• banner

ไขข้อข้องใจเรื่อง “ฟันสึก”

สาเหตุหนึ่งที่ผู้ป่วยมาพบทันตแพทย์นอกจากอาการปวดฟันแล้วคืออาการเสียวฟันจากฟันสึก ซึ่งในบางรายได้ดูแลทำความสะอาดช่องปากอย่างดีแล้ว เหตุใดจึงเกิดฟันสึกได้

ฟันสึก คือ การที่ผิวฟันมีการกร่อนทีละน้อยแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งบริเวณที่พบฟันสึกบ่อย คือ ด้านบดเคี้ยวและผิวฟันบริเวณรอยต่อกับเหงือกที่เรียกว่าคอฟัน

สาเหตุของฟันสึก
1. ฟันสึกจากการบดเคี้ยว (attrition) หรือการกัดฟันรุนแรงที่เกิดขึ้นจนเป็นนิสัย เช่น การชอบทานของแข็ง กัดน้ำแข็ง นอนกัดฟัน

2. ฟันสึกจากการเสียดสี (abrasion) ได้แก่ การสูญเสียเนื้อฟันเนื่องจากการมีแรงเสียดสีที่เกิดขึ้นบริเวณคอฟัน เชื่อว่าการแปรงฟันที่ไม่ถูกต้องเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดมีควาสัมพันธ์กับการสึกเหตุเสียดสี โดยมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น แรงที่ผู้ป่วยใช้ในการแปรงฟันและเทคนิคในการแปรงฟัน กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยแปรงฟันโดยใช้แรงมาก จะส่งเสริมให้เกิดการสึกได้มาก การเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของผงขัดมากหรือใช้แปรงสีฟันขนแข็งจะพบการสึกได้มากกว่า นอกจากนั้นพบว่าการใช้ไม้จิ้มฟันบริเวณซอกฟันเป็นประจำจะเกิดการเสียดีเกิดเป็นรอยสึกได้เช่นกัน ซึ่งมักพบรอยสึกทางด้านข้างของตัวฟันที่ใช้ไม้จิ้มฟันเป็นประจำ หรือาจพบรอยสึกจากการเสียดสีจากตะขอฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้ (removeable partial denture)

ลักษณะทางคลินิกของรอยโรค โดยทั่วไปมักพบมีขอบคมชัดเจน ผิวเรียบมันและแข็ง ในบางครั้งอาจพบลักษณะพื้นผิวเป็นรอยขูด นอกจากนั้นการสึกเหตุเสียดสีมักไม่พบการสะสมของคราบจุลินทรีย์ โดยมักพบว่ามีเหงือกร่น (gingival recession) ร่วมด้วยและมักจะไม่พบมีการเปลี่ยนสีของผิวฟัน ตำแหน่งของรอยสึกพบได้บ่อยบริเวณฟันเขี้ยว ถึงฟันกรามซี่แรก ฟันบนพบได้บ่อยกว่าฟันล่าง

3. ฟันสีกจากการสึกกร่อน (erosion) คือ การสูญเสียเนื้อฟันจากสารเคมีโดยเฉพาะสารเคมีที่เป็น กรด ซึ่งไม่ได้เป็นกรดที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ สาเหตุที่เกิดกรดขึ้นในช่องปากมี 2 สาเหตุ คือ
• สาเหตุจากภายในร่างกาย (intrinsic factors) กรดที่เกิดจากอาการอาเจียนเป็นประจำในผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบ เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคไต โรคพิษสุราเรื้อรัง ร่วมกับโรคกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยบูลลิเมีย เนอร์โวชา หรือในสตรีมีครรภ์ที่มีการอาเจียนจากการแพ้ท้อง กรดที่ออกมาจากกระเพาะอาหารขณะอาเจียนมีปริมาณมาก ปริมาณและคุณภาพของน้ำลายจะไม่เพียงพอที่จะชะล้างความเป็นกรดในช่องปากได้ เพราะน้ำลายจะมีสภาพเป็นกรดอยู่แล้วและมีความหนืดมาก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ ลักษณะฟันจะลึกเว้าเป็นรูปถ้วย ตำแหน่งที่มักพบ คือ ด้านกัดสบของฟันหลังและด้านลิ้นของฟันหน้าบน
• สาเหตุจากภายนอกร่างกาย (extrinsic factors) เกิดจากการได้รับอาหารหรือยาที่มีความเป็นกรดสูง เช่น ผลไม้ที่มีความเป็นกรด ผู้ป่วยที่ชอบอมลูกอมเปรี้ยวหรือการอมวิตามินซีเป็นประจำ นอกจากนี้การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบเป็นคาร์บอเนต เช่น น้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ การได้รับสารเคมีจากโรงงาน นักว่ายน้ำในสระที่ใช้คลอรีนเป็นสารฆ่าเชื้อโรค

ลักษณะทางคลินิกคือรอยโรคเป็นแอ่งเว้า ค่อนข้างกว้าง ไม่มีขอบเขตชัดเจน ตำแหน่งของรอยโรคที่พบจะแตกต่างไปตามบริเวณที่สัมผัสกรด เช่น การสึกกร่อนจากกรดในโรงงานมักพบการสึกกร่อนด้านริมฝีปากของฟันหน้าบนบริเวณที่ริมฝีปากปิดไม่สนิท นักว่ายน้ำมักพบรอยสึกที่บริเวณด้านแก้มของฟันหน้าการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูงจะพบรอยสึกบริเวณฟันหน้าบน การบริโภคผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวทั้งชิ้นมักจะทำให้เกิดการสึกกร่อนบริเวณฟันหน้า การดื่มน้ำผลไม้จะมีผลทำให้เกิดการสึกกร่อนบริเวณฟันกรามน้อยและฟันหลังมากกว่า

4. ฟันสึกบริเวณคอฟันจากฟันซี่นั้นได้รับแรงบดเคี้ยวมากเกินไป (Abfraction) ในกรณีที่การสบฟันไม่เป็นไปตามปกติ คือ มีแรงกัดสบในตำแหน่งผิดปกติที่ทำให้เกิดแรงกระทำ ทางด้านข้างซึ่งทำให้เกิดการบิดงอของตัวฟัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเค้นที่ตัวฟันขึ้นในสองทิศทาง คือ ความเค้นจากแรงกดมักจะเกิดในด้านเดียวกับด้านที่ฟันบิดงอเข้ามาและความเค้นจากแรงดึงจะเกิดด้านตรงข้ามกับด้านที่มีการบิดงอ ซึ่งมักจะเป็นบริเวณใกล้เคียงกับรอยต่อของเคลือบฟันและเคลือบรากฟัน และเนื่องจากเคลือบฟันและเนื้อฟันมีความสามารถทนทานต่อแรงกดได้ดีกว่าแรงดึง จึงทำให้เกิดรอยแยกระหว่างผลึกของผิวฟันบนด้านที่เกิดความเค้นจากแรงดึงเกิดเป็นรอยแยกขนาดเล็ก ถ้าหากฟันยังได้รับแรงเหล่านี้อยู่ก็จะทำให้รอยแยกขยายตัวออกไป เกิดรอยร้าวและทำให้ผิวเคลือบฟันมีการแตกหลุด

ผลเสียของฟันสึก
• มักพบอาการเสียวฟันที่บริเวณฟันสึก
• อาจมีอาการปวดฟันหรือฟันตายได้ หากปล่อยให้สึกใกล้โพรงประสาทฟันหรือทะลุโพรงประสาทฟัน
• กรณีฟันสึกด้านบดเคี้ยวอย่างรุนแรงจะส่งผลต่อระยะห่างระหว่างขากรรไกรบน-ล่าง อาจส่งผลให้ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกรได้

การป้องกันฟันสึก
• พยายามลดความถี่และปริมาณการบริโภคของขบเคี้ยวที่มีผลต่อการสึกของฟัน
• คนไข้ที่นอนกัดฟันอาจต้องทำเครื่องมือใส่กันเวลานอนไม่ให้กัดฟัน เครื่องมือนี้เรียกว่า Occlusal Splint
• เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนิ่ม พยายามฝึกแปรงฟันให้ถูกวิธี แปรงให้ทั่วๆ และไม่ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดหยาบเกินไป
• ควรลดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือเปรี้ยวจัด เพราะอาจมีผลทำให้เคลือบฟันค่อยๆ สึกออกจากผิวฟัน ทำให้เนื้อฟันถูกเปิดออก ทำให้เกิดความรู้สึกเสียวฟันง่ายขึ้น
• นักว่ายน้ำอาจต้องใส่ฟันยางเพื่อป้องกันไม่ให้คลอรีนกัดฟัน

การรักษาฟันสึก
• กรณีฟันสึกไม่ลึกสามารถบรรเทาอาการเสียวฟันได้โดยใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารลดการเสียวฟัน
• กรณีฟันสึกมากแต่ยังไม่ถึงโพรงประสาทฟัน สามารถอุดฟันหรือทำครอบฟัน
• กรณีฟันสึกลึกถึงโพรงประสาทฟัน สามารถเก็บฟันไว้ โดยการรักษารากฟันและครอบฟัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์ทันตกรรม
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 10/07/2024

แพทย์ผู้เขียน

ทพญ. ปวริศา ยวงสุวรรณ

img

ความถนัดเฉพาะทาง

ทันตแพทย์ทั่วไป

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

ทันตกรรมประดิษฐ์

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ