• banner

ท้องแล้วแท้ง สู้กับการมีบุตรยากระยะสุดท้าย

"ดูแลครรภ์อย่างดี ก็แท้งได้ สำหรับผู้เคยมีบุตรยาก"
เมื่อรู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ ก่อนจะจินตนาการวาดฝันไปไกลถึงครอบครัวที่อบอุ่นในอนาคต สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ความปลอดภัยของทั้งตัวแม่และลูกในท้อง เพราะเมื่อคุณตั้งครรภ์นั้นเท่ากับว่าคุณกำลังแบกชีวิตน้อยๆอีก 1 ชีวิตไปกับคุณด้วยทุกๆ ที่  หากคุณแม่ดูแลตัวเองได้ไม่ดี ก็อาจนำไปสู่ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้เกิดขึ้นอย่างการแท้งบุตร การแท้งบุตรเกิดขึ้นได้ 15-25%ของการตั้งครรภ์ 80% จะเกิดในไตรมาสแรก ในประเทศไทยจะใช้เกณฑ์การตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ หรือน้ำหนักทารกน้อยกว่า 1000 กรัม เป็นเกณฑ์การแท้ง ส่วนองค์การอนามัยโลกจะใช้เกณฑ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์ หรือน้ำหนักทารกน้อยกว่า 500 กรัม

อย่างไรก็ตามบางสถาบันการแพทย์อาจใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไปตามศักยภาพในการดูแลทารกของสถาบันนั้นๆ

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของการแท้ง
1.การแท้งบุตรที่เกิดจากทารก
กว่า 60% ของการแท้งทั้งหมด มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางด้านโครโมโซมของทารกในครรภ์ โดยอาจจะเช่นลักษณะที่ไม่พบตัวอ่อนในถุงการตั้งครรภ์เลยเรียกว่าภาวะไข่ฝ่อ (blighted ovum) หรืออาจเห็นตัวอ่อนในถุงการตั้งครรภ์แล้ว แต่ไม่มีการทำงานของหัวใจ
2.การแท้งที่มีสาเหตุจากมารดา
  • การติดเชื้อต่างๆไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย เป็นการติดเชื้อทั่วร่างกาย หรือเป็นการติดเชื้อเฉพาะที่
  • โรคประจำตัวของมารดา เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ SLE เป็นต้น
  • การรักษาโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะด้วยการฉายแสง หรือยาเคมีบำบัด ก็เพิ่มโอกาสการแท้งบุตรได้
  • การผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ ก่อนอายุครรภ์ 10 สัปดาห์
  • ภาวะทุพโภชนาการ ไม่ว่าจะอ้วนเกินไป หรือผอมเกินไป
  • การใช้ยาหรือวัคซีนบางชนิด
  • การมีลักษณะมดลูกผิดปกติ เช่น เนื้องอกมดลูก มีผนังกั้นภายในมดลูก เป็นต้
3.การแท้งที่เกิดจากคุณพ่อ
ยังไม่มีงานวิจัยที่ดีพอที่จะอธิบายความสัมพันธ์ด้านบิดาต่อการแท้งบุตรอาการแท้งบุตรในผู้หญิง จะมีเลือดออกทางช่องคลอดและมีอาการปวดท้องน้อย ในบางกรณีอาจพบชิ้นเนื้อลักษณะคล้ายพุงปลาหลุดปนออกมาจากช่องคลอดด้วย ซึ่งการแท้งบุตรอาจส่งผลต่อร่างกายของผู้เป็นแม่ได้มาก ยิ่งในกรณีที่ครรภ์มีอายุเกิน 10 สัปดาห์ อาจจะมีเนื้อเยื่อตัวอ่อนตกค้างอยู่ซึ่งจำเป็นต้องเอาออกโดยการผ่าตัดขูดมดลูก วิธีนี้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ มดลูกเป็นรู หรือเกิดแผลเป็นที่ปากมดลูก หรืออาการตกเลือดได้

"ถ้าแท้งแล้วเว้นช่วงนานแค่ไหนถึงจะมีบุตรได้อีก"
หลังจากที่ความสูญเสียได้ผ่านพ้นไป อย่ามัวแต่ท้อแท้สิ้นหวัง คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายควรรีบลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพ เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงให้ได้เร็วที่สุด เตรียมพร้อมสำหรับการมีลูกในครั้งต่อไป เพราะใช่ว่าแท้งแล้วจะมีลูกอีกครั้งไม่ได้ “แท้งได้ ก็ท้องใหม่ได้…” สำหรับคู่ที่มีการวางแผนมีลูกครั้งต่อไป ควรเว้นช่วงด้วยคุมกำเนิดเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อรอให้อวัยวะภายในของคุณแม่ฟื้นตัวกลับมาแข็งแรง พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ในกรณีของคุณแม่ที่มีการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกที่ต้องผ่าผ่านผนังมดลูก ทำให้มีแผลที่กล้ามเนื้อมดลูก ควรเว้นช่วงนานถึง 6-12 เดือน ก่อนตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

วิธีดูแลตัวเองหลังแท้งบุตร
  • หมั่นสังเกตตัวเอง โดยปกติเลือดที่ไหลออกจากช่องคลอดจะลดลงเรื่อยๆ และหยุดไหลภายใน 1-2 สัปดาห์ อาการปวดท้องน้อยจะค่อยๆ บรรเทาลง หากพบว่าเลือดไม่หยุดไหลและมีชิ้นเนื้อหลุดปนออกมาทางช่องคลอด มีอาการปวดท้อง มีไข้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดจากการติดเชื้อขึ้นได้
  • คุณแม่ควรเข้ารับการตรวจภายในและตรวจมะเร็งปากมดลูกและดูสุขภาพโดยรวม หลังการแท้งบุตร 2 สัปดาห์
  • ตรวจร่างกายและเจาะเลือดเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ หากพบความผิดปกติควรรีบรักษาให้หายเป็นปกติก่อนมีการตั้งครรภ์
  • งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือหากเกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูกให้งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นรับประทานสารอาหารพวกโฟลิกล่วงหน้าก่อนตั้งครรภ์อีกครั้ง
  • ฟื้นฟูสุขภาพจิตใจให้ดี หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียด นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำงานหนักติดต่อกัน

ในกรณีของผู้ที่แท้ง 2 ครั้งขึ้นไปหรือมีการแท้งซ้ำ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของการแท้ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกายหรือการตรวจภายใน ตรวจเลือด ถ่ายภาพเอกซเรย์ ตรวจอัลตราซาวนด์ หรือการส่องกล้องเข้าไปตรวจในโพรงมดลูกเพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น ปากมดลูกขยายตัวผิดปกติหรือไม่ หาพบความผิดปกติ ควรรีบรักษาก่อนการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป หลีกเลี่ยงการแท้งลูกที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

"การท้องนอกมดลูก และการรับมือ"
อีกหนึ่งฝันร้ายของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ และไม่มีใครอยากให้เกิด นั่นคือการ “ท้องนอกมดลูก” ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อทั้งตัวแม่และเด็ก แต่เพื่อหลีกเลี่ยงภัยเงียบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต รู้มารู้จักสิ่งนี้กัน

การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) เป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ประเภทหนึ่ง ที่ตัวอ่อนเกิดการฝังตัวนอกโพรงมดลูก รวมไปถึงที่ปีกมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ ปากมดลูก หรือช่องท้อง ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นอันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก และยังทำให้อวัยวะภายในของคุณแม่ได้รับความเสียหาย จนอาจทำให้เลือดออกในช่องท้อง จนถึงเสียชีวิตได้ จึงควรเริ่มพบแพทย์ทันทีที่ประจำเดือนเริ่มขาดไป

สาเหตุของการท้องนอกมดลูก มีหลายสาเหตุ เช่น
  • การติดเชื้อของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เช่น ภาวะอุ้งเชิงกราน มดลูก ท่อนำไข่และรังไข่เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ
  • มีรอยแผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัดที่บริเวณอุ้งเชิงกรานในอดีต
  • เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน
  • การทำหมันหญิง หรือการผ่าตัดแก้หมันหญิง หรือการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด
  • การใช้ยา หรือการรักษาภาวะมีบุตรยาก เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว
  • การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
  • การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
  • การสูบบุหรี่
  • ความผิดปกติของการพัฒนาภายในไข่หลังเกิดการปฏิสนธิ

อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • ประจำเดือนขาด
  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • มีอาการเจ็บหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการแสดงของการตั้งครรภ์
  • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน ไหล่ คอ และบริเวณทวารหนัก
  • มีภาวะช็อค

หากเกิดความสงสัยว่าตนเองอาจท้องนอกมดลูก ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติโดยเร็ว เพราะการท้องนอกมดลูกที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยช้าเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เนื่องจากท่อนำไข่ และอวัยวะภายในเกิดความเสียหาย ฉีกขาด ทำให้เกิดการติดเชื้อ ผู้ป่วยมีการตกเลือด เกิดอาการช็อค และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

“ภาวะท้องนอกมดลูกนั้นไม่อาจป้องกันได้ แต่เราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การท้องนอกมดลูกได้” ดังนี้
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัยและไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
  • งดสูบบุหรี่ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงท้องนอกมดลูกสูงกว่าคนปกติ
  • สังเกตอาการ และเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพื่อรับการรักษาให้ทันเวลา

เมื่อคุณตั้งครรภ์ ย่อมมีความเสี่ยงต่างๆตามมามากมาย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัย พ่อแม่ทั้งหลายจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆที่อาจตามมาในอนาคต นอกจากนี้กำลังใจก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะล้มเหลวอีกกี่ครั้ง ท้อได้แต่อย่าถอย หากคุณทั้งคู่จับมือกันผ่านพ้นปัญหาต่างๆเหล่านี้ไปได้ ก็จะสามารถสร้างครอบครัวที่แข็งแรงได้ในอนาคต

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์สุขภาพสตรี
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 04/05/2018

แพทย์ผู้เขียน

พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา