• banner

การออกกำลังกายกับโลหิตจาง

โลหิตจาง
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ.2551 พบอุบัติการทั่วโลกของโลหิตจาง 24.8% ซึ่งแบ่งสาเหตุได้เป็น 2 กลุ่มคือ 1.การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง ซึ่งอาจจะเกิดจากการขาดสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ธาตุเหล็ก, โฟเลต (folate), วิตามินบี 12, โรคไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia), โรคที่มีเซลล์มะเร็งในไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) เป็นต้น 2.การสูญเสียเม็ดเลือดแดงจากกระแสเลือด ได้แก่การเสียเลือดทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง , การที่เม็ดเลือดแดงแตกหรือถูกทำลายไปเร็วกว่าปกติ เช่น โรคที่ร่างกายต่อต้านเม็ดเลือดแดงของตนเอง (โรค autoimmune hemolytic anemia), โรคโลหิตจางกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น โรคขาดเอ็นซัยม์ของเม็ดเลือดแดง, โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น สาเหตุจากการสูญเสียเลือดพบได้บ่อย โดยเฉพาะเลือดออกจากทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ผู้สูงอายุบางรายอาจรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ เบื่ออาหาร มีโรคประจำตัวบางอย่าง เลือกรับประทานอาหาร อาจทำให้โลหิตจางได้ หรือโรคเรื้อรัง เช่น ไตวาย โรคตับ เป็นต้น ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดได้น้อยกว่าปกติ

อาการของโลหิตจาง
ซีด อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย มึนงงศีรษะ หน้ามืด บางคนที่โลหิตจางมากอาจเป็นลม หมดสติ หกล้ม หัวใจวายได้ หรืออาการต่างๆ เหล่านี้ คือ - อาการเหนื่อยง่าย เหนื่อยง่ายหมายถึงรู้สึกเหนื่อยผิดปกติเวลาที่ต้องออกแรง เช่น เคยเดินบันไดได้โดยไม่เหนื่อยแต่กลับเหนื่อย ถ้ามีโลหิตจางรุนแรง แค่เดินในบ้านก็อาจเหนื่อยแล้ว เวลาเหนื่อยอาจมีอาการใจสั่นร่วมด้วย ที่รุนแรงอาการมีอาการของโรคหัวใจวาย คือ เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ เป็นต้น - อาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ - อาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียน - อาการทางสมอง เช่น รู้สึกสมองล้า หลงลืมง่าย ขาดสมาธิในการทำงาน เรียนหนังสือไม่ดีเท่าที่ควร นอนไม่หลับ - อาการหัวใจขาดเลือด มักพบในคนที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โลหิตจาง ทำให้อาการของหัวใจรุนแรงขึ้น เจ็บหน้าอกง่ายขึ้น - อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร ท้องอืด

เมื่อเป็นโลหิตจางออกกำลังกายได้ไหม
โดยทั่วไปไม่มีข้อห้าม คุณสามารถออกกำลังกายชนิดทนทานได้ เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ รำมวยจีน เต้นรำ ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ยกเว้นถ้าคุณมีปัญหาโลหิตจางอย่างรุนแรง หรือแค่เดินเบาๆ 10-15 นาทีก็เหนื่อยแล้ว ควรพบแพทย์หาสาเหตุของโลหิตจาง และทำการแก้ไขเสียก่อน

การออกกำลังกายทำให้โลหิตจางหรือไม่
บ่อยครั้งนักกีฬาชนิดความทนทานเช่นนักปั่นจักรยานทางไกล หรือนักวิ่งมาราธอน ได้รับการวินิจฉัยว่าโลหิตจาง ซึ่งแท้จริงแล้วการออกกำลังแบบหนักหน่วงนี้ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางเทียม เกิดจากการปรับตัวของร่างกายขณะออกกำลังกายจะมีปริมาณพลาสม่าและเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณพลาสม่าเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่า ทำให้เสมือนหนึ่งว่าค่าฮีโมโกลบินต่ำลง ในกรณีแบบนี้ค่าเฟอร์ริตินในเลือดปกติ ถือเป็นภาวะโลหิตจางเทียมที่เกิดจากการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่นักกีฬาจะไม่มีอาการอะไร ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยธาตุเหล็ก

หลังบริจาคเลือดแล้วจะกลับไปออกกำลังกายได้เมื่อไหร่
ในการบริจาคเลือดแต่ละครั้งใช้ไปประมาณ 350-450 มิลลิลิตรคิดเป็น 10% ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกายเรา มีการทดลองในปี พ.ศ.2556 กับนักปั่นจักรยาน 19 คนโดยให้ทำการบริจาคเลือดแล้วจากนั้นทำการวัดค่า VO2max ภายหลัง 2ชม, 2วัน และ 7วัน แล้วเทียบกับตอนก่อนที่บริจาคเลือด ผลลัพธ์คือค่าVO2max ลดลง15%, 10%, และ7%ตามลำดับ โดยทั่วไปหลังบริจาคเลือด 24 ชั่วโมงก็ออกกำลังกายเบาๆได้ แต่ถ้าเป็นระดับการแข่งขันควรเลย 2 สัปดาห์ไปแล้วหลังบริจาคเลือดจะดีกว่า

การฝึกออกกำลังกายเพื่อเพิ่มเม็ดเลือดแดง
ปัจจุบันมีการจำลองสถานการณ์เหมือนออกกำลังกายในที่สูงกว่า 1500-2500 เมตร เพื่อให้เกิดภาวะออกซิเจนต่ำ ไปกระตุ้นไตหลั่งฮอรโมน Erythropoietin ( EPO ) ให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ที่เรียกกันว่า Altitude training พบว่าการฝึกออกกำลังกายชนิดทนทาน ในห้องหรือใส่หน้ากากที่มีออกซิเจนต่ำประมาณ 15% เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ จะเพิ่มเม็ดเลือดแดงในเลือดได้ ในประเทศที่มีพื้นที่สูงอาจให้นักกีฬาขึ้นไปนอนบนที่สูงแต่กลับลงมาฝึกออกกำลังกายในพื้นที่ระดับน้ำทะเล เรียกว่า Live Hi- Train Low ก็ได้ผลในการเพิ่มเม็ดเลือดแดงและสมรรถนะในการเล่นกีฬาเช่นเดียวกัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 24/06/2019

แพทย์ผู้เขียน

พญ. สุขจันทร์ พงษ์ประไพ

img

ความถนัดเฉพาะทาง

เวชศาสตร์ฟื้นฟู

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ