• banner

ทางเลือกในการรักษาของผู้มีบุตรยาก

ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปแนวคิดของการมีลูกก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ในปัจจุบันพบปัญหามีบุตรยากเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้หญิงแต่งงานช้าลงหรือแต่งงานเมื่อมีอายุมากแล้ว ทำให้โอกาสในการมีบุตรลดลง  สำหรับคนที่อยู่ในภาวะมีบุตรยาก อยากจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็ไร้วี่แววของเจ้าตัวน้อย จึงต้องลองหาทางกันต่อไป แต่ข้อได้เปรียบของคู่สมรสที่มีบุตรยากในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยีที่ก้าวไกล วิทยาการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ให้ผลแม่นยำมากขึ้น และยังมีทางเลือกอีกมากมายที่จะมาช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้มีบุตรยากได้ไม่มากก็น้อย

"โอกาสในการรักษาการมีบุตรยาก"
“อยากมีลูกต้องไม่ยอมแพ้” เพราะวิทยาการสมัยใหม่ ช่วยเพิ่มโอกาสทำให้ผู้มีบุตรยากสมหวังมาแล้วหลายคู่ แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกคู่ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีวิธีการที่หลากหลาย โดยแต่ละวิธีก็จะเหมาะสมกับแต่ละคนต่างกันไป ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก ระยะเวลาที่มีบุตรยาก อายุของคู่สมรส และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ในการเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

การเพิ่มโอกาสในการรักษาภาวะมีบุตรยาก แบ่งได้เป็น 3 วิธีหลักๆ คือ
  1. การรักษาด้วยยา เพื่อกระตุ้นการโตของเซลล์ไข่ และการตกไข่  
  2. การรักษาด้วยการผ่าตัด ในฝ่ายหญิง จะเป็นการผ่าตัดตกแต่งท่อนำไข่ หรือ การผ่าตัดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และการเลาะเยื่อพังผืดในอุ้งเชิงกราน ส่วนในฝ่ายชาย คือ การผ่าตัดในรายที่ฝ่ายชายมีเส้นเลือดขอดที่อัณฑะ หรือการอุดตันของท่อนำอสุจิ
  3. การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ คือ การปฏิสนธินอกร่างกาย หรือเด็กหลอดแก้ว (IVF) ซึ่งสิ่งนี้ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้นถึง 30-40% ในผู้ที่อายุไม่เกิน 35 ปี

ทั้ง 3 วิธีที่กล่าวมาข้างต้นช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีบุตรยากได้ แต่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีโอกาสแก้ปัญหาการมีบุตรยากได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปัญหาของแต่ละคู่ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด

"วิธีรักษาการมีบุตรยากที่เป็นที่นิยมในเมืองไทย"
จากสถิติพบว่าคู่สมรสที่มีบุตรยากหันมาใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ถึงประมาณ 7,000 ราย โดยอัตราความสำเร็จอยู่ที่ร้อยละ 35 แต่ถ้าคู่สมรสอายุมากอัตราความสำเร็จก็ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอายุ 38 ปีขึ้นไป  ซึ่งการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน มีดังนี้
  1. คัดเชื้อเพื่อฉีดเข้าโพรงมดลูก (Intrauterine insemination: IUI) เป็นการรักษาการมีบุตรยากที่สะดวก และประหยัด เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ตรวจไม่พบปัญหาทางร่างกายที่ชัดเจน หรือมีความผิดปกติของน้ำเชื้อแค่เล็กน้อย
  2. ทำกิ๊ฟท์ (Gamete Intrafallopian Transfer: GIFT) ไม่มีที่ไหนทำเท่าไรแล้วค่า (ความเห็นของพญ.พิมผกา) โดยนำไข่ที่เจาะออกมาผสมกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย แล้วใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิภายในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิง ในปัจจุบันไม่นิยมทำแล้ว เนื่องจากมีเทคโนโลยีของเด็กหลอดแก้วที่ให้ความสำเร็จมากกว่าและปลอดภัยกว่า
  3. เด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization: IVF) การรักษาที่สะดวก ไม่ต้องเจาะหน้าท้อง และให้อัตราการตั้งครรภ์สูง
  4. ฉีดเชื้ออสุจิเพียงหนึ่งตัวเข้าไปในเซลล์ไข่ หรืออิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI) เหมาะสำหรับคู่สมรสที่มีอสุจิน้อยมากจนไม่สามารถปฎิสนธิไข่ได้เอง หรือไม่มีตัวอสุจิเลย แต่อัณฑะยังคงมีการผลิตอสุจิอยู่

ความสำเร็จในการรักษาและโอกาสในการตั้งครรภ์จะขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย แพทย์จะเป็นผู้ช่วยพิจารณาว่าควรเลือกใช้วิธีใด เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์โดยคุ้มค่ากับเวลา ค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด

"เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุด ในการรักษาการมีบุตรยาก"

สำหรับเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ ช่วยคืนความหวังของผู้มีบุตรยากให้กลับมาสดใสขึ้นมาอีกครั้ง ได้ล้ำสมัยที่สุด ณ เวลานี้ คงหนีไม่พ้น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF วิทยาการเพื่อช่วยในการคัดเลือกตัวอสุจิที่แข็งแรงและไข่ที่สมบูรณ์ออกมา ซึ่งช่วยให้การปฏิสนธิมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ความสำเร็จในการลดภาวะของผู้มีบุตรอยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์

โดยเฉลี่ยแล้วอัตราความสำเร็จในการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะตกราว 30% ต่อการเก็บไข่แต่ละครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของแต่ละคู่ด้วย หมายถึงคนที่อายุน้อยกว่า 35 ปีอาจมีอัตราความสำเร็จสูงกว่านี้ ในขณะที่คนอายุมากกว่า 35 ปีจะน้อยกว่านี้ และในคนที่อายุเกิน 40 ปีอาจมีอัตราความสำเร็จเพียง 20% หรือน้อยกว่า คนที่ไม่ตั้งครรภ์จากการรักษาครั้งแรกถ้ามาทำซ้ำก็จะมีอัตราการตั้งครรภ์เช่นครั้งแรก ดังนั้นถ้ามารับการรักษาจำนวนหลายครั้งก็จะมีโอการสตั้งครรภ์สะสมได้สูงขึ้น เช่น 60-70%

ตอนนี้ต้องบอกเลยว่า การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องมือมากกว่าวิธีอื่น มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ก่อนที่จะทำเด็กหลอดแก้วนั้น อาจจะลองรักษาด้วยวิธีอื่นเช่น การฉีดเชื้อผสมเทียม การกระตุ้นไข่ การผ่าตัด แต่การทำ IVF ไม่ใช่จะสำเร็จเสมอไป ทุกๆ ครั้งที่ย้ายตัวอ่อนจะมีอัตราสำเร็จเฉลี่ยเพียง 35% ดังนั้นต้องเผื่อใจในกรณีที่ไม่สำเร็จด้วย แต่ไม่ว่าจะมีโอกาสสำเร็จน้อยเพียงใด คนที่อยากมีบุตรก็จำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อลองดูสักครั้ง

นอกจากการใช้วิทยาการเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยให้มีลูกอย่างที่ใจต้องการแล้ว หากยังไม่สำเร็จอย่างเพิ่งท้อแท้ พลังบวกคือกำลังใจสำคัญ เมื่อตั้งเป้าหมายแล้วต้องไปให้ถึงเป้าหมาย “การมีบุตร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิทยาการเพียงอย่างเดียว” แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของสามีและภรรยา ที่พร้อมและยินดีทำตามคำแนะนำจากแพทย์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์สุขภาพสตรี
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 03/05/2018

แพทย์ผู้เขียน

พญ. พิมพกา ชวนะเวสน์

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านรักษาผู้มีบุตรยาก

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา