• banner

ภาวะไขมันพอกตับ ภัยร้ายใกล้ตัวกว่าที่คิด

ภาวะไขมันพอกตับ พบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติในระบบเผาผลาญ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักไม่แสดงอาการ ถ้าไม่ดูแลเฝ้าระวัง ภาวะไขมันพอกตับอาจเกิดตับแข็ง และเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งตับได้ในอนาคต

ภาวะไขมันพอกตับ เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในเนื้อตับมาก ซึ่งพบได้มากถึง 30% ในประชากรทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) ตามเกณฑ์วินิจฉัย 3 ใน 5 ข้อดังนี้
1.เส้นรอบเอวมากกว่า 80 ซม.ในผู้หญิง และ 94 ซม.ในผู้ชาย
2.ความดันโลหิตสูงมากกว่า 130/85 มม.ปรอท
3.ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารมากกว่า 100 มก./ดล. ในผู้ชาย
4.ไขมัน HDL น้อยกว่า 40 มก./ดล. 
5.ระดับไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 150 มก./ดล. 

ภาวะไขมันพอกตับเกิดจากอะไร
การกินอาหารที่มีแป้งและไขมันเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้ไขมันที่ได้รับมากเกินไปสะสมในตับ นอกจากนี้หากไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ จะส่งผลให้มีการเผาผลาญพลังงานส่วนเกินได้น้อยลง และทำให้ไขมันสะสมเพิ่มขึ้น

ภาวะไขมันพอกตับอันตรายหรือไม่
ภาวะนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคตับอักเสบและตับแข็ง มะเร็งตามระบบต่างๆ  โดยเฉพาะมะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ใหญ่

เราจะทราบได้อย่างไรว่ามีภาวะไขมันพอกตับ
ผู้ที่มีไขมันพอกตับจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ นอกจากจะเป็นระยะที่มีตับแข็งแล้ว ดังนั้นภาวะนี้ต้องมีการตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น โดยอาศัยการตรวจทางภาพรังสีวิทยา ได้แก่ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจ FibroScan

ภาวะนี้มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันหรือไม่
• ระยะแรก (hepatic steatosis) ไขมันที่สะสมในตับจะยังมีปริมาณไม่มาก ยังไม่ทำให้มีการอักเสบของตับ
• ระยะที่มีตับอักเสบ (steatohepatitis) ไขมันที่สะสมปริมาณมากพอจะทำให้ตับอักเสบ ระยะนี้จะพบค่าตับผิดปกติจากการตรวจเลือด
• ระยะที่มีพังผืดในตับ (hepatic fibrosis) จากการที่มีตับอักเสบเรื้อรัง สามารถตรวจพบได้จากการทำ Fibroscan
• ระยะตับแข็ง (cirrhosis) จากการอักเสบเรื้อรัง และมีการสะสมของพังผืด

พบว่า 10-20 % ของผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับจะเกิดตับแข็งในท้ายที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งตับอีกด้วย

วิธีการตรวจหาพังผืดในเนื้อตับ
ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ชนิดพิเศษ FibroScan ซึ่งสามารถบอกปริมาณไขมันที่สะสมในตับ และปริมาณพังผืดได้อย่างแม่นยำ

การรักษา
การรักษาที่ได้ผลมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การลดน้ำหนักตัวให้ได้ 7-10 % โดยการคุมอาหาร และออกกำลังกาย ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีแป้ง และไขมันน้อย เน้นอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ ไข่ขาว น้ำเต้าหู้ ผักและผลไม้ที่ไม่หวานจัด ออกกำลังกายทั้งแอโรบิค และชนิดเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-4 วันต่อสัปดาห์ อย่างน้อยวันละ 30 นาที นอกจากนี้หากมีโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ต้องรักษาควบคู่กันไปด้วย

จำเป็นต้องกินยาหรือไม่
ยามีบทบาทน้อยในภาวะนี้ และประสิทธิภาพไม่ดีเท่าการลดน้ำหนัก โดยเฉพาะในระยะที่ยังไม่มีการอักเสบหรือพังผืดในตับ อย่างไรก็ตามในระยะที่มีพังผืดมาก หรือเกิดตับแข็งแล้ว ยาจะมีบทบาทมากขึ้น ได้แก่ วิตามินอี ยาเบาหวาน pioglitazone ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการเลือกยา เนื่องจากมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน

ภาวะไขมันพอกตับเกิดจากไขมันส่วนเกินสะสมที่ตับจากการกินอาหาร และออกกำลังกายไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ตับอักเสบ ตับแข็ง รวมถึงมะเร็งตามระบบต่างๆ โดยเฉพาะมะเร็งตับ การลดน้ำหนัก 10% เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และต้องอาศัยวินัยในการดูแลสุขภาพที่ดีร่วมด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 16/10/2024

แพทย์ผู้เขียน

นพ. เกษม แสงหิรัญวัฒนา

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคระบบทางเดินอาหาร

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ