• banner

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันถือว่า เป็นโรคความเสื่อมของทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย โดยพบรองลงมาจากโรคหลงลืม หรือโรคอัลไซเมอร์ ที่เคยได้ยินกัน ในส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่ก็อาจพบได้ครับในคนที่อายุน้อยแต่ในอัตราส่วนที่น้อยกว่า ซึ่งในการดำเนินของโรคพาร์กินสันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ สาเหตุการเกิดโรค ณ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบว่าเกิดจากการเสียสมดุลของสารเคมีโดปามีน(Dopamine)ในสมอง โดยเฉพาะเซลล์สมองส่วนที่สร้างสารเคมีโดปามีนที่บริเวณก้านสมองส่วนบน(ในส่วนที่เรียกว่า Substantia nigra pars compacta) ตายไปมากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งโดปามีนเป็นสารเคมีในสมองที่ทำหน้าที่หลายอย่าง หนึ่งในหน้าที่คือควบคุมประสานงานของระบบการเคลื่อนไหวของร่างกายเรา

อาการของโรคพาร์กินสัน คนที่เป็นโรคพาร์กินสันมักจะเกิดอาการทางระบบประสาทที่เด่นชัด ได้แก่ อาการสั่น แข็งเกร็ง และเคลื่อนไหวช้า อาการสั่น มักเกิดขึ้นขณะอยู่เฉยๆ มีลักษณะเฉพาะคือ สั่นมากเวลาอยู่นิ่งๆ แต่ถ้าหากได้เคลื่อนไหว ขยับมือทำอะไร อาการสั่นจะลดลงหรือหายไป ซึ่งอาการสั่นพบได้ประมาณร้อยละ 70 ของคนที่เป็นโรคพาร์กินสัน สำหรับอาการแข็งเกร็ง มักมีอาการแข็งเกร็งของแขนขา และลำตัว ทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบากมากขึ้น อาการเคลื่อนไหวช้าลง ทำอะไรช้าลงไปจากเดิม ไม่คล่องแคล่วว่องไวเหมือนเดิม เดินช้า แขนไม่ค่อยจะแกว่ง นอกจากนี้การแสดงอารมณ์ทางสีหน้าก็จะลดลง ดูเฉยๆ เขียนตัวหนังสือเล็กลงกว่าเดิม พูดเสียงเบาลง และนอกจากอาการเคลื่อนไหวผิดปกติแล้ว คนที่เป็นโรคพาร์กินสัน สามารถมีอาการอื่นๆร่วมด้วยได้ เช่น ซึมเศร้า ท้องผูก อ่อนล้า ดมกลิ่นได้ลดลง การนอนผิดปกติ ละเมอส่งเสียงดังร่วมกับขยับแขนขาไปมา เป็นต้น

การวินิจฉัย โดยทั่วไปหากผู้ป่วยมีอาการชัดเจน สามารถทำการวินิจฉัยได้โดยจากลักษณะของอาการ และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท การตรวจพิเศษเช่น การตรวจภาพทางรังสี และการเจาะเลือดตรวจไม่ได้ช่วยในการนำมาวินิจฉัยโรค แต่อาจจะใช้เพื่อวินิจฉัยแยกโรคเท่านั้น

การรักษา การรักษา ในปัจจุบัน มีตัวยาลีโวโดปา ซึ่งถือว่าเป็นตัวยาที่ประสิทธิภาพดีที่สุดในปัจจุบัน โดยตัวยาลีโวโดปาจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารเคมีโดปามีนในสมองอีกที เพื่อให้มีปริมาณสารเคมีโดปามีนเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งจะทำให้คนที่เป็นโรคพาร์กินสันมีอาการดีขึ้นหลังจากรับประทานตัวยานี้เข้าไป นอกจากนี้ยังมีชนิดที่ออกฤทธิ์ที่ตัวรับโดปามีนโดยตรง และยาที่ช่วยให้ยาออกฤทธิ์นานขึ้น การทำกายภาพบำบัด จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ การรักษาทางกายภาพบำบัดจะช่วยในการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง การเดิน การทรงตัว นอกจากนี้ยังช่วยแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ไหล่ติด ปวดหลัง ปวดเอว ปวดขา เป็นต้น การรักษาโดยวิธีผ่าตัด จากความก้าวหน้าทางศัลยกรรมระบบประสาท มีวิธีการผ่าตัดที่เรียกว่า DBS (Deep Brain Stimulation) เป็นการผ่าตัดโดยอาศัยการฝังสายเพื่อทำการกระตุ้นทางไฟฟ้าขนาดอ่อนในสมองส่วนลึก แต่การผ่าตัดไม่ได้ทำให้โรคหายขาด เพียงแต่ว่าจะทำให้การคุมอาการของโรคได้ง่ายขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777 
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคระบบประสาท
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 11/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

นพ. สุรัตน์ สิงห์มณีสกุลชัย

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคระบบประสาท

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ