• banner

รู้เท่าทันไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ โดยติดต่อผ่านทางเลือด และติดต่อจากแม่สู่ลูกซึ่งเป็นทางติดต่อที่พบมากที่สุด ซึ่งในประเทศไทยพบความชุกของไวรัสตับอักเสบบีร้อยละ 5-7 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ

ตับอักเสบ (Hepatitis) คือการอักเสบของเซลล์ตับที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจะทำให้เซลล์ตับตาย หากปล่อยให้เรื้อรังอาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยที่รุนแรง ทำให้เกิดตับแข็ง มะเร็งตับ หรือถึงแก่ชีวิตได้

การติดต่อ/การรับเชื้อ
ไวรัสตับอักเสบบีติดต่อทางเลือดและสารคัดหลั่งเป็นหลัก ช่องทางการแพร่เชื้อที่สำคัญ ได้แก่
• การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงคลอดบุตร
• การติดเชื้อจากการได้รับเลือดและผลิตภัณฑ์ของเลือด
• การติดเชื้อผ่านผิวหนังที่เป็นแผล เมื่อสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น การใช้เข็มฉีดสารเสพติดร่วมกัน หรือใช้เข็มสำหรับการสัก การเจาะร่างกายร่วมกับผู้ที่เป็นโรค
• การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ

ไวรัสตับอักเสบบีไม่ติดต่อทางการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแต่อย่างใด

ใครมีความเสี่ยง

• ทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นโรคตับอักเสบบี
• อยู่ในบ้านเดียวกับผู้ติดเชื้อตับอักเสบเรื้อรัง
• มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันกับผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบบี
• เป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรรักษาความปลอดภัยของสาธารณะ
• เป็นผู้ป่วยที่ต้องฟอกโลหิตด้วยเครื่องล้างไตเทียม

อาการ/อาการแสดง
• ภาวะตับอักเสบบีเฉียบพลัน โดยทั่วไปไวรัสตับอักเสบบีมีระยะฟักตัวประมาณ 60-90 วัน หลังได้รับเชื้อ บางครั้งอาจจะแสดงอาการได้ภายใน 6 เดือน กล่าวคือ ผู้ป่วยจะมีอาการมีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดเมื่อยเนื้อตัวนำมาก่อนแล้วตามด้วยปัสสาวะสีเข้มขึ้น และมีตัว ตาเหลือง เมื่อมีภาวะดีซ่านแล้ว อาการไข้มักจะหายไป ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มนี้จะหายได้เอง
• ภาวะตับอักเสบบีเรื้อรัง ผู้ป่วยในระยะนี้อาจจะมีหรือไม่มีอาการแสดงทางตับก็ได้ แต่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไปได้
• อาการและอาการแสดงจากภาวะตับแข็ง เป็นการดำเนินโรคในระยะท้ายของตับอักเสบบีเรื้อรัง เช่น มีท้องมาน มีตัวตาเหลือง ขาบวม อ่อนเพลีย ติดเชื้อง่าย อาเจียนเป็นเลือด
• อาการและอาการแสดงจากภาวะมะเร็งตับ อันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจไม่เคยมีอาการทางตับมาก่อนเลย แล้วมาพบแพทย์ด้วยอาการของมะเร็งตับเลยก็ได้ เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลด ไข้ต่ำๆ หรือมีภาวะเลือดออกในช่องท้อง

การรักษา

• เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเฉียบพลัน ในวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ การรักษาจึงเป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองตามอาการเท่านั้น ไม่มีการรักษาจำเพาะในผู้ป่วยกลุ่มนี้
• ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังควรได้รับการตรวจติดตามโดยแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับในอนาคตมากกว่าคนทั่วไป ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา รวมถึงการติดตามผลการตรวจเลือด ผลการตรวจทางเอกซเรย์ และการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ

การป้องกัน
ป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสทางเลือดและสารคัดหลั่งต่างๆ มารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อเตรียมตัวก่อนคลอดบุตร ปัจจุบันการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777 
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 24/07/2024

แพทย์ผู้เขียน

นพ. กำธร เผ่าสวัสดิ์

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคระบบทางเดินอาหาร

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ