• banner

"ไข้หวัดใหญ่" อันตรายถึงชีวิต

โรคไข้หวัดใหญ่ คือการติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza โดยพบได้ในทุกเพศวัย ประเทศไทยมักพบอุบัติการณ์สูงสุดในช่วงฤดูฝน (มิถุนายนถึงตุลาคม) จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2560 (ข้อมูลช่วงเดือน มกราคมถึงพฤศจิกายน 2560) พบผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย 179,986 ราย โดยมีอัตราป่วย 275.09 ต่อประชากรแสนคน และมีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ถึง 52 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.08 ต่อประชากรแสนคน โดยเมื่อดูตามกลุ่มอายุแล้ว พบว่าผู้ป่วยกลุ่มเด็กโดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 4 ปี มีอัตราการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่มากที่สุด

สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) โดย มีอยู่ 3 ชนิด คือ สายพันธุ์ เอ บี และ ซี 1. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (Influenza A virus) พบได้ทั้งในคนและสัตว์ โดยแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยตามชนิดของโปรตีนที่พบบนผิวของไวรัส โดยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ มักก่อนให้เกิดอาการรุนแรง และส่วนใหญ่มักระบาดมากกว่าสายพันธุ์บี 2. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (Influenza B virus) มีสองสายพันธุ์คือ Victoriaกับ Yamagata 3. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (Influenza C virus) สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ แต่มักไม่มีอาการและพบน้อย ส่วนใหญ่พบในเด็ก การ

ติดต่อของไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อจากคนสู่คน โดยติดต่อผ่านทางเดินหายใจ เช่น การหายใจละออง เสมหะผ่านทางการไอหรือ รวมทั้งผ่านการสัมผัสที่สิ่งของที่ผู้ป่วยได้ไปสัมผัสไว้

ระยะฟักตัวของโรค
อยู่ที่ประมาณ 1 - 4 วัน หลังจากไปสัมผัสโรค ส่วนมากจะอยู่ที่ 2 วัน

อาการแสดงของไข้หวัดใหญ่
อาการแสดงมักมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ร่วมกับอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ เจ็บคอ มีน้ำมูล ไอ อย่างไรก็ตามพบว่าในผู้สูงอายุ อาจมีเพียงไข้สูง ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยได้ในเด็กมักพบมีอาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วยเช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียมากกว่าในผู้ใหญ่ ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ อาการไข้ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1 สัปดาห์( ค่าเฉลี่ยประมาณ 3-5 วัน) ส่วนอาการไออาจมีอาการต่อเนื่องได้นานถึง 2 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของไข้หวัดใหญ่คือ ปอดอักเสบ ตำแหน่งอื่นที่พบภาวะแทรกซ้อนได้คือระบบทางเดินประสาท และระบบกล้ามเนื้อ 1. ปอดอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในกลุ่มที่ภาวะเสี่ยง โดยเกิดได้ทั้งจากตัวไวรัสไข้หวัดใหญ่เอง หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ โดยเชื้อที่พบบ่อยได้แก่ Streptococcus pneumoniae และ Staphylococcus areus รองลงมา 2. ภาวะกล้ามเนื้ออักเสบหรือกล้ามเนื้อโดนทำลาย (Myositis a n d rhabdomyolysis) โดยมักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรงกว่าปกติ โดยเฉพาะที่บริเวณขา ตรวจเลือดจะพบค่าการทำงานของ Creatone phosphokinase สูงขึ้น 3. ภาวะแทรกซ้อนระบบหัวใจ - กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Mocarditis a n d pericarditis) - กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) โดยมีการศึกษาพบว่าการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มีความสัมพันธ์กับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันโดยอาจพบในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 4. ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ไข้หวัดใหญ่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเช่น ไข้สมองอักเสบ (encephalitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) ปลายประสาทอักเสบ (Guillain-Barre syndrome)  

กลุ่มคนไข้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่
1. กลุ่มอายุ เด็กเล็ก โดยเฉพาะต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุมากกว่า 65ปี
2. กลุ่มที่มีโรคประจำตัว หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ เบาหวาน
3. กลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ ได้ยากดภูมิต้านทาน มะเร็ง ติดเชื้อไวรัสHIV
4. ผู้หญิงตั้งครรภ์
5. ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน

การวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่
การวินิจฉัยมักเริ่มจากอาการเป็นส่วนใหญ่ อาการดังที่กล่าวข้างต้น ไข้สูงปวดเมื่อยตัว มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ และประวัติสัมผัสโรค การตรวจทางห้องปฏิบัติการอาจจำเป็นในรายที่ต้องการทราบวินิจฉัยแน่ชัดเพื่อวางแผนการรักษา โดยการตรวจเลือดผลเม็ดเลือดขาวมักอยู่ในเกณฑ์ปกติ วิธีการตรวจเชื้อโดยการตรวจหาเชื้อจากจมูกมีทั้งการส่งแบบ rapid antigen และการตรวจแบบ PCR ซึ่งความไวในการตรวจแต่ละวิธีไม่เท่ากัน

การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่
1. พักผ่อนให้มากเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และควรหยุดงานหรือหยุดเรียนเพื่อการพักผ่อน และไม่เป็นการกระจายเชื้อ
2. ดื่มน้ำให้มาก เพื่อไม่ให้มีภาวะขาดน้ำ
3. ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ เนื่องจากไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ยกเว้นในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย
4. ควรไปพบแพทย์เมื่อไข้ไม่ลงหรือมีภาวะหายใจเจ็บหน้าอก หรือหายใจลำบาก

ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่
ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่ยาฆ่าเชื่อหรือกำจัดไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่เพียงช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดระยะเวลาอาการประมาณหนึ่งวันถึงวันครึ่ง กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อเกิดภาวะแทรกซ้อนมีความจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส ส่วนในกลุ่มที่ไม่มีภาวะเสี่ยงหรืออาการไม่เยอะ ยาอาจจะมีประโยชน์ในแง่ลดอาการหากได้รับยาใน 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ ผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่คือคลื่นไส้อาเจียน ลดอาการข้างเคียงได้โดยรับประทานพร้อมอาหาร

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
1. ทำให้ร่างกายแข็งแรง ดื่มน้ำ ออกกำลังกาย กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนให้เพียงพอ
2. เน้นทำความสะอาดล้างมือ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร และเข้าห้องน้ำ
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสมือ หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
4. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง โดยควรได้รับวัคซีนก่อนช่วงระบาด ในประเทศไทย แนะนำให้ฉีดก่อนฤดูฝน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะขึ้นหลังได้รับวัคซีนประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน อาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือมีไข้ต่ำๆ หลังได้รับวัคซีนได้ โดยพบประมาณร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 10 ของผู้ได้รับการฉีดวัคซีน เห็นได้ว่า ไข้หวัดใหญ่ สามารถเกิดได้กับทุกคน และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงกับชีวิตได้ แนะนำให้ทุกคนดูแลสุขภาพ ร่วมกับมารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่กัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์เคมีบำบัดและโลหิตวิทยา
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

พญ. พัณณวดี อุปถัมภ์นรากร

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคติดเชื้อและโรคเขตร้อน

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา