• img

อาการขาอยู่ไม่สุข

หากรู้สึกอยากขยับขาบ่อย ๆ เนื่องจากรู้สึกไม่สบายขา หรือรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งไต่บริเวณขา อาจมีอาการขากระตุก รู้สึกเจ็บเหมือนถูกไฟช็อต มักเกิดได้บ่อยในช่วงเวลากลางคืน จนทำให้นอนไม่ค่อยหลับ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคขาอยู่ไม่สุขก็เป็นได้ ว่าแต่จะมีสาเหตุและอาการอย่างไรบ้างนั้น เรามีข้อมูลมาบอกค่ะ
    
กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข หรือ Restless leg Syndrome โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคหรือกลุ่มอาการนี้จะมีอาการรู้สึกไม่สบายที่ขาทั้งสองขา โดยเฉพาะเมื่อนั่งหรือนอนพัก ส่วนใหญ่มีอาการในช่วงเย็นหรือกลางคืนทำให้ต้องขยับขาเพื่อบรรเทาอาการ อาการทางระบบประสาทรับความรู้สึกที่ผิดปกตินี้มีได้หลายรูปแบบ เช่น รู้สึกแสบ ตะคริว ปวดตื้อๆ คัน ปวดแปล๊บคล้ายไฟช็อต ยุบยิบ เหมือนมีอะไรมาไต่ๆ ตึงๆ ผู้ป่วยต้องคอยขยับขาไปมาเพื่อบรรเทาอาการ อยู่นิ่งไม่ได้ และทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้ปกติ

สาเหตุ
โรคนี้พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ยังไม่พบสาเหตุชัดเจน แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 50 มีประวัติในครอบครัวมีอาการดังกล่าว ดังนั้นเชื่อว่าโรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม โดยอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารสื่อประสาทปามีน

สาเหตุจากโรคหรือภาวะทางกายต่างๆ เช่น
    สตรีตั้งครรภ์ จะเกิดอาการในช่วงไตรมาสสุดท้าย และอาการจะหายได้ภายใน 1 เดือนหลังคลอดบุตร
    โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง โรคพาร์กินสัน
    ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
    ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาทางจิตเวช ยาแก้อาเจียน ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาแก้แพ้
    การสูบบุหรี่ หรือดื่มสุรา

อาการ
    จะมีความรู้สึกผิดปกติมักเกิดที่ขา หรือเท้าทั้งสองข้าง โดยมีอาการได้หลากหลายและมีความรุนแรงต่างกันไป
    อาการจะเกิดขณะที่นั่งพักหรือนอนนิ่งๆ และอาการดีขึ้นเมื่อได้ขยับขา
    อาการเหล่านี้มักพบมากในช่วงเย็นหรือค่ำ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มจะเข้านอน
    โรคนี้มักมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวเป็นพักๆ ของแขนขาขณะหลับ

การวินิจฉัยโรค
เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุของโรค โดยเฉพาะโรคทางกายที่เกิดร่วมกับโรคนี้ เช่น โลหิตจาง ไตวาย แล้วให้การวินิจฉัยโรคนี้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ก่อนจะให้การรักษาและติดตามต่อไป

การรักษา
ในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรได้รับธาตุเหล็กเสริม หาสาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก

สำหรับยาที่ใช้บ่อย คือ
    ยากลุ่มที่มีฤทธิ์จับกับตัวรับปามีนโดยตรง (dopamine agonist) จะได้ผลค่อนข้างดี เช่น pramipexole ropinirole rotigotine ออกฤทธิ์ได้นาน จึงมักให้ยากลุ่มนี้ในขนาดต่ำๆ ก่อนนอน
    ยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน ที่มีฤทธิ์คลายกังวลลดกล้ามเนื้อกระตุก และช่วยนอนหลับ เช่น clonazepam จะใช้ในรายที่มีอาการไม่มาก และเป็นครั้งคราว
    ยาแก้ปวดบางชนิด เช่น กลุ่มโอพิออยด์
    ยาอื่นๆ เช่น ยากันชักบางชนิด

การปฏิบัติตัวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปกับการรับประทานยา การรักษาจึงจะมีประสิทธิภาพ ได้แก่
    งดการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
    นอนให้ตรงเวลา และรักษาสุขลักษณะในการนอน
    ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน
    ผ่อนคลายกล้ามเนื้อในส่วนที่เกิดอาการ เช่น การนวด ประคบน้ำอุ่น
    รักษาและควบคุมโรคเรื้อรัง โรคประจำตัวต่างๆ ให้ได้ดี

ภาวะนี้ทั่วไปไม่ได้เป็นอันตราย แต่จะสร้างความรำคาญมากกว่า ทำให้นอนไม่หลับ หงุดหงิด ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีโรคทางกายอย่างอื่น มักไม่พบสาเหตุชัดเจน ผู้ป่วยมักมีอาการเป็นๆ หายๆ ไปตลอด จึงควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอาการในระยะยาว และใช้ยาในช่วงที่มีอาการมากเพื่อให้นอนหลับได้ปกติ และอาจพิจารณาหยุดยาได้หากมีอาการดีขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777 
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคระบบประสาท
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 01/01/2023

แพทย์ผู้เขียน

นพ. สุรัตน์ สิงห์มณีสกุลชัย

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคระบบประสาท

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ