• banner

กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ

กระดูกสะโพกหักเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และมีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น จัดเป็นกระดูกหักที่รุนแรงและเป็นภาวะเร่งด่วนอย่างหนึ่ง จากรายงานการศึกษาส่วนใหญ่พบมีอัตราการเสียชีวิตภายใน 1 ปีสูงถึง 20-35% ส่วนใหญ่จะเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงและเป็นอุบัติเหตุภายในบ้าน เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ ลื่นตกจากเก้าอี้ ตกจากเตียง กระดูกหักบริเวณนี้พบได้น้อยในคนอายุน้อยกว่า 50 ปี สาเหตุที่พบในอายุน้อยจะเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรง เช่น อุบัติเหตุจราจร ตกจากที่สูง ทั้งนี้เป็นเพราะในผู้สูงอายุจะมีภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุนอยู่จึงพบว่ามีกระดูกหักบริเวณนี้สูงมาก

ปัจจัยเสี่ยงของกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ
  • อายุที่มากขึ้นเนื่องจากมีภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุนและยังมีปัญหาเรื่องสายตา การทรงตัว ทำให้มีโอกาสหกล้มง่ายขึ้น
  • มีโรคประจำตัวโรคเรื้อรังต่าง ๆ
  • ภาวะโภชนาการที่ไม่ดี ขาดสารอาหาร ขาดแคลเซียมทำให้กระดูกไม่แข็งแรง
  • ขาดการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ
  • รับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาหม้อ ยาลูกกลอน
  • ผู้ที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพศหญิงจะพบกระดูกสะโพกหักมากกว่าเพศชาย

เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากระดูกสะโพกหัก
ผู้สูงอายุที่มีประวัติหกล้มซึ่งอาจดูไม่รุนแรง และมีอาการปวดสะโพก ไม่สามารถลุกยืนเดินได้ปกติ ขยับขาแล้วปวดควรรีบพาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและเอกซเรย์เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป ในบางกรณีคนไข้มีภาวะกระดูกร้าวเล็กน้อยซึ่งเอกซเรย์ครั้งแรกอาจไม่เห็นได้ พอกลับบ้านไปเดินอาจมีอาการเจ็บมากขึ้นได้ ซึ่งในกรณีนี้ถ้าคนไข้อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรกลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยซ้ำ เพราะโดยทั่วไปแล้วถ้าไม่มีกระดูกหักแค่ฟกช้ำภายในไม่กี่วันอาการควรดีขึ้น

การรักษา
กระดูกหักสะโพกหักในผู้สูงอายุจัดเป็นภาวะที่มีความรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถ้าไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม จากรายงานการศึกษาพบมีอัตราการเสียชีวิตภายในปีแรกสูงถึง 35% กระดูกหักบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะต้องรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาโดยการไม่ผ่าตัดจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเดินได้ปกติและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติน้อยมากและมักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่พบตามมาได้เนื่องจากผู้ป่วยต้องนอนเฉย ๆ อยู่บนเตียงเป็นเวลานานไม่สามารถลุกไปไหนได้ เช่น ปัญหาแผลกดทับในที่ต่าง ๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อที่ปอด เป็นต้น

การป้องกัน กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุสามารถป้องกันได้ โดยการป้องกันและรักษาภาวะกระดูกพรุน ดังนี้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต้องเป็นการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก เช่น การเดินให้ได้ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน
  • กินอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น น้ำเต้าหู้ นม ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งกระดูก
  • ได้รับวิตามินดีที่เพียงพอ โดยการออกกำลังกายกลางแจ้งขณะมีแสงแดดอ่อน ๆ จะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีเพิ่มขึ้น
  • งดบุหรี่ และการดื่มสุราเพราะทำให้มวลกระดูกลดลง
  • หลีกเลี่ยงยาที่รับประทานต่อเนื่องจะทำให้มวลกระดูกลดลง เช่น สเตียรอยด์ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์  ยากลุ่มนี้มักผสมในยาหม้อ ยาลูกกลอน
  • ไม่ควรดื่มชา กาแฟมากกว่าวันละ 2 แก้วเพราะคาเฟอีนจะเร่งการขับแคลเซียม
  • ในผู้สูงอายุโดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือน ควรได้รับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกและรักษาถ้าตรวจพบว่ามีกระดูกบาง กระดูกพรุน
  • จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะกับผุ้สูงอายุเพื่อป้องกันการหกล้ม เช่น ต้องมีแสงสว่างเพียงพอ ไม่มีบริเวณที่ลื่น หรือพื้นต่างระดับที่ทำให้สะดุดได้ ไม่วางระเกะระกะตามพื้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคกระดูกและข้อ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

นพ. พิเชษฐ์ ศิริวัฒนสกุล

img

ความถนัดเฉพาะทาง

ศัลยแพทย์ทางด้านโรคกระดูกและข้อ

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

Hip and Knee Surgery, Sport Medicine

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ