ้นไป พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

อาการปวดเส้นประสาทใบหน้าเป็นอย่างไร
โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าจะมีอาการปวดที่ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่ง หรืออาจปวดบริเวณแก้ม กระพุ้งแก้ม เหงือกหรือฟันด้านใดด้านหนึ่ง อาการจะเกิดอย่างเฉียบพลัน รุนแรง เหมือนถูกเข็มแทง ไฟช็อตหรือปวดแสบร้อน อาการจะเป็นพักๆ ช่วงสั้นๆ ไม่กี่วินาที แต่จะเป็นซ้ำๆ ถี่ๆ ตลอดทั้งวัน ทำให้ผู้มีอาการได้รับความเจ็บปวดอย่างมาก บางรายไม่สามารถสัมผัสบริเวณที่มีอาการปวดได้ เช่น ไม่สามารถล้างหน้า แปรงฟัน โกนหนวด บางรายไม่สามารถดื่มน้ำหรือเคี้ยวอาหารได้ บางรายเข้าใจว่าปวดฟัน เมื่อไปพบทันตแพทย์ตรวจก็ไม่พบความผิดปกติ หรือฟันผุ รักษาแล้วอาการปวดก็ไม่ดีขึ้น

สาเหตุ
เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 โดนกดทับจากหลอดเลือดสมอง ในบริเวณก้านสมอง นอกจากนี้ยังพบว่าอาจเกิดจากเนื้องอกปลอกหุ้มเส้นประสาทแข็ง รูปร่างกะโหลกผิดปกติหรือบ่อยครั้งที่ไม่พบสาเหตุ

การวินิจฉัย
เมื่อทำการตรวจค้นทางรังสีวินิจฉัยในผู้ป่วยโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า สามารถระบุสาเหตุได้ประมาณ 15% จึงแนะนำให้ทำการตรวจค้นทางรังสีวินิจฉัยในกรณี ดังนี้

ผู้ป่วยที่อายุน้อยขณะมีอาการของโรค
• อาการปวดบริเวณเส้นประสาทใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก หนังตาบน เยื่อบุตาและกระจกตา จมูก
• ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา
• การตรวจเส้นประสาทคู่หน้าด้วยการนำกระแสไฟฟ้าพบความผิดปกติ

การรักษา
การรักษาด้วยยา
ยาที่ให้ผลในการรักษาที่ดีที่สุด คือ คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือแพ้ยา แพทย์อาจแนะนำตัวเลือกทางยาอื่น เช่น อ๊อกคาร์บามาซีปีน (Ox Carbamazepine) บาโคเฟน (Baclofen) ลาโมไทจีน (Lamotrigine) พิโมซาย (Pimozide) หรือแพทย์อาจใช้ยาร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เพื่อระงับปวด

ระยะเวลาในการให้ยา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาของอาการปวด หากอาการปวดเส้นประสาทใบหน้าดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ลดขนาดยาลง และถ้าไม่มีอาการปวดอีก อาจหยุดยาในระยะถัดไปได้ แต่ถ้าอาการปวดกลับมาเป็นซ้ำ ก็จะเริ่มให้ยาใหม่ เนื่องจากการรักษาด้วยยา เป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น ไม่ได้รักษาที่สาเหตุ ดังนั้นอาการอาจไม่หายขาด เมื่อหยุดยาก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้

การรักษาด้วยการผ่าตัด
ในการรักษาด้วยการผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยดื้อต่อการรักษาทางยา หรือเกิดจากสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้ เช่น เนื้องอกสมอง หลอดเลือดสมองกดเส้นประสาทใบหน้ามาก โดยมีเทคนิคที่ใช้ในการผ่าตัด 3 แบบ 
• Percutaneous procedure on the Gassarion ganglion เป็นการทำลายปมประสาทบนใบหน้า โดยอาจใช้ความร้อน สารเคมี เช่น Glyceral
• Gamma-Knife surgery เป็นการใช้รังสีรักษาทำลายรากประสาทบริเวณใบหน้า
• Microvascular decompression เป็นการผ่าตัดสมอง เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งหลอดเลือดที่กดทับเส้นประสาทใบหน้า หรือนำก้อนเนื้องอกที่กดทับออกมาเป็นการรักษาที่สาเหตุโดยตรง วิธีนี้จึงให้ผลดีที่สุด

โดยหลังผ่าตัด โอกาสที่จะกลับมาปวดใหม่ พบได้บ่อยมากกว่า 50% หลังการผ่าตัดไปแล้ว 5 ปี

การปฎิบัติตัวหลังเริ่มการรักษาด้วยยา
เนื่องจากยาที่ใช้รักษาส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มยากันชักจึงควรเฝ้าสังเกตอาการตัวเอง โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ มึน งง ง่วง ซึม วิงเวียน เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ เพราะฉะนั้นในระยะแรก แพทย์จึงให้ยาในขนาดต่ำๆก่อนเสมอ และค่อยๆปรับยาเพิ่มขึ้นตามอาการปวด และคงขนาดยานั้นไว้ ถ้าอาการคงที่แล้ว 
    
นอกจากผลข้างเคียงแล้ว ผู้ป่วยยังต้องระวังเรื่องการแพ้ยาอย่างรุนแรง เช่น อาการผื่นลอกทั้งตัว ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ ควรหยุดยาที่ทานทันทีและรีบมาพบแพทย์ทันที 

การปรับยา ไม่ควรปรับยาตามอาการเอง เพราะขนาดยาที่ให้ผลในการรักษา และขนาดที่เป็นพิษนั้นอยู่ในช่วงที่ใกล้กันมาก จึงไม่แนะนำให้ปรับขนาดยาเอง

หากต้องได้รับการรักษาด้วยยาอื่นๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอ ว่าทานยารักษาโรคนั้นๆอยู่

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777 
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคระบบประสาท
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 22/07/2024

แพทย์ผู้เขียน

พญ. สิริรัตน์ ลิ้มวนานนท์

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคระบบประสาท

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ