• banner

ทันตกรรมในผู้สูงอายุ

เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะทุกอย่างก็เสื่อมลง จากผลการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 50 จะมีโรคเรื้อรังอย่างน้อยหนึ่งโรค และจำนวนไม่น้อยที่มีโรคเรื้อรังหลายโรค ดังนั้นการดูแลทางทันตกรรมในผู้ป่วยสูงอายุนอกจากจะต้องคำนึงถึงสุขภาพช่องปากที่มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติแล้ว ยังต้องคำนึงถึงภาวะแทรกซ้อนจากยาและการรักษาอื่น ๆ อีกด้วย โดยต้องประเมินสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม และต้องมีการปรึกษาร่วมกันระหว่างทันตแพทย์กับแพทย์ผู้ทำการรักษาโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ การซักประวัตินอกเหนือจากประวัติทางทันตกรรมแล้ว ผู้สูงอายุและญาติต้องเตรียมรายชื่อยาที่รับประทานและขนาดยา หากทราบชื่อโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ด้วยก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

การเปลี่ยนแปลงในช่องปากของผู้สูงอายุ เป็นผลเนื่องมาจากความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้นว่าเยื่อบุผิวบางลง ความยืดหยุ่นลดลง ต่อมน้ำลายเสื่อม ทำให้น้ำลายน้อยลง ระบบภูมิคุ้มกันก็ทำงานลดลงด้วย ส่งผลให้ผู้สูงอายุมักจะมีอาการเหงือกร่น ปากแห้ง ติดเชื้อง่าย แผลหายช้า ซึ่งภาวะและโรคในช่องปากที่พบบ่อย คือภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย

ภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย เป็นภาวะที่พบบ่อยมากในผู้สูงอายุ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมากสาเหตุนอกจากต่อมน้ำลายเสื่อมตามอายุขัยแล้ว พบว่าส่วนใหญ่มาจากการรับประทานยารักษาโรคประจำตัวต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ เช่น ยาแก้เครียด ยาแก้แพ้ และนอกจากนี้การรักษาโรคมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอก็นับว่าเป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งของภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย เป็นไปได้มากที่ผู้สูงอายุที่น้ำลายน้อยจะรับประทานอาหารลำบากและไม่อร่อย เกิดความเสี่ยงต่อการขาดอาหาร ทำให้เกิดภาวะทุโภชนาการได้ด้วย นอกจากนี้แล้วยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคฟันผุและโรคปริทันต์เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากน้ำลายเป็นตัวชะล้างตามธรรมชาติ และเมื่อปากแห้ง เนื้อเยื่อขาดความชุ่มชื้น ก็จะเกิดแผลในปากได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการเสียดสีกับสิ่งต่าง ๆ เช่น อาหารหรือแม้กระทั่งฟันปลอม และเมื่อน้ำลายหลั่งน้อย สารโปรตีนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในน้ำลายที่ทำหน้าที่ต้านจุลชีพก็จะหลั่งออกมาน้อยด้วย จึงมีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น เชื้อราในช่องปาก การดูแลผู้สูงอายุจึงต้องคำนึงถึงการช่วยลดภาวะปากแห้งน้ำลายน้อยด้วยเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคเหงือกและฟัน

ผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลสุขภาพในช่องปาก โดยพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อาจจะปีละ 2-4 ครั้ง และยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า การเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรือร้อนจัด ควรบริโภคน้ำตาลในปริมาณจำกัด ลดการรับประทานของหวานระหว่างมื้อเพื่อป้องกันโรคฟันผุ ดูแลทำความสะอาดฟันปลอมหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง เพื่อลดการสะสมของเศษอาหารและเชื้อจุลินทรีย์ ถ้าน้ำลายน้อยมากอาจแนะนำให้จิบน้ำบ่อย ๆ ถ้าผู้สูงอายุและญาติมีความเข้าใจในการปฏิบัติตัวอย่างดีแล้ว ก็จะสามารถมีสุขภาพช่องปากที่ดีได้เหมือนที่เคยเป็นในครั้งวัยหนุ่มสาว ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิต

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์ทันตกรรม
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

ทพญ. จุฑากรณ์ ศุกรีเขตร

img

ความถนัดเฉพาะทาง

ทันตแพทย์ทั่วไป

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ