• banner

การดูแลรักษาสุขภาพสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

การรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายนั้นจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อ ผู้ป่วยให้ความร่วมมือกับแพทย์ และพยาบาล โดยให้การดูแลและสนใจต่อสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอดังนี้
  1. การควบคุมน้ำหนักตัว ผู้ป่วยโรคไตที่ไม่มีปัสสาวะแล้วควรควบคุมไม่ให้น้ำหนัก เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 กก./วัน (โดยจะต้องชั่งน้ำหนัก ในตอนเช้าที่ยังไม่ได้รับประทานอาหารใด ๆ และหักลบกับน้ำหนักเมื่อวันก่อนในเวลาเดียวกัน) เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยควรจะดื่มน้ำได้ไม่เกิน 800 ซีซี/วัน ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำเกินในร่างกาย ซึ่งจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ความดันโลหิตสูง และหัวใจโต ทำให้สุขภาพของผู้ป่วยอ่อนแอลงเรื่อย ๆ มีอาการเหนื่อยง่ายคุณภาพ ชีวิตจะด้อยลง กรณีที่ผู้ป่วยยังมีปัสสาวะต่อวัน ควรตวงจำนวนปัสสาวะเป็นระยะ ๆ เพื่อประเมินจำนวน ปัสสาวะต่อวันซึ่งสามารถดื่มน้ำได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนปัสสาวะที่ตวงได้ต่อวัน
  2. การควบคุมอาหาร ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอก เลือดด้วยเครื่องไตเทียมแล้วจะรับประทาน อาหารได้มากกว่าผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการฟอกเลือด แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดแล้วนี้ยังมีความจำเป็นต้อง ควบคุมอาหารและน้ำตามชนิดของโรคไต, ปัสสาวะที่ออก, ขนาดของการฟอกเลือด และโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น เบาหวาน, หัวใจ เป็นต้น การควบคุมอาหารตลอดจนน้ำและเกลือแร่ให้ถูกต้องดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับ การฟอกเลือดแล้ว มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
  3. การใช้ยา
    • ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยา อาหารเสริม วิตามิน และสมุนไพรมารับประมานเอง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
    • ผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแลควรสอบถาม แพทย์และเภสัชกร ถึงระยะเวลาการรับประทานยา และขนาดยาที่ปรับเปลี่ยนในแต่ละครั้ง และควรยึดวิธีการรับประทานยาตามการใช้ยาครั้งใหม่ เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษา
  4. การป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมีภูมิคุ้มกันโรค ที่อ่อนแอกว่าคนปกติ ร่างกายจะติดเชื้อได้ง่าย ผู้ป่วยจึงควรระวัดระวังการติดเชื้อโดยปฏิบัติดังนี้
    • รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณมือและเท้า ไม่ควรที่จะแกะเกาให้ผิวหนังเป็นแผล จึงควรตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้นและควรสระผม ให้สะอาดอยู่เสมอ
    • ทำความสะอาดแขนบริเวณที่ลงเข็มทุกครั้งที่มาทำการฟอกเลือด และรักษาแผลบริเวณที่ลงเข็มหลังจากการฟกเลือด สังเกตอาการอักเสบ ปวดบวมแดงร้อน ถ้าพบต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการติดเชื้อ ลุกลามเข้ากระแสเลือดได้
    • วัดอุณหภูมิร่างกายทุกครั้งก่อนเข้ารับการฟอกเลือด
    • เอกซเรย์ปอดปีละครั้ง เพื่อประเมินขนาดของหัวใจ ปอดและหาวัณโรคที่ซ่อนเร้น
    • พักผ่อน นอนหลับ ให้เพียงพอ
    • วิธีการออกกำลังกาย ควรได้รับการพิจารณาจากแพทย์
  5. การสังเกตการผิดปกติ ที่อาจเกิดขึ้นอยู่ที่บ้าน เช่น
    • ภาวะน้ำท่วมปอด เกิดจากมีน้ำส่วนเกินคั่งที่ปอด จะมีอาการเหนื่อยหอบ ไอ นอนราบไม่ได้ ถ้ามีอาการมาก ๆ จะไอจนถึงขั้นมีเสมหะฟองสีชมพู เหนื่อยหอบมากจนถึงขั้นทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยควรรีบติดต่อและเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที
    • แขนขาชา และ/หรือ ไม่มีแรง อาจเกิดจากมีปริมาณของโปรแตสเซียมภายในกระแสเลือดสูง หรือต่ำเกินไป หรืออาจเป็นโรคระบบประสาทและสมอง เช่น เส้นโลหิตในสมองแตก ตีบ หรือ อุดตัน
    • อาการชักเกร็งถึงหมดสติ อาจเป็นโรคปัจจุบันของสมองหรือหัวใจ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล ที่ใกล้บ้านที่สุดทันที
    • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เป็นลมง่าย เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
      • ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำ
      • ผู้ป่วยมีความรู้สึกร่างกายแห้งจนเกินไป
      • การรับประทานยาความดันที่ไม่เหมะสม ขนาดยามากเกินความจำเป็น
      • เป็นโรคหัวใจผิดปกติ
      • ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง
    • เป็นตะคริวบ่อย ๆ เกิดจากมีความไม่สมดุลของน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกาย ถ้ามีอาการดังกล่าว ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่พยาบาลทราบก่อน เริ่มทำการฟอกเลือดครั้งต่อไป
    • อาการคันตามตัว เกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ
      • มีปริมาณฟอสฟอรัสสะสมมากในร่างกาย สารตัวนี้จะไปรวมกับแคลเซียม และซึมอยู่ใต้ผิว หนัง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันทั้งตัว ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสต่ำ เพื่อป้องกันการสะสมของสารดังกล่าวนี้ในร่างกาย
      • ผิวหนังผู้ป่วยมีภาวะ แห้ง จน เกินไป ทำให้เกิดอาการคันได้ง่าย ควรใช้โลชั่น เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง หลังการอาบน้ำทุกครั้ง
    • บวมตามตัว เกิดจากมีเกลือโซเดียมและน้ำส่วนเกินขังอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะเท้า จะเห็นได้ชัดเจนกว่าตำแหน่งอื่นๆ ลักษณะบวมที่เกิดขึ้นนี้จะสังเกตได้โดย การกดลงไปบริเวณที่บวมจะเกิดเป็นรอยบุ๋ม โดยไม่มีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย ผู้ป่วยควรจำกัดปริมาณเกลือที่รับประทานและจำกัดน้ำดื่มไม่ควรเกินวันละ 500 ซีซี
    • ท้องผูกหรือท้องเสียบ่อยๆ ถ้ามีอาการท้องผูกสามารถแก้ไข โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ถ้าท้องผูกมาก ๆ ควรขอยาระบายจากแพทย์ได้เป็นครั้งคราว ส่วนอาการท้องเสียเกิดจากการทำงานของลำไส้ผิดปกติไป หรือมีความผิดปกติอื่นควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบ เพื่อทำการฟอกเลือดให้เพียงพออาการท้องเสียจะหายไปเอง (อาการท้องเสียดังกล่าวต้องแยกจากภาวะติดเชื้อของทางเดินอาหาร)
    • นอนไม่หลับ เมื่อมีภาวะของเสียเพิ่มมากขึ้นในเลือดและในสมอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายตัว จึงมีผลทำให้นอนไม่หลับควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือขอยานอนหลับจากแพทย์ ตามความจำเป็น
    • ปวดกระดูก เกิดจากกระดูกผุเนื่องจากมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และฟอสฟอรัสในเลือดสูง ถ้าได้รับการฟอกเลือดและควบคุมเรื่องอาหารได้ดี อาการกระดูกผุกร่อนก็จะลดน้อยลง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคไตและไตเทียม
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 23/05/2024

แพทย์ผู้เขียน

พญ. สุดารัตน์ สีน้ำเงิน

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคไต

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา