• banner

การดูแลครรภ์สำหรับ ผู้เคยมีบุตรยาก

จุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่ เริ่มที่การแต่งงานและมีเจ้าตัวน้อย สิ่งนี้คือจิกซอร์ที่ช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์แบบของครอบครัวได้มากขึ้น แต่การมีลูกในยุคนี้ไม่ง่ายเลย ต้องวางแผนเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคตของลูกในทุกๆ ด้าน หลายคู่จึงทุ่มเทเวลาให้กับการสร้างฐานะครอบครัวให้มั่นคงก่อน กว่าจะพร้อมมีทายาท ทำให้อายุล่วงเลยวัยเจริญพันธุ์ ที่เศร้าไปกว่านั้นคือการเข้าสู่ “ภาวะมีบุตรยาก” โดยไม่รู้ตัว ทำให้หลายๆ คู่ นอกจากต้องกังวลกับการ “มีบุตรยาก” แล้ว ยังต้องกลัวว่าพอตั้งครรภ์แล้วจะความเสี่ยงกับสุขภาพของแม่และเด็กที่จะตามมาอีกด้วย

"ความเสี่ยงของครรภ์ สำหรับผู้ที่เคยมีบุตรยาก"
เป็นที่ทราบกันดีว่าสำหรับผู้มีบุตรยาก หรือคุณผู้หญิงที่ อายุ 35 ปีขึ้นไป ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง พบภาวะแทรกซ้อน ทำให้มีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องระวังขณะตั้งครรภ์ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถป้องกันได้ เพียงเช็คความผิดปกติเบื้องต้น เพื่อหาแนวทางการป้องกันได้อย่างทันท่วงที

ปัจจัยอะไรบ้างที่เสี่ยงกับการตั้งครรภ์ของ ผู้มีบุตรยาก
  1. หากคุณแม่ที่มีบุตรยากและอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ควรระวังเรื่องของโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นได้ รวมถึงระวังเรื่องโครโมโซมของทารกในครรภ์ผิดปกติ ซึ่งความเสี่ยงจะมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
  2. เคยแท้งลูก โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีการแท้ง 3 ครั้งติดต่อกัน หรือมีประวัติคลอดก่อนกำหนด
  3. การใช้ชีวิตของว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ สำหรับผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์มาก่อนควรงด เพราะแอลกอฮอล์จะผ่านไปยังลูกทางสายสะดือ และทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด การสูบบุหรี่จะทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกพิการ หรือเด็กจะเสียชีวิต
  4. ผู้ที่มีบุตรยากอาจมีลักษณะของมดลูกหรือรังไข่ที่ผิดปกติ เช่น มีเนื้องอกมดลูก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดการแท้งบุตรและคลอดก่อนกำหนดได้

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ใน ผู้มีบุตรยาก มีหลายภาวะซึ่งเราต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่น
  1. เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
  2. ภาวะแท้งคุกคาม
  3. ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก
  4. ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  5. ภาวะแท้งบุตร
  6. ภาวะรกเกาะต่ำ
  7. ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  8. การคลอดก่อนกำหนด

นอกจากระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะทำหน้าทีป้องกันโรคต่าง ๆ ของตัวคุณแม่เองแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ในการดูแลลูกน้อยในครรภ์ ฉะนั้นคุณแม่ควรทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมไปถึงผักและผลไม้ต่างๆ เพื่อช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นได้ ในกรณีที่พบความผิดปกติ การทราบล่วงหน้าจะช่วยให้ผู้มีบุตรยากที่ตั้งครรภ์ได้เตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น ใส่ใจดูแลสุขภาพครรภ์ ปฏิบัติตัวภายใต้การดูแลของคุณหมออย่างเคร่งครัด

"ทำอะไรได้ไม่ได้ระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีบุตรยาก"
หลายข้อสงสัยที่เกิดกับว่าที่ คุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ ว่าขณะตั้งครรรภ์ กิจกรรมอะไรที่ทำได้ไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะผู้มีบุตรยาก ที่กว่าจะก้าวมาถึงขั้นตอนการตั้งครรภ์ได้ต้องใช่ความพยายามมากพอสมควร เพื่อให้เกิดความเข้าใจ นำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายต่อลูกในท้อง เรามาคลายข้อสงสัยกัน  
  • ช่วงตั้งครรภ์ผู้มีบุตรยากมีเซ็กส์ได้ไหม ? การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติของคนท้อง อย่างไรก็ดี ถ้าคุณแม่มีบุตรยากหรือเคยมีประวัติการแท้ง หรือเลือดออกง่ายมาก่อน ในช่วง 3 เดือนแรก และก่อนคลอด 1 เดือน ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ โดย ท่วงท่าขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้วิธีการร่วมเพศที่อ่อนโยน ไม่ควรโลดโผนหรือรุนแรงเกินไป และควรใช้ถุงยางอนามัย เพราะขณะร่วมรักอาจมีโอกาสติดเชื้อในช่องคลอด ซึ่งบางชนิดสามารถส่งตรงถึงลูกและตัวคุณแม่ได้
  • การเดินทางไกลด้วยรถยนต์ หรือขึ้นเครื่องบิน ? หากต้องไปทำงานหรือไปธุระ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีบุตรยากสามารถทำได้ตามปกติไม่มีข้อห้ามใดๆ ในระหว่างเดินทางคุณแม่จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วยทุกครั้ง สำหรับช่วง 3 เดือนแรก ที่มีอาการแพ้ท้อง อ่อนเพลีย และวิงเวียนศีรษะควรหลีกเลี่ยงการเดินทางสักระยะเพื่อความปลอดภัย แต่การเดินทางโดยเครื่องบินได้ตามปกติ เมื่ออายุครรภ์เริ่มเยอะ ไม่ควรโดยสารเครื่องบินระยะทางไกล เพราะความกดดันของอากาศในเครื่องบินมักไม่คงที่ จะส่งผลถึงระบบไหลเวียนโลหิตของคุณแม่และลูกในครรภ์ได้
  • การเข้าฟิตเนสออกกำลังกายทำได้แค่ไหน ? การออกกำลังกายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เคยมีบุตรยากสามารถทำได้ เช่น การว่ายน้ำ การเดินเล่นช้า ๆ หรือ โยคะ การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคุณแม่นอกจากจะทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายและสดชื่นแล้ว ยังเป็นประโยชน์อย่างมากกับคุณแม่ที่ต้องการคลอดแบบธรรมชาติ

"การดูแลครรภ์เป็นพิเศษสำหรับผู้เคยมีบุตรยาก"
การรอคอยที่จะได้พบหน้าลูกทุกวินาทีช่างมีความหมาย สำหรับผู้เคยมีบุตรยาก การดูแลช่วงตั้งครรภ์จึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งที่ควรทำนอกจากพบแพทย์ อย่างสม่ำเสมอมีอะไรบ้างลองมาดูกัน
  1. ควรรีบพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์แบบพิเศษและตรวจสุขภาพครรภ์อย่างละเอียด
  2. เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมอาหารและควบคุมน้ำหนักให้พอดี
  3. งดบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  4. รับประทานวิตามินโฟเลตวันละ 400 ไมโครกรัมต่อวัน
  5. ออกกำลังกายทั้งก่อนและหลังการตั้งครรภ์
  6. ผ่อนคลายอารมณ์ลดความตึงเครียดลง เช่น การฟังเพลง การนั่งสมาธิ และการอ่านหนังสือ เป็นต้น
  7. หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง
  8. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางค์ เพราะสารเคมีบางอย่างอาจมีผลกับลูก
  9. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

คุณพ่อช่วยดูแล....ใส่ใจคุณแม่ส่งตรงถึงลูก
ส่วนว่าที่คุณพ่อก็สามารถช่วยคุณแม่ที่มีบุตรยากขณะตั้งครรภ์ได้ เป็นการสร้างกำลังใจ และช่วยสานสัมพันธ์มอบความรักให้กับลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์ โดยคุณพ่อสามารถทำได้หลายวิธี
  1. ไปพบหมอตามนัดพร้อมกับคุณแม่
  2. หาข้อมูลเตรียมความพร้อม หาข้อมูลเพื่อเตรียมให้การสนับสนุนคุณแม่อย่างเต็มที่
  3. ซื้อของเล่นรอไว้เลย คุณพ่อมักจะฝันถึงกิจกรรมที่จะทำร่วมกันเมื่อลูกโตขึ้น
  4. เตรียมบ้านต้อนรับสมาชิกใหม่ ทำความสะอาดบ้าน จัดบ้าน หรือเตรียมซักเสื้อผ้าของใช้เจ้าตัวน้อย
  5. อ่านหนังสือ เปิดเพลง ร้องเพลงให้ลูกฟัง แม้ลูกจะยังอยู่ในท้องคุณแม่ก็ตาม คุณสามารถทำให้ลูกคุ้นเคยกับเสียงของคุณได้

นอกจากการดูแลใส่ใจแล้วอาหารก็ช่วยได้ ในช่วง 1-3 เดือน
คุณแม่ต้องการพลังงานมากขึ้น ให้เน้นเมนูผักเป็นหลัก เพราะผักจะช่วยการย่อยและระบบขับถ่าย หากมีอาการคลื่นไส้ เสริมด้วยผลไม้รสเปรี้ยว ส่วนเครื่องดื่ม ควรเป็นน้ำผลไม้สด เช่น น้ำแตงโม น้ำส้ม แบบคั้นสดเพื่อคงคุณค่าด้านวิตามิน ช่วง 3-6 เดือน ควรเน้นผักใบเขียวมากขึ้น โดยเฉพาะที่มีวิตามินสูง เช่น บร็อกโคลี คะน้า ผักบุ้ง แครอต ถั่วงอก มะเขือเทศ ช่วงนี้ลูกน้อยกำลังเจริญเติบโต ฉะนั้นอาหารบำรุงลูกน้อย อย่างโอเมก้า 3 พวกปลาทะเล และถั่วบางชนิดก็มีความสำคัญ ช่วง 6-9 เดือน ใกล้คลอดเข้าไปทุกทีแล้ว คุณแม่อาจเคลื่อนไหวไม่ค่อยสะดวก อาหารที่ควรกินคืออาหารที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย และเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง อาทิ บร็อกโคลี แคนตาลูป ตับ เนื้อแดง ผักโขม ผักกาดหอม และหน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการดูแลครรภ์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เคยมีบุตรยาก ต้องดูแลมากเป็นพิเศษตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนคลอด หากพบปัญหาควรอยู่ในการดูแลของสูตินารีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์สุขภาพสตรี
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 03/05/2018

แพทย์ผู้เขียน

พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา