• banner

โรคแผลในกระเพาะอาหาร

สำหรับใครที่มีอาการปวดหรือจุกแน่นท้อง ปวดท้องกลางดึกหลังจากหลับไปแล้ว หรือมีอาการปวดท้องมากเมื่อทานอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด นั่นอาจเป็นสัญญาณเสี่ยงโรคแผลในกระเพาะอาหาร
    
โรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) เกิดจากหลายสาเหตุและมีกลไกของพยาธิกำเนิดซับซ้อนมาก สาเหตุที่สำคัญคือ กรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาในกระเพาะอาหาร ไม่ว่ากรดนั้นจะมีปริมาณมากหรือน้อยจะเป็นตัวทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารร่วมกับมีความบกพร่องของเยื่อบุกระเพาะอาหารที่สร้างแนวต้านทานกรดไม่ดี นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ ยาแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ การสูบบุหรี่ ความเครียด อาหารเผ็ด สุรา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการระคายต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบเรื้อรัง แล้วนำไปสู่การการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น

ปัจจุบันพบว่าเชื้อโรคเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งมีอยู่ในกระเพาะอาหารของคนปกติ มีบทบาทโดยตรงและถือเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ที่สำคัญ ในขณะที่ทำการรักษาแผลในกระเพาะอาหารอยู่ เชื้อนี้จะป็นต้นเหตุทำให้แผลหายช้า หรือทำให้แผลที่หายแล้วเกิดเป็นซ้ำได้อีก และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันหนึ่งในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหารมักจะเกิดขึ้นกับส่วนใดของกระเพาะอาหาร
โรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นคำรวม หมายถึง แผลที่เกิดขึ้นในเยื่อบุทางเดินอาหารเฉพาะส่วนที่สัมผัสน้ำย่อยของกระเพาะอาหารที่มีกรดเป็นอง๕ืประกอบสำคัญ จึงพบแผลได้ตั้งแต่ส่วนล่างของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ส่วนตำแหน่งที่พบแผลได้บ่อย คือ กระเพาะอาหารส่วนปลาย (Gastric ulcer – GU) และลำไส้เล็กส่วนต้น ใกล้รอยต่อระหว่างกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcer – DU) โดยแผล DU พบได้บ่อยในทุกอายุตั้งแต่ 20-70 ปี ส่วนแผล GU จะพบมากในผู้สูงอายุขึ้น คือ 40-70 ปี

อาการสำคัญของโรค
• อาการที่พบบ่อยสุด คือ อาการปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือหน้าท้องช่วงบน มักเป็นเวลาท้องว่างหรือเวลาหิว และอาการจะเป็นตลอดทั้งวัน
• ปวดแน่นท้อง ซึ่งมักจะบรรเทาได้ด้วยอาหารหรือยาลดกรด ผู้ป่วยบางคนมีอาการปวดมากขึ้นหลังอาหาร โดยเฉพาะเมื่อทานอาหารจัด เช่น เผ็ดหรือเปรี้ยวจัด
• อาการปวดมักเป็นๆ หายๆ นานเป็นปี โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ และหายไปหลายๆเดือน จึงกลับมาปวดอีก
• ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากหลับไปแล้ว
• บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีอาการปวดแน่นท้อง หรือรู้สึกไม่สบายในท้อง ซึ่งมักจะเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือกลางท้องรอบสะดือ มักมีอาการท้องอืดร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังทานอาหาร ท้องจะอืดขึ้นชัดเจน มีลมมากในท้อง ท้องร้องโกรกกราก ต้องเรอหรือผายลมจะดีขึ้น อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะเวลาหลังอาหารแต่ละมื้อ หรือช่วงเช้ามืด ผู้ป่วยอาจมีอาการอิ่มง่ายกว่าปกติ ทำให้กินได้น้อยลงและน้ำหนักลดลงบ้างเล็กน้อย
• แม้จะมีอาการเรื้อรังเป็นปี สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม ไม่มีน้ำหนักลดลง ไม่ซีดลง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคแผลในกระเพาะอาหารซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 25-30 ได้แก่
• อาการตกเลือดในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหลว หรือหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม
• กระเพาะอาหารทะลุ ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องช่วงบนเฉียบพลัน รุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก
• กระเพาะอาหารอุดตัน ผู้ป่วยจะกินได้น้อย อิ่มเร็ว มีการอาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

หลักการรักษา
• กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย
• กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่กินให้บ่อยมื้อ ไม่ควรกินจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
• หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม
• งดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา
• งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบทุกชนิด
• ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
• กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ รวมทั้งให้ยากำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรด้วย
• ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อนปวดท้องรุนแรง หรือเบื่ออาหารน้ำหนักลดลงมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์

โรคแผลในกระเพาะอาหารจะหายขาดหรือไม่
โรคแผลในกระเพาะอาหารจะหายได้ แต่จะกลับเป็นใหม่ได้อีกร้อยละ 70-80 ในระยะเวลา 1 ปีหลังให้การรักษา ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติของโรคนี้ที่จะมีลักษณะเรื้อรังและกลับมาเป็นซ้ำเสมอๆ สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรร่วมด้วย พบว่าหลังจากที่กำจัดเชื้อได้แล้ว โอกาสที่แผลจะกลับมาเป็นซ้ำลดลงไปอย่างมาก จากร้อยละ 70-80 ใน 1 ปีเหลือไม่เกินร้อยละ 10 ใน 1 ปี และมีโอกาสหายขาดได้

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร วิธีที่จะบรรเทาอาการของโรค คือ ปฏิบัติตัวตามหลักการที่ได้กล่าวไว้แล้วในการรักษา ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้ยาติดต่อนานหลายปีเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดอาการ เช่น ผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องกินยาโรคกระดูกและข้ออักเสบอยู่ตลอด ผู้ป่วยที่เคยมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นและผู้ป่วยที่เป็นบ่อยมากกว่า 3 ครั้งต่อปี เป็นต้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777 
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 30/07/2024

แพทย์ผู้เขียน

นพ. กำธร เผ่าสวัสดิ์

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคระบบทางเดินอาหาร

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา