• banner

เวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่พบได้บ่อย เมื่อเกิดโรคแล้วจะก่อให้เกิดอาการทางระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เคลื่อนไหวลำบาก กลืนลำบาก พูดไม่ชัด หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ การบำบัดฟื้นฟูสามารถช่วยลดอาการผิดปกติและเพิ่มสมรรถภาพของผู้ป่วยได้  

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคที่เกิดการตีบ อุดตันหรือแตกของหลอดเลือดสมอง สาเหตุมักมาจากโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในโลหิตสูง ความดันสูง การสูบบุหรี่ ส่งผลให้เนื้อสมองบริเวณที่มีพยาธิสภาพถูกทำลาย การทำงานของสมองส่วนนั้นจึงผิดปกติไป แสดงออกในรูปแบบของอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวลำบาก กลืนลำบาก พูดไม่ชัด หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการฟื้นฟูที่เหมาะสม ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจากภาวะแทรกซ้อน หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
                   
อาการอ่อนแรงจากโรคหลอดเลือดสมองสามารถฟื้นฟูได้ดีที่สุด คือ ช่วง 3 เดือนแรกหลังการวินิจฉัย เรียกว่าช่วง golden period หลังจากนั้นจะค่อยๆฟื้นฟูด้วยอัตราเร็วที่ช้าลงจนถึง 1 ปี ดังนั้นผู้ป่วยที่อยู่ในช่วง golden period จึงควรเข้ารับโปรแกรมการฟื้นฟูอย่างเข้มข้น (Intensive rehabilitation) กับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักอรรถบำบัด และทีมจิตวิทยาและสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูอาการอ่อนแรง ฝึกการช่วยเหลือตนเอง การใช้ชีวิตประจำวัน ลดภาวะพึ่งพิง และกลับคืนสู่สังคม
                   
ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูของร่างกายควบคู่กับการทำกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด เช่น หุ่นยนต์ฝึกยืนเดิน หุ่นยนต์ฝึกมือและแขน เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อการกลืน ซึ่งมีผลงานวิจัยยืนยันว่าสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการฟื้นฟูได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
                   
นอกจากโปรแกรมการฟื้นฟูที่ผู้ป่วยจะได้รับจากทางทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแล้ว การดูแลโดยญาติเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมการฟื้นฟูของผู้ป่วย ทั้งการดูแลทางกาย และใจ
                   
ภาวะแทรกซ้อนทางกายที่มักพบตามหลังโรคหลอดเลือดสมอง คือ การมีแผลกดทับ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปอดแฟบ หรือปอดติดเชื้อ อาการสำลัก การพลัดตกหกล้ม อาการปวดเรื้อรังทั้งกระดูก และกล้ามเนื้อ ข้อติด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยมีภาวะอ่อนแรง ทำให้ไม่สามารถพลิกตัวลุกนั่ง หรือยืนเดินเองได้ กิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่จึงมักอยู่บนเตียง โดยสิ่งเหล่านี้สามารถป้องกันได้ เพียงได้รับคำแนะนำวิธีการปฎิบัติ ตั้งแต่การจัดท่านอน การพลิกตัวทุกสองชั่วโมง การนอนที่นอนลม การหมั่นพาผู้ป่วยลุกนั่งแทนการนอนนานๆ การพาผู้ป่วยฝึกย้ายตัว หรือยืนเดิน การทำกายภาพบำบัดอย่างง่ายที่บ้านป้องกันข้อติด การปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสมกับผู้ป่วย การให้สารอาหาร และน้ำที่เพียงพอ
                   
ทางด้านจิตใจเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญต่อการฟื้นฟูของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันจากตัวโรค ทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง เคลื่อนไหวลำบาก ต้องพึ่งพิงคนดูแล ไม่สามารถออกไปนอกบ้านเองได้ มักจะพบภาวะซึมเศร้าตามหลังมาได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเศร้า หมดกำลังใจ เครียด นอนไม่หลับซึ่งกระทบการฝึกฟื้นฟู ดังนั้นการมีครอบครัวช่วยดูแล พูดคุย ให้กำลังใจจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงร่วมด้วย หากอาการรุนแรงอาจเข้ารับการปรึกษากับทีมจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อร่วมดูแลรักษา
                   
กล่าวโดยสรุป คือ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรได้รับการรักษากับทางทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูโดยเร็ว โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยยังอยู่ในช่วงระยะฟื้นฟู 3 เดือนแรกหลังการวินิจฉัย (golden period) การรักษานั้นมิได้คำนึงเพียงแค่อาการทางกาย ในแง่ทางใจมีความสำคัญเช่นกัน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดความพิการ ลดภาวะแทรกซ้อน ส่งเสริมการช่วยเหลือตนเอง และสนับสนุนการกลับคืนสู่สังคมต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 30/09/2024

แพทย์ผู้เขียน

พญ. ปวีณา ตันธรรมจาริก

img

ความถนัดเฉพาะทาง

เวชศาสตร์ฟื้นฟู

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ