• banner

ทำอย่างไรเมื่อลูกชัก

อาการชักในเด็ก เชื่อว่าเป็นหนึ่งในอาการที่คุณพ่อคุณแม่กลัวที่สุด โดยเฉพาะกับเด็กอายุ 5 เดือน - 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พบอาการชักมากกว่าเด็กวัยอื่น ฉะนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับอาการชักของลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเมื่อเกิดเหตุจะได้ดูแล และแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างถูกวิธี

อาการชักในเด็กเป็นภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ ซึ่งต้องการการช่วยเหลือเบื้องต้นที่เหมาะสม ก่อนส่งตัวไปพบแพทย์ และมักเป็นเรื่องที่สร้างความตระหนกให้กับผู้ปกครอง และครูได้เป็นอย่างมาก เด็กที่ชักจะมีอาการตาลอย เกร็ง กระตุก และหมดสติไปชั่วคราว ส่วนใหญ่อาการชักจะเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ และหยุดได้เอง

สาเหตุ
• สาเหตุของอาการชักในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากไข้สูง กรณีชักแต่ไม่มีไข้อาจเกิดจากความผิดปกติของสมอง เช่น มีเลือดออก เนื้องอก สมองพิการ กรณีชักซ้ำๆ มักเกิดจากโรคลมชัก
• อาการชักเนื่องจากไข้สูง มักมีปัจจัยร่วม 3 ประการ คือ
      - เด็กอายุ 5 เดือน – 5 ปี
      - ไข้สูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
      - เป็นไข้วันแรก และไข้ขึ้นอย่างรวดเร็ว
• สาเหตุของไข้ที่พบบ่อยในเด็กที่มีอาการชักเนื่องจากไข้ คือ ไข้หวัด หูชั้นกลางอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ส่าไข้ และโรคท้องเสียจากเชื้อบางชนิด
• เด็กที่มีไข้ และชัก อาจมีสาเหตุจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงมาก และต้องการการวินิจฉัยที่เร่งด่วนเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง

เมื่อใดต้องพบแพทย์
• เมื่อเด็กได้รับการดูแลให้หยุดชักแล้ว ควรพบแพทย์เสมอ
• หากไม่หยุดชักหลังการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ต้องรีบไปโรงพยาบาล
• เด็กที่ป่วยเป็นโรคลมชัก ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และให้การรักษาเพื่อป้องกันการชักซ้ำ

ข้อปฏิบัติเมื่อเด็กชัก
• ตั้งสติ เมื่อเด็กชักจะทำให้คนรอบข้างตื่นตกใจ จำให้มั่นว่าต้องตั้งสติ ไม่ฟูมฟาย หรือลนจนทำอะไรไม่ถูก เพราะสิ่งสำคัญ คือ การปฐมพยาบาล ห้ามเขย่า หรือตีเด็ก
• จับนอนในท่าตะแคง และอยู่ในที่โล่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเท และหายใจสะดวก เพื่อเป็นการป้องกันเสมหะ อาหาร หรือน้ำลายอุดตันหลอดลม ควรให้เด็กตะแคง ศีรษะต่ำเล็กน้อย หรือนอนหงายหันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่ง
• ห้ามใส่ของเพื่องัดปาก หรือให้เด็กกัด เช่น ช้อน ผ้า หรือนิ้วมือตัวเอง สอดหรืองัดในปากเด็ก เพราะจะยิ่งอันตราย ฟันอาจจะหักหลุดไปอุดตันหลอดลม หายใจไม่ออก ส่งผลให้พิการ หรือเสียชีวิตได้
• ปลดเสื้อผ้าเด็กให้หลวม เพื่อระบายความร้อน และง่ายต่อการปฐมพยาบาล
• เช็ดตัวด้วยน้ำที่อุณหภูมิห้อง เมื่อเด็กหยุดชัก และรู้สึกตัวดี สามารถให้ยาลดไข้ได้
• ส่งโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุ และรักษาให้ถูกต้องต่อไป

การป้องกัน
• การป้องกันอาการชัก และอาการชักซ้ำเนื่องจากไข้ ทำได้โดยการลดไข้ด้วยการเช็ดตัว และรับประทานยาลดไข้เมื่อเด็กมีไข้สูง ควรทำการวัดไข้ซ้ำเป็นระยะจนกว่าไข้จะลดลง หรือหายไป
• การใช้ยากันชักชนิดรับประทาน คือ ไดอะซิแปม (วาเลียม) ในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกที่เด็กมีไข้สูง จะช่วยลดความเสี่ยงมีการชักซ้ำได้ แต่ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์เด็กและพัฒนาการเด็ก
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 26/11/2024

แพทย์ผู้เขียน

นพ. ร่มฉัตร วงศาโรจน์

img

ความถนัดเฉพาะทาง

กุมารแพทย์

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ