• banner

สัญญาณเตือนครรภ์เป็นพิษ

“ครรภ์เป็นพิษ” อีกหนึ่งภาวะที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ หลายๆ คนอาจไม่รู้ตัวเลยด้วยว่ากำลังเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษกับตัวเองอยู่ ดังนั้นการรู้เท่าทันอาการของภาวะครรภ์เป็นพิษจึงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะอาจนำมาซึ่งอันตรายทั้งตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) เป็นภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีภาวะโปรตีนหรือไข่ขาวปนอยู่ในปัสสาวะของคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าเป็นภาวะที่น่ากลัวและอันตรายมากสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยเกิดจากความผิดปกติของการฝังตัวของรก ส่งผลให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยลงจะเกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละเล็กทีละน้อย

สัญญาณเตือนครรภ์เป็นพิษ
• ความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท
• ตาพร่ามัว
• บวมบริเวณใบหน้า มือ และเท้า
• ปวดหัวรุนแรง ทานยาแล้วยังไม่ดีขึ้น
• ลูกดิ้นน้อยลง ทารกตัวเล็ก โตช้า
• จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงขวา
• น้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วผิดปกติ

ผลของภาวะครรภ์เป็นพิษต่อมารดา
เกิดภาวะชัก น้ำท่วมปอด ไตวาย ตับอักเสบ เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกในสมอง หากรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิต

ผลของภาวะครรภ์เป็นพิษของทารก

ทารกตัวเล็ก โตช้าในครรภ์ รกลอกตัวก่อนกำหนด หากรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
• มารดามีอายุ 35 ปีขึ้นไป
• ตั้งครรภ์ครั้งแรก
• ตั้งครรภ์แฝด2 ขึ้นไป
• ตั้งครรภ์ด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
• มารดาที่มีโรคอ้วน หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 30
• มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต SLE Antiphospholipid syndrome
• มีประวัติเป็นครรภ์เป็นพิษในครรภ์ก่อน หรือมีประวัติในครอบครัว

การป้องกันครรภ์เป็นพิษ
แนะนำฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยแพทย์จะประเมินความเสี่ยงเป็นรายๆ ในเคสที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับยาแอสไพริน เพื่อป้องกันครรภ์เป็นพิษตั้งแต่อายุครรภ์ 12-36 สัปดาห์ ตรวจติดตามตามที่แพทย์นัดอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ และเฝ้าระวังอาการของครรภ์เป็นพิษ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 หากเกิดความผิดปกติแพทย์จะทำการตรวจเพิ่ม และตรวจติดตาม ให้การรักษาเป็นรายๆ ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องสังเกตอาการที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น ปวดศีรษะมากทานยาแล้วไม่หาย มีอาการบวม หรือน้ำหนักขึ้นเร็ว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งแม่และลูก

ทำอย่างไรเมื่อมีภาวะครรภ์เป็นพิษ
เมื่อตรวจพบว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษ การดูแลติดตามจะขึ้นกับระยะของครรภ์เป็นพิษ หากภาวะครรภ์เป็นพิษไม่รุนแรง  สามารถตรวจติดตามอาการ ตรวจเลือดสัปดาห์ละ1 ครั้ง และอัลตราซาวด์ติดตามการเจริญเติบโตของทารกเป็นระยะ พร้อมทั้งเฝ้าระวังอาการและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และให้คลอดช่วงอายุครรภ์ 37 สัปดาห์  แต่หากภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง แพทย์จะพิจารณานอนโรงพยาบาล ให้ยาป้องกันการชัก ยากระตุันปอดทารกในรายที่มีอายุครรภ์น้อย สังเกตอาการและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ และให้คลอดช่วงอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ หรืออาจเร็วกว่านั้น หากภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงนั้ันแย่ลง โดยหลังคลอด 48 ชั่วโมง มารดาจะยังมีโอกาสความดันโลหิตสูง ชักหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หลังจากนั้นอาการและความดันโลหิตจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยแพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการและความดันโลหิตหลังคลอด 1 สัปดาห์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์สุขภาพสตรี
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 26/11/2024

แพทย์ผู้เขียน

พญ. พิมพ์อร คงประยูร

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา