• banner

เช็คความเสี่ยงโรคหัวใจ ด้วยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ECHO

โรคหัวใจมักไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน ผู้ป่วยจึงไม่ทราบว่าอาการเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดนั้นเป็นอาการของโรค บางคนมารู้ตัวก็สายเกินไปและอาจนำไปสู่โรคหัวใจที่ร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ การตรวจสุขภาพหัวใจจะช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจได้ วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักการตรวจหัวใจด้วยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ECHO (Echocardiogram) และใครบ้างที่ควรตรวจ

Echocardiogram คืออะไร?
การตรวจ Echocardiogram หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอคโค่ (Echo) เป็นการตรวจการทำงานของหัวใจ โดยอาศัยหลักการของการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์ กล่าวคือ หัวตรวจ (Transducer) จะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงออกไป โดยคลื่นเสียงนี้จะผ่านเนื้อเยื่อชั้นต่างๆ ตั้งแต่ทรวงอกจนถึงหัวใจ หลังจากนั้นจะสะท้อนกลับมาที่หัวตรวจซึ่งจะทำหน้าที่รับสัญญาณคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมาแล้วประมวลผลและสร้างเป็นภาพขึ้นมา

เราเห็นอะไรบ้างจาก Echocardiogram

ภาพที่เห็นก็คือภาพการทำงานของหัวใจ ช่วยให้แพทย์เห็นถึงความผิดปกติของหัวใจทั้งทางด้านโครงสร้างและการทำงาน ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษาโรคหัวใจได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ
• เห็นขนาดและรูปร่างของหัวใจ
• ประเมินความสามารถในการทำงานแรงบีบตัวของหัวใจ
• ดูกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งอาจบีบตัวไม่ดีเป็นบางส่วน ซึ่งอาจจะเป็นจากล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือดูการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ
• ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ และสามารถประเมินความรุนแรงของการรั่วและตีบของลิ้นหัวใจได้ด้วย
• ตรวจดูลิ่มเลือดในหัวใจ ก้อนเนื้องอกในหัวใจ น้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ
• เห็นความผิดปกติอื่นๆ ของอวัยวะที่อยู่รอบๆ หัวใจ เช่น ความผิดปกติของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนต้นที่ติดกับหัวใจ น้ำในเยื่อหุ้มปอด หลอดเลือดที่นำเลือดเข้าสู่ปอด

ใครบ้างควรได้รับการตรวจ Echocardiogram
• ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก
• ผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย เหนื่อยง่ายเวลาทำงาน ออกกำลังกาย
• ผู้ป่วยที่มีอาการของหัวใจวาย ตัวบวม แขนขาบวม นอนราบแล้วเหนื่อย
• ผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยการทำงานของหัวใจผิดปกติ เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หน้ามืด วูบเป็นลม เป็นต้น
• ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ประวัติโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
• ผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจพบว่าเสียงหัวใจมีความผิดปกติ เช่น มีเสียงฟู่ (murmur)
• ผู้ที่ต้องการทดสอบความแข็งแรงของร่างกายก่อนออกกำลัง หรือเล่นกีฬา

ขั้นตอนในการเข้ารับการตรวจ Echocardiogram
ผู้เข้ารับการตรวจสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำก่อนทำการตรวจ เมื่อมาถึงจะได้รับคำแนะนำ ให้นอนในท่าตะแคงซ้ายบนเตียงที่จัดไว้ โดยผู้ที่ทำการตรวจจะใช้เจลทาที่บริเวณหัวตรวจของเครื่องมือ เพื่อให้สัมผัสกับผิวหนังได้ดีขึ้นและได้ภาพที่ชัดเจน หลังจากนั้นจะนำหัวตรวจมาวางที่บริเวณหน้าอก เลื่อนไปมาเพื่อหาบริเวณที่ชัดที่สุดของส่วนที่ต้องการตรวจ ภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจจะถูกแสดงบนจอ ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจสามารถเห็นภาพได้พร้อมกับผู้ทำการตรวจ

การตรวจ Echocardiogram ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เป็นการตรวจที่ไม่มีความเจ็บปวดและไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ หลังจากตรวจเสร็จแล้ว ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่มีการใช้รังสีเอกซเรย์ในการตรวจ สามารถตรวจได้โดยปลอดภัยแม้ว่าจะตั้งครรภ์อยู่ก็ตาม
    
ภาพการทำงานของหัวใจที่ถูกบันทึกไว้จะถูกนำไปอ่านผลโดยอายุรแพทย์โรคหัวใจ ผลการตรวจจะรายงานให้ผู้เข้ารับการตรวจทราบหลังจากอ่านผลเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลที่ได้จากการตรวจมีประโยชน์ ทำให้นำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่เห็นหลอดเลือดหัวใจโดยตรง และอาจได้ภาพไม่ชัดเจนในผู้ป่วยที่อ้วน หรือมีถุงลมโป่งพอง เนื่องจากไขมันและอากาศขัดขวางการเดินทางของคลื่นเสียงความถี่สูง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 26/09/2024

แพทย์ผู้เขียน

นพ. พิรุณ จุฬาโรจน์มนตรี

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคหัวใจ

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา