• banner

ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้รับการผ่าตัดรักษาต้อกระจก

โรคต้อกระจก เป็นปัญหาสายตาที่เกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อาการหลักๆ ส่งผลให้สายตาพร่ามัว ข้างใดข้างหนึ่ง ไม่มีอาการเจ็บหรือระคายเคือง การผ่าตัดต้อกระจกเป็นการรักษาเพียงวิธีเดียวที่จะช่วยให้กลับมามองเห็นชัดอีกครั้ง สำหรับผู้เข้ารับการรักษา วันนี้เรามีข้อมูลข้อแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับการผ่าตัดรักษาต้อกระจก โดย พญ. ชญาณี อิงคากุล จักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านต้อหิน มาบอกเล่าให้ฟังค่ะ


ต้อกระจก เป็นโรคที่เกิดจากสภาวะเสื่อมของร่างกายพบบ่อยในผู้สูงอายุ เมื่อจักษุแพทย์ทำการตรวจและวินิจฉัยโรคต้อกระจกแล้ว ท่านสามารถเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมของท่านเพื่อทำการนัดหมายกับจักษุแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดต่อไป ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสภาพร่างกาย ช่วงเวลาที่สะดวกและควรมีเวลาพักผ่อนหลังผ่าตัด

การปฏิบัติตัวก่อนการผ่าตัด

1.วัดค่าเลนส์ทดแทน โดยใช้เครื่องคำนวณคอมพิวเตอร์มาตรฐานสูงในการตรวจวัด
2.สำหรับท่านที่มีโรคประจำตัว มีความผิดปกติใดๆ มีปัญหาเรื่องการนอนราบหรือมีประวัติแพ้ยา ควรแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบ เพื่อพิจารณาส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางร่วมกันดูแลรักษา ถ้ามีประวัติรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ควรงดก่อนผ่าตัด 1 สัปดาห์ (ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้รับประทานยาดังกล่าว)
3.รับประทานยาประจำที่ไม่ใช่ยาในข้อที่ 2 ได้ตามปกติ รับประทานยาที่แพทย์แจ้งว่าทานได้และนำยามาโรงพยาบาลด้วย
4.หยอดยาป้องกันการติดเชื้อ 1-3 วัน ก่อนการผ่าตัดและควรเก็บยาในตู้เย็นช่องปกติ (เฉพาะผู้ป่วยบางท่านที่จักษุแพทย์สั่ง)
5.ฝึกนอนราบและคลุมโปง เพื่อให้เกิดความเคยชินคล้ายกับการผ่าตัด
6.เช้าวันผ่าตัดให้ อาบน้ำ สระผม ห้ามแต่งหน้าหรือใส่น้ำมันใส่ผม เจล สเปรย์ งดการติดขนตาปลอม
7.ในวันผ่าตัดถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น เคืองตา ตาแดง มีไข้ ไอ ท้องเสีย มีผื่นหนองตามร่างกาย งูสวัสดิ์ หรือติดเชื้อต่างๆ ควรแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบก่อน เพื่อประเมินความพร้อมของสภาพร่างกายก่อนการผ่าตัด

การปฏิบัติตัวขณะผ่าตัด

1. ก่อนเข้าห้องผ่าตัดให้ผู้ป่วยเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย
2. ระหว่างการผ่าตัดควรนอนนิ่งๆ ผ่อนคลาย ห้ามขยับหน้ารวมทั้งส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เพราะอาจกระทบกระเทือนถึงตาได้ ถ้าจำเป็นขยับไอหรือ จาม ต้องแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบก่อน เพื่อนำเครื่องผ่าตัดออกจากตา
3. ขณะผ่าตัด อาจได้ยินเครื่องสลายต้อกระจกดังเป็นระยะๆ
4. ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 30 นาที – 1ชั่วโมง ขึ้นกับสภาพของต้อกระจก
5. หลังผ่าตัดมีการปิดตาและใส่ที่ครอบตาไว้ ห้ามเปิดเองก่อน โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้บอกช่วงเวลาที่จะเปิดตาเพื่อเริ่มหยอดยาตาต่อไป

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต้อกระจก (วันแรก)

1. หลีกเลี่ยงการก้มหน้า การไอ จามแรงๆ หรือการเบ่งถ่าย
2. หลังการผ่าตัด ห้ามน้ำเข้าตาตามระยะเวลาที่จักษุแพยท์สั่ง (ห้ามล้างหน้า ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ เช็ดหน้าแทน)
3. ห้ามเปิดตา ถ้ายังไม่ต้องใช้ยาหยอดตา
4. รับประทานยาตามที่จักษุแพทย์กำหนด
5. พักผ่อนและทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่มี ฝุ่น ลมหรือสารเคมีที่จะกระทบเข้าตาได้ตามปกติ
6. มาพบจักษุแพทย์ตามนัด เพื่อเปิดตาและตรวจหลังผ่าตัด นำยาทั้งหมดมาด้วยทุกครั้ง ให้ญาติที่จะเป็นผู้ดูแลมาด้วย เพื่อรับการแนะนำการทำความสะอาดตาและหยอดยาตา

ปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดต้อกระจก

1. เช็ดทำความสะอาดตา ด้วยสำลีชุบน้ำเกลือปลอดเชื้อหรือกระดาษฆ่าเชื้ออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
2. ผู้ป่วยควรใส่ที่ครอบตาเพื่อป้องกันการกระทบกระแทกโดยบังเอิญ โดยเฉพาะช่วงเวลานอนในสัปดาห์แรก
3. หลีกเลี่ยงกระทบกระแทกตานาน 1 สัปดาห์ ให้ปิดฝาครอบพลาสติกไว้ตลอด 24 ชั่วโมง นาน 1 สัปดาห์ (ตอนกลางวันถ้าไม่อยากครอบตาอาจสวมแว่นตากันแดด กันลมที่ป้องกันดวงตาโดยรอบหรือใส่ที่ครอบตาเพื่อป้องกันการกระทบกระแทกอย่างน้อย 1 สัปดาห์)
4. ถ้าจะสระผม ให้นอนสระแบบสระที่ร้าน
5. ห้ามลงว่ายน้ำ 1 เดือน
6. ห้ามนอนคว่ำ นอนตะแคงได้ตามปกติ แต่อย่านอนทับตาข้างที่ผ่าตัดเป็นระยะเวลานาน 1 เดือน
7. ห้ามขยี้ตา หลีกเลี่ยงฝุ่น ผง  ควันเข้าตา
8. ทำกิจวัตรประจำวันและรับประทานอาหารได้ตามปกติ
9. หยอดยาและใช้ยาป้ายตา ตามเวลาที่จักษุแพทย์กำหนด
10. มาพบจักษุแพทย์ตามนัดและนำยามาด้วยทุกครั้ง
11. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดตามาก ตาแดง ตามัวลงกว่าเดิม โดนกระแทกบริเวณที่ผ่าตัด ให้รีบมาพบจักษุแพทย์ทันที ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด หรือโทรปรึกษาขอคำแนะนำได้ที่คลินิกตา โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777 
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคตา
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 12/07/2022

แพทย์ผู้เขียน

พญ. ชญาณี อิงคากุล

img

ความถนัดเฉพาะทาง

จักษุแพทย์ทางด้านต้อหิน

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ