• banner

การป้องกันและชะลอความเสื่อมของไต

เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคไตเป็นโรคร้ายแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสร้างความไม่สบายกายให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้ขั้นตอนการรักษาโรคไตก็ยุ่งยากซับซ้อนและเสียค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นการป้องกันโรคไตไม่ให้เกิดขึ้นจึงเป็นแนวทางการดูแลไตที่มีประโยชน์ สามารถทำได้ด้วยตนเอง ทำได้อย่างสม่ำเสมอ วันนี้เรามีข้อมูลสุขภาพเกี่ยวกับการป้องกันและชะลอความเสื่อมของไตมาบอกเล่าให้ฟังกันค่ะ  เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคไตเป็นโรคร้ายแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสร้างความไม่สบายกายให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้ขั้นตอนการรักษาโรคไตก็ยุ่งยากซับซ้อน และเสียค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาบำบัดทดแทนทางไต ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเลือด การล้างไตทางหน้าท้อง หรือการปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก การป้องกันโรคไตไม่ให้เกิดขึ้นจึงเป็นแนวทางการดูแลโรคไตที่มีประโยชน์ ซึ่งจะเป็นการดูแลตนเองโดยท่านจะไม่มีความลำบาก สามารถกระทำด้วยตัวเอง ทำได้อย่างสม่ำเสมอ และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงการป้องกันโรคไตในกรณีที่ยังไม่มีโรคไต และการชะลอความเสื่อมของไตในกรณีที่ป่วยด้วยโรคไตระยะ 3 หรือ 4 เป็นการดูแลตนเองไม่ให้การทำงานของไตทรุดลงอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่ไตวายระยะ 5 หรือระยะที่ต้องได้รับการรักษาทดแทนทางไต

การป้องกันโรคไต การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต (Lifestyles) บางประการสามารถทำให้ไตมีสุขภาพดีได้
  • การเลือกรับประทานอาหารที่ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเลือกรับประทานผักหรือผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วหรือผัก เต้าหู้ เป็นต้น อาหารกลุ่มนี้จะเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ดี
  • รับประทานพืชจำพวกแป้งและข้าวให้มากกว่าการรับประทานเนื้อสัตว์ และหากเลือกรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ให้เลือก ปลา เป็ด ไก่ กุ้ง ไข่ขาวมากกว่าจำพวกเนื้อแดง เช่น หมู วัว ทั้งนี้เนื่องจากไตมีหน้าที่ในการกำจัดของเสีย ซึ่งได้มาจากการเผาผลาญจากโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หากรับประทานอาหารกลุ่มนี้มากไตก็จะรับภาระทำงานมากขึ้น
  • จำกัดการรับประทานเกลือหรืออาหารที่มีรสเค็ม เนื่องจากไตต้องรับภาระขับเกลือส่วนเกินออกทางปัสสาวะและเกลือยังมีผลต่อความดันโลหิต ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงควบคุมยากขึ้น
  • จำกัดอาหารมันโดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ ไข่แดง กะทิ และน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันบัว เนย มาการีน หันไปใช้กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงแทน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย และน้ำมันมะกอก เป็นต้น
  • ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน
  • ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน หรือไม่ให้เกิดภาวะอ้วน
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แอโรบิค เป็นต้น
  • หยุดสูบบุหรี่
  • ลดหรือหยุดดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจวัดความดันอย่างสม่ำเสมอ
  • พยายามหลีกเลี่ยงความเครียดและผ่อนคลายอารมณ์
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

การชะลอความเสื่อมของไต สำหรับท่านที่เริ่มมีความเสื่อมของไต หลักการที่สำคัญคือการปฏิบัติตัวที่ทำให้ไตเสื่อมหน้าที่ช้าลง ยืดระยะเวลาที่จะเข้าสู่ไตวายระยะท้ายให้นานที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
  • ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ที่ 130/80 mmHg
  • ถ้าเป็นเบาหวาน คุมระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 120 มก.เดซิลิตรหรือน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HBA1c) น้อยกว่า 7.0
  • ถ้าเป็นโรคเก๊าท์ พยายามอย่าให้โรคกำเริบ รักษาระดับกรดยูริกในเลือดให้ปกติ
  • คุมระดับไขมันในเลือด ระดับแอลดีแอลให้น้อยกว่า 100 มก.เดซิลิตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกระดูก ยาลูกกลอน และยาสมุนไพรที่ไม่ได้การรับรอง ควรมาพบแพทย์เมื่อป่วย
  • งดสูบบุหรี่และลดการดื่มสุรา
  • ควบคุมน้ำหนักตัวและออกกำลังกายสม่ำเสมอไม่ให้น้ำหนักเกินดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 25
  • รับประทานโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ในสัดส่วนที่พอเหมาะ ตามระยะของโรคที่แพทย์หรือนักโภชนบำบัดแนะนำ
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม
  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมันจากสัตว์ ไขมันจากกะทิ เนย น้ำมันมะพร้าว ผลิตภัณฑ์นมเนยมาการีน และไข่แดง เป็นต้น
  • น้ำดื่มประเมินตามสภาวะน้ำในร่างกาย เช่น ถ้าบวมหรือมีน้ำท่วมปอด แนะนำให้จำกัดน้ำดื่ม เป็นต้น
การป้องกันและชะลอการเสื่อมของไตเป็นสิ่งสำคัญนะคะ หากสามารถดูแลไตโดยเลือกรับประทานอาหารที่ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หมั่นวัดความดัน รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคไตและไตเทียม
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

พญ. สุดารัตน์ สีน้ำเงิน

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคไต

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา