• banner

โรคหัวใจขาดเลือด ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

หัวใจเป็นอวัยวะที่มีความมหัศจรรย์  เริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต นับว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญและแข็งแรงมาก หัวใจจะทำงานได้เป็นปกติต้องอาศัยการทำงานที่เป็นระบบของไฟฟ้าหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นเดียวกันกับกล้ามเนื้ออื่น ๆ ที่ต้องการออกซิเจน และอาหารจากเลือดมาหล่อเลี้ยงเพื่อให้บีบตัวต่อไปได้ หลอดเลือดที่นำมาเลี้ยงหัวใจประกอบด้วยหลอดเลือดแดง 2 เส้น เรียกว่า โคโรนารี ด้านขวา 1 เส้น และด้านซ้าย 1 เส้น ซึ่งจะแตกแขนงออกเป็น 2 เส้นใหญ่ นอกจากนั้นแล้วแต่ละเส้นยังส่งแขนงย่อย ๆ ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย ดังนั้นหากหลอดเลือดหัวใจเหล่านี้เกิดการตีบ หรืออุดตันก็จะนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้ไม่ดี กล้ามเนื้อหัวใจตาย  ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเสียชีวิตกะทันหัน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย และพบได้บ่อยมากในปัจจุบัน โดยสาเหตุที่ทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ ได้แก่
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยคราบพลัคที่เกิดขึ้นภายในหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เมื่อสะสมมาก ๆ เข้าก็จะอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจโคโรนารี และทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
  • ภาวะขาดออกซิเจนในเลือด เมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงเนื่องจากได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป ก็จะทำให้หัวใจไม่ได้รับเลือดที่มีออกซิเจนอย่างเต็มที่ กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสียหาย เกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในที่สุด
  • ภาวะหลอดเลือดหัวใจหดตัวอย่างรุนแรง เกิดขึ้นจากการที่หลอดเลือดหัวใจโคโรนารีเกิดการหดตัวอย่างรุนแรงจนทำให้การไหลเวียนเลือดไปยังหัวใจถูกตัดขาด แต่ก็พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติด (โคเคน) ความเครียด การได้รับอากาศเย็นจัด และการสูบบุหรี่

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจเป็นอวัยวะหนึ่งที่เกิดการเสื่อมไปตามอายุ อย่างไรก็ตามนอกจากอายุแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้เร็วขึ้น และรุนแรงขึ้น โอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดจะยิ่งมากขึ้นหลายเท่า ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรค ได้แก่
  • อายุ
  • เพศชาย ทั้งนี้เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงจะช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด แต่เมื่อผู้หญิงหมดประจำเดือน ไม่ว่าโดยธรรมชาติ หรือไม่มีรังไข่ ก็ทำให้โอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดสูงขึ้นใกล้เคียงกับเพศชาย
  • ประวัติในครอบครัวที่เป็นโรคนี้ รวมทั้งพันธุกรรม
  • การสูบบุหรี่
  • ความดันโลหิตสูง
  • เบาหวาน
  • โรคอ้วน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) สูง
  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ต่ำ

ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้อย่างไร โรคหัวใจขาดเลือดเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสื่อมตามอายุ จึงไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ 100% แต่สามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคได้ ด้วยมีวิธีป้องกันตามนี้
  • เลิกบุหรี่ โอกาสเสี่ยงที่เคยมีจะลดลงจนใกล้เคียงกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ยังช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งปอด และถุงลมโป่งพองอีกด้วย
  • ตรวจเลือดเพื่อหาระดับไขมันในเลือดอย่างละเอียด หากพบว่าไขมันสูงมากกว่าค่าที่แนะนำให้ควบคุมอาหารโดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ร่วมกับการออกกำลังกาย หากไม่ได้ผลควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาการใช้ยา
  • หากมีความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน จำเป็นต้องควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่สุด
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วน
  • ออกกำลังกาย เช่น แอโรบิค วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างสม่ำเสมอ
  • ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียด

การหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ก็จะช่วยชะลอ หรือลดปัญหาแทรกซ้อนจากโรคหัวใจลงได้


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777

ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

นพ. ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคหัวใจ

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ