• banner

รู้เท่าทันภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง บีบตัวไม่ดี ไม่สามารถสูบฉีดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอ เป็นหนึ่งในภาวะของโรคหัวใจที่เป็นอันตรายจนอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ และเพื่อให้เข้าใจอาการของโรคนี้ให้มากขึ้น วันนี้เรามีข้อมูลมาบอกค่ะ

ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของคนไทยและคนทั่วโลก และทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยๆ เป็นปัญหาทั้งต่อผู้ป่วยเองและญาติที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วย สำหรับบทความนี้จะให้ความเข้าใจถึงสาเหตุและการรักษาโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งผู้ป่วยด้วยโรคนี้สามารถมีอาการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยตัวผู้ป่วยเองด้วยหลักง่ายๆ เพียงไม่กี่ประการ

สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นผลลัพธ์ระยะสุดท้าย หรือปรากฏการณ์สุดท้ายของโรคหัวใจหลายๆ ชนิดที่นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งหมายถึง ภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หัวใจโต บีบตัวไม่ดี ไม่สามารถสูบฉีดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

สาเหตุที่พบได้บ่อย
• โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย
• โรคความดันโลหิตสูง
• โรคของลิ้นหัวใจ (ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ)

สาเหตุที่พบไม่บ่อย
• โรคหัวใจที่เกิดจากไทรอยด์เป็นพิษ
• โรคหัวใจที่เกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง
• โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
• โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
• และอื่นๆ

โรคหัวใจต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น จะมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักมากขึ้นกว่าปกติ เช่น โรคหัวใจจากโรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หรือทำให้สูญเสียเซลล์กล้ามเนื้อจากหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ผลสุดท้ายทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หัวใจพองโต การสูบฉีดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้น้อยลง ทำให้อวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอ มีผลทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ไม่ปกติ เช่น ไตเสื่อม ไตวาย

นอกจากนี้ ผลจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี ทำให้เลือดดีที่ได้รับการฟอกเลือดจากปอดแล้ว (เลือดแดง) ไม่สามารถกลับสู่หัวใจห้องซ้ายได้ ทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในปอดหรือน้ำท่วมปอด หรือปอดแฉะ ผู้ป่วยเกิดอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หายใจไม่ออกเฉียบพลัน นอนราบไม่ได้ ต้องหนุนหมอนสูงๆ และผลจากที่หัวใจห้องซ้ายบีบตัวไม่ดี ทำให้ความดันเลือดในปอดสูงขึ้น มีผลทำให้หัวใจห้องขวาโตขึ้น และไม่สามารถรับเลือดเสีย (เลือดดำ) จากส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อไปฟอกที่ปอดได้ ผลที่ตามมาคือ เกิดภาวะความดันเลือดสูงในระบบของหลอดเลือดดำ มีการคั่งของน้ำและเกลือในหลอดเลือดและอวัยวะต่างๆ มีสารน้ำและเกลือรั่วไปนอกหลอดเลือดสู่เนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ที่เท้าและขาสองข้าง บวมที่ท้อง ท้องบวมน้ำ หรือบวมขึ้นมาถึงแขนและลำตัว ในกรณีที่หัวใจล้มเหลวมากๆ

ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ยังมีภาวะที่ส่งเสริมให้มีการคั่งของน้ำและเกลือในร่างกายมากขึ้น ซึ่งเกิดจากระบบฮอร์โมนในร่างกายมีการปรับตัวให้มีการดูดซึมน้ำและเกลือจากไตเข้าสู่ระบบไหลเวียนของเลือดมากขึ้น โดยเป็นกระบวนการชดเชยของร่างกายเพื่อเป็นการตอบสนองจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงไตลดน้อยลง

อาการของภาวะหัวใจล้มเหลว
• เหนื่อยง่ายผิดปกติ
• ไอ
• หายใจไม่เต็มอิ่ม
• นอนราบไม่ได้
• ลุกขึ้นมานั่งหายใจในเวลากลางคืน
• บวมตามที่ต่างๆ เริ่มต้นจากเท้า ขา ท้อง ลำตัวและแขน
• ท้องอืด แน่นท้อง

สรุปอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่นอกเหนือจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง บีบตัวไม่ดีพอที่จะปั๊มเลือดไปเลี้ยงอวัยวะและส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว ยังมีกระบวนการที่ทำให้มีการคั่งของน้ำและเกลือในร่างกายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย มีผลให้เกิดอาการบวมในส่วนต่างๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น

การรักษา
การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวในขั้นแรก ต้องหาสาเหตุของโรคหัวใจที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวก่อน และแก้ไขหรือรักษาโรคหัวใจชนิดนั้นๆ ซึ่งจะทำให้อาการของผู้ป่วยจากภาวะหัวใจล้มเหลวดีขึ้น เช่น ถ้าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่มีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ก็รักษาโดยการทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ หรือทำตัดต่อหลอดเลือดหัวใจนั้นๆ ถ้าผู้ป่วยมีโรคหัวใจจากโรคความดันโลหิตสูง ก็รักษาโดยการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งโดยการไม่ใช้ยาและการใช้ยารักษาร่วมกัน หรือถ้าผู้ป่วยมีโรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ ก็รักษาโดยการผ่าตัดลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ก็แนะนำให้งดเหล้า

นอกจากการรักษาโรคหัวใจที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว ทางแพทย์ผู้รักษาก็จะให้ยาบางชนิดที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ยาในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่
• ยาขับปัสสาวะ
• ยาขยายหลอดเลือด
• ยากระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ

ยาขับปัสสาวะ ออกฤทธิ์โดยการบังคับให้ไตขับเกลือและนำออกทางปัสสาวะให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดการคั่งของน้ำและเกลือในระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งจะมีผลทำให้การคั่งของน้ำและเกลือตามอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ ลดลง เช่น น้ำในปอดลดลง แขน ขา ท้องยุบลง ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้ยาขับปัสสาวะเป็นประจำก็มีข้อจำกัดในแง่ที่ว่า เมื่อรับประทานยาขับปัสสาวะเป็นเวลานานๆ ไตจะตอบสนองต่อยาขับปัสสาวะลดลง มีผลทำให้ต้องใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้นและอาจทำให้ไตเสื่อมลงได้

ดังนั้น จึงมาถึงวิธีการรักษาที่สำคัญที่สุด วิธีหนึ่งก็คือ การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวแบบไม่ใช้ยา วิธีการง่ายๆ ก็คือ ผู้ป่วยจะต้องพยายามลดปริมาณเกลือในอาหารที่รับประทานเข้าไปให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งวิธีปฏิบัติที่สำคัญในการลดปริมาณเกลือในอาหารมีดังนี้
• งดการใส่น้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ผงชูรส และผงปรุงรสทุกชนิดลงในอาหารทุกชนิดที่ทำรับประทานเอง
• ละเว้นการซื้ออาหารนอกบ้านมารับประทาน ยกเว้นเสียแต่ว่าผู้ป่วยสามารถขอให้ผู้ประกอบการขายอาหารงดเครื่องปรุงรสเค็มทุกชนิดลงในอาหาร
• งดอาหารแห้ง ของหมัก ของดองหรืออาหารสำเร็จรูปทุกชนิด เนื่องจากอาหารเหล่านี้ต้องมีเกลือเป็นส่วนประกอบเพื่อป้องกันการเน่าเสียของอาหาร เช่น หมูหยอง หมูแผ่น ปลาสลิดทอด เนื้อแดดเดียว ผักดอง ไข่เค็ม เป็นต้น

นอกจากการลดปริมาณเกลือในอาหารแล้ว ยังมียาบางอย่างที่ผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง ได้แก่ ยาแก้ข้ออักเสบของไขข้อหรือยาแก้ปวดข้อชนิดหนึ่งที่เรียกว่า NSAID หรือ COX-2 inhibitor ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น Ibuprofen (Brufen) Diclofenac (Voltaren) Celecoxib (Celebrex) หรือ (Etoricoxib (Arcoxia) เป็นต้น เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลยับยั้งการขับน้ำและเกลือทางไต ทำให้มีการคั่งของน้ำและเกลือเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีอาการมากขึ้น ตัวอย่างที่พบเห็นกันได้บ่อยๆ ในเวชปฏิบัติ คือ ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจจากโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้วและมีอาการปวดเข่าเกิดขึ้น ได้ไปซื้อยาแก้ปวดจากร้านขายยามารับประทาน พบว่าประมาณ 1 อาทิตย์ต่อมา ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาแบบฉุกเฉินในโรงพยาบาล เนื่องจากมีภาวะหัวใจล้มเหลวและน้ำท่วมปอด

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น นอกจากการเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ประจำ การรับประทานยาสม่ำเสมอแล้ว ผู้ป่วยและญาติเองก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้อาการของผู้ป่วยจากภาวะหัวใจล้มเหลวดีขึ้นเป็นอย่างมาก โดยการงดหรือลดปริมาณเกลือในอาหารที่รับประทานเป็นประจำ และควรหลีกเลี่ยงการทานยาลดการอักเสบของข้อเข่าชนิด NSAID หรือ COX-2 inhibitor คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจะดีขึ้นมาก และลดผลกระทบต่อผู้ป่วยเองและครอบครัวในระยะยาว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 05/09/2024

แพทย์ผู้เขียน

นพ. ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคหัวใจ

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา