• banner

ไทรอยด์โตและก้อนที่ต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่อยู่ด้านหน้าลำคอ หากผิดปกติจะโตขึ้นและเห็นเป็นก้อน สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ มีได้หลายลักษณะ เช่น เป็นก้อนแข็ง ก้อนไขมัน ก้อนนิ่ม เป็นถุงน้ำ ดังนั้นหากคลำพบก้อนที่คอ ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ ควรมาพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย (Metabolism) โรคไทรอยด์อาจแบ่งเป็น 
• การสร้างฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ ที่หลายคนเรียกว่าไทรอยด์เป็นพิษ
• สร้างฮอร์โมนได้น้อยไม่เพียงพอหรือเรียกว่าไทรอยด์ต่ำ
• ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่หรือมีก้อนเนื้องอก แต่การสร้างฮอร์โมนอยู่ในระดับปกติ (ไม่เป็นพิษ)

ต่อมไทรอยด์โตและก้อนที่ต่อมไทรอยด์เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ โดยไทรอยด์อาจจะโตขึ้นโดยทั่วหรือโตขึ้น เนื่องจากมีก้อนเนื้องอกภายในต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodule) ซึ่งอาจจะมีได้มากกว่าหนึ่งก้อน ในประเทศที่ประชากรได้รับไอโอดีนอย่างพอเพียง เช่น ในสหรัฐอเมริกา อุบัติการณ์ของก้อนที่ต่อมไทรอยด์พบได้ร้อยละ 3-7 ส่วนในประเทศที่ประชากรยังมีปัญหารการขาดไอโอดีน อุบัติการณ์อาจพบได้สูงมากกว่าร้อยละ 20 

โดยส่วนใหญ่ก้อนที่ต่อมไทรอยด์จะเป็นเนื้องอกธรรมดา แต่อาจพบเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ประมาณร้อยละ 5 แม้กระนั้นมะเร็งไทรอยด์ ถือว่าเป็นมะเร็งที่โตช้าไม่ค่อยรุนแรง และมักไม่นำไปสู่การเสียชีวิต

ต่อมไทรอยด์โตทั้งสองข้าง
การที่ต่อมไทรอยด์ทั้งสองข้างโต เรียบ ไม่เป็นก้อน ไม่มีอาการเจ็บ อาจเกิดจากไทรอยด์อักเสบชนิดเรื้อรังหรือที่เรียกว่า “ฮาชิโมโต” ซึ่งมักพบภาวะไทรอยด์ต่ำร่วมด้วย หรืออาจจะเป็นภาวะที่ต่อมโตขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาจพบได้ในช่วงตั้งครรภ์ กลุ่มวัยรุ่น มักจะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป โรคไทรอยด์ลักษณะนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยมาก โดยมากไม่จำเป็นต้องรักษา แต่อาจจะต้องมีการเฝ้าติดตามว่ามีการเปลี่ยนแปลงของขนาดและการทำงานของต่อมไทรอยด์หรือไม่ กรณีที่สงสัยว่าต่อมไทรอยด์จะมีลักษณะดังกล่าว แนะนำให้พบแพทย์ตรวจระดับฮอร์โมน

ต่อมไทรอยด์โตเป็นก้อนเดียว
ประมาณร้อยละ 5 ของต่อมไทรอยด์ที่โตเป็นก้อนเดียวมีโอกาสเป็นมะเร็ง ก้อนเดียวนี้มีทั้งที่เป็นถุงน้ำหรือที่หลายคนเรียกว่าซีสต์ และชนิดที่เป็นก้อนเนื้อหรือมีทั้ง 2 ลักษณะในก้อนเดียวกัน

ปัจจัยเสี่ยงที่บ่งบอกถึงโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่เพิ่มขึ้นในผู้ที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์
• เพศชาย อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 70 ปี
• เคยได้รับการฉายแสง รังสีรักษาบริเวณศีรษะและคอ หรือโดนกัมมันตรังสี โดยเฉพาะเมื่อเป็นเด็ก
• มีประวัติมะเร็งไทรอยด์ในครอบครัว
• ก้อนโตเร็ว ก้อนแข็งและขอบเขตไม่เรียบ
• คลำได้ก้อนต่อมน้ำเหลืองที่คอโตร่วมด้วย
• มีอาการบ่งบอกถึงการกดทับของก้อน เช่น เสียงแหบ สำลัก หรือกลืนลำบาก

นอกจากการตรวจเลือดเพื่อดูระดับการทำงานของไทรอยด์แล้ว ตรวจอัลตราซาวด์ของต่อมไทรอยด์มีประโยชน์ในการบอกถึงจำนวน ขนาด และลักษณะของก้อนที่ต่อมไทรอยด์ และสามารถใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงได้ละเอียดกว่าการใช้มือคลำ ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยที่มีก้อนที่คลำได้เพียงหนึ่งก้อน แต่การตรวจอัลตราซาวด์กลับพบว่ามีก้อนอื่นที่เล็กกว่าอยู่ร่วมด้วย ความเสี่ยงของมะเร็งต่อมไทรอยด์นั้นไม่แตกต่างกันในก้อนที่คลำได้ หรือคลำไม่ได้ การตรวจวินิจฉัยที่จำเป็น คือ การเจาะก้อนที่ต่อมไทรอยด์โดยใช้เข็มเล็ก เพื่อเอาเซลล์ที่อยู่ในก้อนนั้นมาตรวจทางเซลล์วิทยาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และผลตรวจทางเซลล์มีความแม่นยำสูง โดยทั่วไปแพทย์จะเจาะตรวจก้อนที่มีขนาด 1-1.5 เซนติเมตรขึ้นไป หรือก้อนที่มีขนาดเล็กแต่มีลักษณะที่สงสัยมะเร็งเพิ่มขึ้น ก้อนเป็นถุงน้ำควรจะต้องดูดออกและส่งตรวจเช่นเดียวกันเพื่อให้การตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างเหมาะสม การเจาะก้อนที่ต่อมไทรอยด์โดยใช้เข็มเล็ก FNA (Fine Needle Aspiration) มีความปลอดภัยสูง ไม่ซับซ้อน ซึ่งแพทย์สามารถทำได้ในห้องตรวจ แต่อาจจะต้องมีการตรวจซ้ำบ้าง หรือใช้อัลตราซาวด์ร่วมนำการเจาะในกรณีที่ก้อนมีขนาดเล็กหรือคลำได้ไม่ชัดเจน

ต่อมไทรอยด์โตชนิดเป็นก้อนโตหลายก้อน

บางคนเรียกว่าโรคคอพอก พบบ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ลักษณะก้อนมักจะโตทั้งสองข้างของต่อมไทรอยด์และมีหลายก้อน เป็นระยะเวลาหลายสิบปี อาจจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยหนุ่มสาวแล้วโตขึ้นช้าๆ พบมากในแถบภาคเหนือ หรืออีสานตอนเหนือที่มีภาวะขาดไอโอดีน สำหรับประชากรในแถบที่ไอโอดีนเพียงพอ เช่น ภาคกลางและภาคใต้พบโรคนี้ได้เช่นกัน แต่สาเหตุนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด อาการที่มักจะนำมาพบแพทย์ ได้แก่ อาการก้อนโตที่คอโดยไม่มีอาการอื่น หรือมีอาการที่เกิดจากการกดทับร่วมด้วย เช่น อึดอัด หายใจลำบาก กลืนลำบาก หรือบางคนมีปัญหานอนกรน ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคนี้มานานจะมีโอกาสเกิดไทรอยด์เป็นพิษได้ ในบางกรณีที่มีก้อนใดก้อนหนึ่งโตเร็วผิดปกติ ควรได้รับการตรวจว่าเป็นก้อนมะเร็งหรือไม่

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อทำการเจาะชิ้นเนื้อตรวจทางเซลล์วิทยา เพื่อการวินิจฉัยและควรตรวจระดับฮอร์โมนทุกปี

การรักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์

การรักษาโรคก้อนของไทรอยด์ขึ้นกับผลเซลล์วิทยาที่ได้รับ ถ้าพบเป็นมะเร็งไทรอยด์ต้องได้รับการผ่าตัดและรักษาต่อด้วยการใช้แร่รังสีไอโอดีน การพยากรณ์โรคของมะเร็งไทรอยด์ค่อนข้างดี หายขาดได้เป็นส่วนใหญ่ ควรต้องติดตามการรักษากับแพทย์สม่ำเสมอ
    
กรณีที่ตรวจพบว่าไม่มีเซลล์มะเร็ง การรักษาขึ้นกับลักษณะก้อนเนื้อที่ตรวจได้ กรณีเป็นถุงซีสต์ควรรักษาด้วยการดูดเอาน้ำออก โดยทั่วไปสามารถดูดได้ 2-3 ครั้ง ก้อนมักจะยุบลง สำหรับบางรายที่ก้อนยุบไม่หมด การรักษาอื่นๆ ที่อาจจะทำได้ คือ การฉีดสารเอธานอลเข้าก้อน เพื่อไม่ให้เกิดถุงน้ำกลับมาซ้ำอีก

หากเป็นก้อนเนื้อที่ไม่ใช่เนื้อร้าย แนะนำให้ติดตามดูอาการและขนาดเป็นระยะๆ เพราะก้อนส่วนใหญ่จะมีขนาดเท่าเดิม หรือาจจะยุบลงได้เอง รักษาโดยการให้ยาฮอร์โมนไทรอยด์ มีประสิทธิภาพไม่ดีนัก มักทำให้ก้อนเล็กลงได้เพียงร้อยละ 10 แพทย์อาจพิจารณาให้ยาระยะสั้นในผู้ป่วยบางราย แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในกรณีทั่วไปและเป็นระยะยาว ที่สำคัญควรหลีกวิธีนี้ในผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจร่วมด้วย เพราะอาจมีผลเสียมากกว่า แต่หากก้อนเนื้อไม่ยุบลงมีขนาดใหญ่ขึ้น มีลักษณะเปลี่ยนแปลง ผลการตรวจเซลล์ไม่ชัดเจน หรือผู้ป่วยมีความกังวลใจมาก สามารถรักษาโดยวิธีการผ่าตัด

สำหรับคอพอกที่มีหลายก้อนโตมากจนเกิดอาการกดทับ อุดกั้นทางเดินหายใจ หรือกลืนลำบาก แนะนำให้ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก ส่วนในผู้ป่วยที่มีไทรอยด์พิษร่วมด้วย หรือผู้ป่วยที่ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัด เช่น อายุมาก มีโรคหัวใจ สามารถรับการรักษาด้วยแร่รังสีไอโอดีน

โดยสรุป ภาวะก้อนที่ต่อมไทรอยด์เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แม้ทั่วไปไม่เป็นโรคร้ายแรง แต่ถ้าพบหรือสงสัยว่ามีก้อนที่คอ ควรมาพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์อายุรกรรม
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 09/12/2024

แพทย์ผู้เขียน

พญ. ฉัตรประอร งามอุโฆษ

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ