• banner

รู้เท่าทันโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

อาการบ้านหมุน หรืออาการเวียนศีรษะอย่างรุนแรงเป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งกับสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงในวัยผู้สูงอายุ พบได้ในผู้คนอายุ 30-60 ปี สำหรับสาเหตุของอาการบ้านหมุนนั้น หลายคนทราบว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปของโรคเมเนียร์ (Meniere's disease) ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นในนั่นก็คือ มีแรงดันของน้ำในหูมากเกินปกติ ว่าแต่โรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีอาการอย่างไร และหากมีอาการควรปฏิบัติตนอย่างไรบ้างนั้น วันนี้เรามีข้อมูลสุขภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากค่ะ มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย เมื่อมีอาการเวียนศีรษะก็มักจะวินิจฉัยตัวเองว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อันที่จริงแล้วอาการเวียนหัวอย่างชนิดที่เรียกว่าบ้านหมุนนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เหมือนอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ที่มีสาเหตุทำให้เกิดอาการได้มากมาย พยาธิสภาพของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากความคั่งของของเหลวภายในหูชั้นใน แรงดันที่เพิ่มขึ้นจะขัดขวางการทำงานของกระแสประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว  

การที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันควรมีอาการดังต่อไปนี้
  • เวียนหัวบ้านหมุนเป็น ๆ หาย ๆ รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน ขอเน้นว่าไม่ใช่อาการแค่มึนงงเกิดขึ้นทันทีทันใด อาการค่อนข้างรุนแรง ลุกขึ้นก็ทรงตัวไม่อยู่ ต้องนอนนิ่งหลับตา พอเปลี่ยนท่าก็ทำให้อาการมากขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ระยะเวลาของอาการเวียนศีรษะแต่ละครั้งที่เป็นนานมากกว่า 20 นาทีถึงหลาย ๆ ชั่วโมง โดยที่คนไข้ไม่มีอาการหมดสติหรืออ่อนแรงร่วมด้วย การซักประวัติเรื่องระยะเวลาที่มีอาการและความถี่บ่อยของโรค ช่วยทำให้แพทย์วินิจฉัยแยกจากโรคอื่นได้ง่ายขึ้น
  • หูอื้อ ประสาทหูเสื่อมเป็น ๆ หาย ๆ ระยะแรกมักมีอาการชั่วคราว กล่าวคือเมื่อมีอาการเวียนศีรษะทุเลาอาการหูอื้อก็หายไปด้วย ในผู้ป่วยที่มีอาการซ้ำ ๆ หลาย ๆครั้งอาจทำให้การได้ยินเสื่อมลงถาวรได้
  • เสียงดังในหู อาจเป็นเสียงหึ่ง วี้ เสียงลม เสียงจักจั่น เสียงดังในหูสามารถรบกวนจนทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ หงุดหงิดได้เลยทีเดียว
  • อาการหนัก ๆ หน่วง ๆ ในหู คล้ายมีแรงดัน

น้ำในหูส่วนไหนนะที่ไม่เท่ากัน มีน้ำแฉะ ๆ ในหูทำให้เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันหรือไม่
หูของคนเราแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน หูชั้นในมีหน้าที่ควบคุมเรื่องการได้ยินและการทรงตัว ผู้ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีของเหลวในหูชั้นในคั่งอยู่มากกว่าปกติ แรงดันที่เพิ่มขึ้นได้ไปขวางการทำงานของกระแสประสาท ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหูอื้อและเวียนศีรษะ ดังนั้นผู้ป่วยที่หูชั้นนอกอักเสบ ปวดบวม หรือมีน้ำแฉะภายในช่องหูด้านนอก จะไม่ทำให้เกิดโรคนี้เลย

 มีโอกาสเป็นซ้ำอีกได้มากน้อยแค่ไหน
ผู้ป่วยที่มีความเครียด อดนอน ไม่ค่อยออกกำลังกาย อาการมักกำเริบได้บ่อยกว่าคนที่ดูแลสุขภาพอย่างดี ดังนั้นการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง การลดอาหารที่มีรสเค็ม หลีกเลี่ยงชากาแฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยให้อาการไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก

ขณะที่มีอาการควรทำตัวอย่างไร
เมื่อรู้สึกว่าเริ่มมีอาการไม่ต้องตกใจ ควรหยุดพัก ถ้าเกิดอาการขึ้นในขณะขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรต้องหยุดทันที นอนพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น อย่าเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่ากะทันหัน งดอาหารที่มีรสเค็ม โดยจำกัดเกลือในอาหารไม่ควรเกินวันละ 2 กรัมต่อวัน งดเหล้า บุหรี่ ชากาแฟ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบมาพบแพทย์ โรคน้ำในหูไม่เท่ากันนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในคนวัยทำงาน เพศหญิงพบได้บ่อยกว่าเพศชาย เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ อาการอาจเกิดขึ้นได้ในหูข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อาการเวียนศีรษะเกิดได้จากหลายสาเหตุ การวินิจฉัยโรคน้ำในหูไม่เท่ากันของแพทย์มักใช้การซักประวัติอย่างละเอียดเป็นหลัก อาจร่วมกับการตรวจพิเศษอย่างอื่นเพื่อแยกโรคที่อาจเป็นสาเหตุอื่น ๆ

การตรวจพิเศษในคลินิก หู คอ จมูก ได้แก่
  • การตรวจระดับการได้ยิน (Audiogram)
  • การตรวจการทรงตัว (Electronystagnography; ENG)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าในหูชั้นใน (Electrocochleography; ECOG)
  • การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง (Audio Brainstem Response)
  • MRI, CT Scan สมอง เพื่อช่วยแยกโรคที่สงสัยว่าเกิดจากเนื้องอกที่เส้นประสาท

ทั้งนี้แพทย์จะเลือกส่งตรวจพิเศษในกรณีที่สงสัยเท่านั้น

ทานยาจะหายหรือไม่ 
ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นหลังจากรับประทานยา แพทย์จะสั่งยาขยายหลอดเลือดเพื่อลดการบวมและการคั่งของน้ำในหูชั้นใน ยาลดอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้ อาเจียน โดยให้รับประทานในขณะที่มีอาการ ส่วนยาอื่น ๆ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากล่อมประสาท ยานอนหลับก็ช่วยทำให้อาการดีขึ้นอย่างมาก แพทย์อาจแนะนำท่าบริหารระบบการทรงตัวซึ่งจะช่วยทำให้สมองสามารถปรับตัวได้เร็วขึ้น เนื่องจากโรคนี้มีโอกาสจะเกิดอาการได้หลาย ๆ ครั้ง จึงถือว่าไม่หายขาด คุณมีโอกาสจะเกิดอาการขึ้นได้อีก ผลที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วยตามมาได้ คือ ลื่นล้มกระแทก เกิดอุบัติเหตุถ้าเกิดอาการขณะขับรถหรือกำลังทำงานกับเครื่องจักร ซึมเศร้ากังวล หรือมีอาการหูอื้อถาวร การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อน ลดความเครียด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ชากาแฟ และอาจมียาแก้เวียนศีรษะติดบ้านไว้เสมอ มีน้อยรายเท่านั้นที่ทานยาแล้วไม่ได้ผลจนต้องรักษาโดยการผ่าตัด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคหู คอ จมูก
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

พญ. สิริพร ชีเจริญ

img

ความถนัดเฉพาะทาง

โสต-ศอ-นาสิกแพทย์

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

ข้อมูลสุขภาพอื่นๆ

แพ็กเกจอื่นๆ