• banner

มลภาวะกับโรคหัวใจ

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ท้องฟ้าในกรุงเทพมหานคร ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกจางๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่หมอก แต่คือฝุ่นควันที่มีมากจนเกินค่ามาตรฐาน หมอกหนาทึบที่เรามองเห็นนั้นเกิดจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือจากการกระทำของเราเอง เช่น ฝุ่นจากการเผาไหม้ ควันรถยนต์ ก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น พบได้ในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ถ้าสถาวะอากาศนิ่ง จะทำให้มีการสะสมมลพิษในอากาศ เป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติ

ฝุ่น PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน อาจเปรียบเทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนาดเล็กมากจนขนจมูกของมนุษย์นั้นไม่สามารถกรองดักจับได้ ทำให้ฝุ่นละอองชนิดนี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จึงเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคปอด และ โรคมะเร็ง

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และเพิ่มอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นอันตรายมากกว่าฝุ่นขนาดใหญ่ เนื่องจากสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ปริมาณมากกว่า และยังส่งผลกระตุ้นกระบวนการอักเสบในร่างกาย รบกวนระบบการแข็งตัวของเลือด ระบบประสาทอัตโนมัติ และการทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดทั่วร่างกาย

เราทราบว่า มลภาวะ (air pollution) หรือฝุ่นในอากาศ เป็นปัจจัยเสี่ยงชนิดใหม่ สำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด ในศตวรรษที่ 21 นี่เอง มีงานวิจัยหลายการศึกษา ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมลภาวะกับ การเกิด กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือ heart attack การศึกษาแรก เก็บข้อมูลในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนกว่า 65,000 คน (Women’s Health Initiative observational study) พบว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีมลภาวะมากนั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิด heart attack เพิ่มขึ้น โดยฝุ่นในอากาศทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อตารางเมตร จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากถึง 1.24 เท่า เพิ่มอัตราตายจากโรคหัวใจ 1.76 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง หรือ stroke 1.35 เท่า

อีกการศึกษาจากสมาคมมะเร็งของสหรัฐอเมริกา พบว่า มลภาวะ ฝุ่นขนาด PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 1.2 เท่า การที่มลภาวะหรือฝุ่นในอากาศเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น อธิบายจากการที่มลภาวะกระตุ้นระบบฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากขึ้น เลือดข้นขึ้น จึงเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น การศึกษาตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำเร็วๆนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับมลภาวะ หรือฝุ่นในอากาศ มีอัตราการเสื่อมของหลอดเลือดหัวใจโดยดูจากหินปูนที่เกาะผนังหลอดเลือดหัวใจ หรือ coronary calcium score เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน หายใจรับเอาฝุ่นยิ่งมากก็ยิ่งมีหินปูนเกาะที่หลอดเลือดหัวใจมากขึ้น แปลความหมายง่ายๆว่า มลภาวะ หรือ ฝุ่นในอากาศ เร่งทำให้หลอดเลือดหัวใจ เสื่อมเร็วกว่าวัยอันควรนั่นเอง

แนวทางการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ทำได้โดย การสวมหน้ากากอนามัยที่รุ่น N95 ซึ่งมีความละเอียดของเส้นใยสูงพอที่จะกรองฝุ่นเล็กขนาด 2.5 ไมครอนได้ หน้าการชนิดนี้กรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอนได้ถึง 95% แต่หน้ากากอนามัยทั่วไปไม่สามารถกรองฝุ่นชนิดนี้ได้ นอกจากการป้องกันฝุ่นแล้ว เรายังสามารถลดวามเสี่ยงของโรคหัวใจ ด้วยวิธีอื่นๆ ได่แก่ การควบคุมน้ำหนัก เลือกรับประทานอาหาร เช่น เลือกรับประทานไขมันจากพืชแทนจากสัตว์ ลดอาหารเค็ม งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ อยู่ก่อนแล้ว ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการสูดฝุ่น PM2.5 ใช้หน้ากากป้องกัน เนื่องจากมลภาวะดังกล่าวอาจกระตุ้นให้โรคหัวใจเดิมรุนแรงมากขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

นพ. ชนินทร์ พีระบูล

img

ความถนัดเฉพาะทาง

Cardiologist

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ