• banner

แน่นหน้าอก จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่

แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก อาจเป็นสัญญาณที่บอกถึงความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นในร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ หากคุณ หรือคนใกล้ชิดมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก  และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้อันตรายถึงเสียชีวิต หรืออาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้  

อาการแน่นหน้าอก อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ โรคปอด โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร นิ่วในถุงน้ำดี ไปจนถึงโรคหัวใจ ซึ่งอันตรายและความรุนแรงจะแตกต่างกันไปในแต่ละโรค ตั้งแต่แน่นหน้าอกชนิดที่ก่อให้เกิดความรำคาญเป็นหลัก แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรงอะไร เช่น แน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้ออักเสบไปจนถึงแน่นหน้าอกที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ได้แก่ การแน่นหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น

ผู้ป่วยหลายรายสามารถอธิบายอาการของตนเองได้อย่างชัดเจนก็จะเป็นตัวช่วยให้การวินิจฉัย หรือการส่งตรวจเพิ่มเติมง่ายขึ้น และไม่ซับซ้อน เช่น ผู้ป่วยบางรายเล่าประวัติให้ฟังว่า เจ็บหน้าอกทุกครั้งหลังมื้ออาหาร ลักษณะแสบร้อนขึ้นมาบริเวณหน้าอก โดยเฉพาะอาหารมื้อหนัก รับประทานแล้วนอนดูทีวีก็จะเจ็บ เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายเล่าอาการแล้วก็วินิจฉัยต่อให้เลย สงสัยจะเป็นกรดไหลย้อน หรือบางรายเล่าว่าไปยกของหนักผิดท่ามา หลังจากนั้นจะเจ็บแปล๊บบริเวณหน้าอกเหมือนมีของแหลมมาปัก เวลาเจ็บถ้าขยับตัวก็จะเจ็บมาก ต้องอยู่นิ่งๆ จึงจะไม่เจ็บ บางรายสามารถชี้จุดที่เจ็บได้ชัดเจน น่าจะเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น แต่ถ้าให้ประวัติว่าแน่นหน้าอกทุกครั้งหลังออกแรง โดยเฉพาะเดินขึ้นที่สูง ลักษณะแน่นแบบหนักๆ กลางหน้าอกร้าวไปไหล่ข้างซ้าย หรือกรามข้างซ้าย พักแล้วหาย ลักษณะเช่นนี้มักจะแน่นจากหลอดเลือดหัวใจตีบ

เรามีปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่
ไม่ใช่ทุกรายที่สามารถเล่าอาการแน่นหน้าอกได้ชัดเจนทั้งหมด เนื่องจากอาการแน่นหน้าอกเหมือนกัน ผู้ป่วยแต่ละรายก็ให้ประวัติไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ผู้ป่วยรายเดิมแน่นหน้าอกแต่ละครั้งอาจให้ประวัติไม่เหมือนกันเลยก็ได้ (ผู้ป่วยหนึ่งรายอาจมีอาการได้มากกว่าหนึ่งโรคก็ได้) เราจึงต้องพิจารณาถึงโอกาส (ปัจจัยเสี่ยง) ที่ผู้ป่วยจะเป็นโรคหัวใจร่วมกับอาการแน่นหน้าอก

ส่วนใหญ่แล้ว โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักเกิดจากมีไขมัน และหินปูนอุดตันในหลอดเลือดที่เรียกว่า Atherosclerosis ซึ่งก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งเหมือนที่ทำให้หลอดเลือดในสมองตีบได้เช่นกัน เราอาจเรียกรวมๆ ว่าโรคหลอดเลือดตีบ ขึ้นกับว่าจะไปตีบที่ไหนก่อน

ปัจจัยเสี่ยงของไขมันอุดตันหลอดเลือด ได้แก่

    • สูบบุหรี่
    • ความดันโลหิตสูง
    • คอเลสเตอรอลผิดปกติ (LDL-cholesterol สูง หรือ HDL- cholesterol ต่ำ)
    • เบาหวาน
    • มีประวัติพันธุกรรมในญาติสายตรง
    • น้ำหนักเกิน (BMI มากกว่า 30)
    • ขาดการออกกำลังกาย และทานอาหารก่อโรค เช่น เค็มจัด มันจัด แป้งเยอะ เป็นต้น

อายุที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดตีบ คือ ผู้ชายอายุเกิน 45 ปี และผู้หญิงอายุเกิน 55 ปี แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยช่วงอายุ 30 กว่าเยอะขึ้น อาจเนื่องมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ไม่สามารถเลือกอาหารได้ เนื่องจากไม่ได้ทำเอง เกิดโรคอ้วน ทำให้เป็นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวานตั้งแต่อายุยังน้อย

ป้องกันไว้ ดีกว่าแก้
ทุกคนสามารถลดโอกาสที่จะเป็นหลอดเลือดตีบได้ โดยลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การควบคุมอาหาร ไม่สูบบุหรี่ การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดเป็นระยะตามความเหมาะสม การตรวจหัวใจด้วยการเดินสายพานในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยเบาหวานก็เป็นการลดปัจจัยเสี่ยง และตรวจหาโรคหลอดเลือดตีบได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 09/10/2024

แพทย์ผู้เขียน

นพ. ธงฉาน นิลเขต

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคหัวใจ

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ