• banner

ไขมันในเลือดสูง ภัยเงียบที่ควรระวัง

ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นภาวะที่ไม่มีสัญญาณเตือน หากละเลยการตรวจไขมันในร่างกาย อาจทำให้เกิดไขมันสะสมจนก่ออันตรายต่อระบบร่างกายได้ มักมีอาการเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือด การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ภาวะไขมันในเลือดสูง คืออะไร
ภาวะที่มีความผิดปกติของการเผาผลาญไขมัน เป็นผลให้ระดับไขมันในเลือดชนิดต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป จนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงแข็งทำให้เกิดโรคต่างๆเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง

อาการไขมันในเลือดสูง

ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นภัยเงียบที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยทั่วไปในระยะแรกมักไม่มีอาการใดๆ มักมีอาการเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ อาการเจ็บหน้าอกจากภาวะหัวใจขาดเลือด 

การตรวจระดับไขมันในเลือด
  • ระดับไขมันในเลือดที่ผิดปกติสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นการตรวจหาโรคไขมันในเลือดสูงจึงมีส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การป้องกันโรคต่างๆ
  • ในประเทศไทยแนะนำให้ตรวจคัดกรองหาโรคไขมันในเลือดสูงในบุคคลทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยถ้าผลปกติ แนะนำให้ตรวจอย่างน้อยทุก 5 ปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • รวมถึงตรวจในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง หรือมีลักษณะผิดปกติที่สงสัยภาวะไขมันในเลือดสูงผิดปกติจากพันธุกรรม เช่น ประวัติครอบครัวเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร, พบไขมันบนผิวหนัง(Xanthomas)โดยเฉพาะบริเวณหางตา หรือวงไขมันรอบกระจกตา (Corneal arcus) 

ผลเลือดไขมันแต่ละชนิดคืออะไร เท่าไหร่ผิดปกติ ?
1. Total cholesterol เป็นการวัดค่าคอเลสเตอรอลรวมในร่างกาย ค่าปกติ  < 200 mg/dL
2. Low density lipoprotein (LDL) เป็นคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หากมีไขมันชนิดนี้สูงจะไปสะสมที่ผนังหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงเส้นเลือดสมอง เส้นเลือดหัวใจ ระดับ LDL ที่เหมาะสมขึ้นกับอายุและปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปไม่ควรเกิน 100-130 mg/dL
3. Triglyceride เป็นไขมันไม่ดีอีกชนิดหนึ่ง โดยร่างกายจะสะสมไว้ในเนื้อเยื่อไขมันเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรอง โดยได้รับจากการรับประทานอาหารจำพวก แป้ง น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต โดยถ้ามีระดับสูงมากจะเสี่ยงต่อภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ค่าปกติ < 150 mg/dL
4. High density lipoprotein(HDL) เป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี จะช่วยนำคอเลสเตอรอลไปใช้ ลดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ปกติ > 40 mg/dL ในเพศชาย และ > 50 mg/dL ในเพศหญิง
5. NON-HDL เป็นค่าที่ได้จากการคำนวณระดับที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 130-160  mg/dL

วิธีการดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะไขมันในเลือดสูง
1. จำกัดอาหารและเลือกรับประทานให้เหมาะสม
- แนะนำรับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วย ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี แหล่งโปรตีนจากปลา
- ลดการบริโภคเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป ขนมหวาน เครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล
- ควรเปลี่ยนการใช้น้ำมันเป็นไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น
- ไม่ควรบริโภคอาหารที่ประกอบด้วยไขมันทรานส์ ซึ่งพบใน มาการีน เนยขาว และเบเกอรี่ที่ใช้เนยเหล่านี้เป็น  ส่วนประกอบ
- เพิ่มการบริโภคกากใยอาหาร
2. ลดน้ำหนัก ในผู้ที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน
3. ออกกำลังกายแบบแอโรบิค ระดับหนักปานกลาง เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน สัปดาห์ละ 150-300 นาที
4. งดสูบบุหรี่เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้การงดบุหรี่ยังช่วยเพิ่มไขมันดีได้

คำแนะนำเฉพาะเพื่อลดไขมัน Triglyceride
1. แนะนำอย่างยิ่งให้เลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
2. ลดการบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล
3. ลดน้ำหนัก และเพิ่มการออกกำลังกาย

ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นภัยเงียบ ซึ่งอาจจะเกิดได้ทั้งผู้ที่มีน้ำหนักเกินและผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้นจึงแนะนำให้มีการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง และวางแผนดูแลสุขภาพให้ดีมากยิ่งขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์ตรวจสุขภาพ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/07/2024

แพทย์ผู้เขียน

พญ. วรรษมน ยอแสง

img

ความถนัดเฉพาะทาง

อายุรแพทย์

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ