• banner

โรคไทรอยด์ต่ำระหว่างการตั้งครรภ์ (Hypothyroid during pregnancy)

สาเหตุที่พบบ่อย คือ โรคไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง (Hashimoto’s thyroiditis) และสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ไทรอยด์ต่ำหลังการกลืนน้ำแร่หรือผ่าตัดต่อมไทรอยด์, โรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์จากต่อมใต้สมองทำงานน้อย การวินิจฉัยจากอาการ แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการน้อย และคล้ายคลึงกับอาการที่พบในระหว่างการตั้งครรภ์ทำให้แยกยาก จึงควรเจาะเลือดตรวจ ซึ่งผลเลือด TSH สูงเมื่อเทียบกับระยะของการตั้งครรภ์ ร่วมกับ FT4 ต่ำ นอกจากนี้การตรวจ thyroid antibodies จะช่วยบอกสาเหตุว่าเป็นไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง (Hashimoto’s thyroiditis) ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเกิดไทรอยด์อักเสบหลังคลอดด้วย

ภาวะแทรกซ้อนที่พบในมารดา ได้แก่ การแท้ง ทารกเสียชีวิตในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด ความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ เบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ โลหิตจาง ภาวะตกเลือดหลังคลอด รกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดท่าก้น รวมถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ

ภาวะแทรกซ้อนที่พบในทารกในครรภ์ ได้แก่ น้ำหนักตัวน้อย ทารกขาดออกซิเจน (Fetal distress) และมีผลต่อการพัฒนาทางระบบประสาทและสมอง ส่งผลต่อ IQ รวมถึงอัตราการเสียชีวิตของทารกเพิ่มขึ้น แต่ในเด็กที่เกิดจากมารดาที่ได้รับการรักษาภาวะไทรอยด์ต่ำตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์จะสามารถลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้ชัดเจน

ภาวะ Isolated hypothyroxinemia คือ ภาวะระดับ TSH ในเลือดปกติ แต่ระดับ FT4 ต่ำกว่า 10%tile หรือ 0.86 ng/dl ซึ่งไม่พบว่ามีความสัมพันธ์การเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ดังนั้นไม่ต้องรับการรักษา

แนวทางการรักษาระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่ รับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ตามคำแนะนำของแพทย์ โดยทั่วไปช่วงที่ตั้งครรภ์จะต้องการปริมาณยาไทรอยด์จะมากกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์ 25-30% (เฉลี่ยจะรับประทานยาเพิ่มขึ้น 2 เม็ดต่อสัปดาห์) ความต้องการยาไทรอยด์มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับสาเหตุของไทรอยด์ต่ำ

ข้อบ่งชี้ในการเริ่มยาไทรอยด์ ได้แก่ กรณีที่เกิดไทรอยด์ต่ำแล้ว (overt hypothyroid) หรือแนวโน้มไทรอยด์ต่ำ (subclinical hypothyroid)

เป้าหมายดูว่ายาเพียงพอหรือไม่ดูจากค่าเลือด TSH <= 2.5 mU/L (1st trimester), <= 3 mU/L (2nd trimester) และ <= 3.5 mU/L (3rd trimester) โดยเจาะตรวจเป็นระยะทุก 3-4 สัปดาห์หลังการปรับขนาดยา และเจาะตรวจที่อายุครรภ์ 26 และ 32 สัปดาห์และควรรับประทานยาในขณะท้องว่าง หลีกเลี่ยงการทานพร้อมกับยาดังต่อไปนี้ วิตามิน ยาบำรุงเลือด แคลเซียม นมและผลิตภัณฑ์จากนมและนมถั่วเหลืองควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 4 ชั้วโมง


หลังจากคลอดบุตรแล้วจะลดขนาดยาฮอร์โมนไปเท่ากับก่อนตั้งครรภ์ และตรวจติดตามผลเลือด TSH หลังคลอดอีก 6 สัปดาห์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777

ศูนย์รักษา: ศูนย์อายุรกรรม
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

พญ. สุพรรณิการ์ เจริญ

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ