• banner

ใช้ “มอร์ฟีน” รักษาอาการปวด จะติดยาหรือไม่

มอร์ฟีน เป็นยาแก้ปวดชนิดรุนแรง มีคุณสมบัติช่วยระงับอาการปวดรุนแรงอย่างได้ผล โดยทางการแพทย์จะนำมาใช้เพื่อรักษาอาการปวดหลังการผ่าตัด แต่หลายคนยังคงสงสัยว่าหากนำมอร์ฟีนมารักษาอาการปวด จะทำให้ติดยาหรือไม่ เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการใช้ยามอร์ฟีนกันค่ะ

อาการปวด มักทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ไม่มีความสุขในการดำรงชีวิต จิตใจหดหู่ นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร การรักษาควรเริ่มต้นที่ผู้ป่วยและญาติควรมีส่วนร่วมในการรักษาอาการปวด โดยการให้ข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับลักษณะความปวด ปวดอย่างไร เป็นมานานเท่าใด ปวดต่อเนื่องตลอดเวลาหรือปวดเป็นพักๆ อาการปวดรุนแรงแค่ไหน ถ้าคะแนนความปวด 0-10 โดย 0 คือไม่ปวดเลย และ 10 คือ ปวดอย่างที่สุด อะไรที่ทำให้ปวดมากขึ้นหรือดีขึ้น
    
แพทย์จะสั่งยาขนาดที่เหมาะสม เพื่อควบคุมอาการปวด โดยมียาควบคุมอาการปวดที่รับประทานตามเวลาอย่างต่อเนื่อง มอร์ฟีนที่ออกฤทธิ์ยาวร่วมกับการใช้ยามอร์ฟีนที่ออกฤทธิ์สั้นเป็นครั้งคราว หากมีอาการปวดเฉียบพลันขึ้นมาเป็นระยะ

ใช้มอร์ฟีนรักษาอาการปวดจะติดยาหรือไม่
บางครั้งโรคที่เป็นอาจทำให้มีอาการปวดที่รุนแรงและไม่สามารถดีขึ้นได้ด้วยยาทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาลดการอักเสบ การนำมอร์ฟีนเข้ามาใช้ในการรักษาอาการปวดนั้น ทางการแพทย์ถือว่ามีความปลอดภัย และได้ผลการรักษาที่ีเป็นอย่างมาก เพราะยามอร์ฟีนเป็นยาที่สามารถรักษาอาการปวดได้เกือบทุกชนิด แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อใช้ยามอร์ฟีนแล้วอาการเจ็บป่วยนั้นจะต้องเป็นระยะที่รุนแรง หรือระยะสุดท้ายเสมอไป เช่น ปัจจุบันมีการนำมอร์ฟีนมาลดใช้อาการปวดในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดและผู้ป่วยโรคปวดเรื้อรังทั่วไปด้วยเช่นกัน

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยามอร์ฟีนในเรื่องของการติดยา พบว่าการใช้ยามอร์ฟีนรักษาอาการปวดในปริมาณที่ถูกต้องตามที่แพทย์สั่งนั้น ผู้ป่วยจะไม่ติดยา เพราะการติดยามอร์ฟีนจะเกิดจากการใช้ยาเพื่อความสุขทางอารมณ์ ไม่ใช่เพราะอาการปวด ซึ่งการเสพทางอารมณ์จะทำให้ผู้ป่วยใช้ยามากขึ้นเรื่อยๆ แตกต่างจากการรักษาที่ผู้ป่วยจะไม่ร้องขอยาเพิ่มเมื่อความปวดควบคุมได้ดีแล้ว

คำแนะนำเมื่อได้รับการรักษาด้วยยามอร์ฟีน
• รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องตามเวลาที่กำหนด เพื่อควบคุมอาการปวดอย่างมีประสิทธิภาพ
• หากต้องการหยุดยาควรให้ปรึกษาทีมผู้รักษา ไม่ควรหยุดยาทันที โดยเฉพาะหากทานยามานานไม่เกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะให้การดูแลต่อเนื่องตลอดการรับประทานยาของผู้ป่วย
• หากยังมีอาการปวดระหว่างวัน สามารถรับประทานยาเป็นครั้งคราวชนิดที่ออกฤทธิ์สั้น ที่แพทย์สั่งให้เพิ่มได้ทุก 2 ชั่วโมง ถ้าใช้มากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อปรับขนาดยาที่รับประทานต่อเนื่องเพิ่มขึ้น
• คนเป็นโรคไตสามารถใช้มอร์ฟีนได้ โดยแพทย์จะเริ่มจากปริมาณน้อยๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มตามช้าๆ ไม่ได้มีข้อห้ามในการให้ยาในผู้ป่วยโรคไต ยกเว้นกรณีไตวายรุนแรง

ผลข้างเคียงจากยามอร์ฟีน
• ท้องผูก มักเกิดกับผู้ป่วยทุกรายและควรได้รับการรักษาด้วยยาระบายควบคู่กันไป
• คลื่นไส้และอาเจียน สามารถเกิดได้ตั้งแต่วันแรกไปจนถึง 2 สัปดาห์ แพทย์อาจให้ยาลดอาการอาเจียนควบคู่กันไปด้วย ซึ่งมักจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน แต่หากอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนเกิดขึ้นนานกว่านั้น ควรหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ ที่ไม่ใช่สาเหตุจากยามอร์ฟีน
• ง่วงซึมจากยา มักเกิดได้ในช่วงแรกของการรับประทานยาหรือหลังการปรับยาเพิ่มขึ้น แต่อาการดังกล่าว มักจะอยู่เพียง 1-3 วัน จากนั้นผู้ป่วยจะปรับตัวได้ดีขึ้นและง่วงซึมลดลง
• ผลข้างเคียงในเรื่องการกดการหายใจจากการใช้ยามอร์ฟีนนั้น พบว่า หากรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดมีโอกาสเกิดปัญหานี้น้อยมากๆ หรือแถบจะไม่มีเลย เพราะปริมาณยาที่ให้อยู่ในมาตรฐานการรักษาและโดยธรรมชาตินั้น อาการปวดที่ผู้ป่วยมีอยู่แล้วจะกระตุ้นร่างกายอยู่ตลอด ไม่ให้เกิดการหยุดหายใจ

การรับประทานยามอร์ฟีนก็เหมือนการรับประทานยาแก้ปวดที่ไม่ได้มีผลทำให้ร่างกายและอวัยวะภายในทำงานลดลง ดังนั้นการใช้ยามอร์ฟีนจึงมีความปลอดภัย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์เคมีบำบัดและโลหิตวิทยา
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 19/08/2024

แพทย์ผู้เขียน

พญ. คัคนานต์ เทียนไชย

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านมะเร็งบำบัด

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ