• banner

Burn out หมดไฟหรือจะไปต่อ

คุณเคยรู้สึกว่าทำงานไปแล้วอยู่ ๆ ก็เหมือนกับไฟในตัวมอดลงหรือหมดไปทันที แต่ไม่ได้หมดแรงใช่ไหม? อาการเช่นว่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นกับผู้ที่ทำงานในออฟฟิศมากกว่าผู้ใช้แรงงาน และอาจพบได้มากในระดับหัวหน้างานหรือผู้บริหารระดับต้นที่กำลังต้องการสร้างผลงาน อาการหมดไฟนี้ต่างจากอาการอ่อนล้าเรื้อรัง(Chronic Fatigue Syndrome) ที่อาจมีอาการทางกายภาพผิดปกติร่วมด้วย เช่น อิดโรย อ่อนล้า ไม่มีแรง นอนเท่าไรก็ไม่พอ หากคิดว่าเราเพียงแค่หมดไฟเฉย ๆ ก็แสดงว่ายังพอสังเกตตัวเองและป้องกันในเบื้องต้นได้ทันที อาการ Burn out ที่ว่านี้เป็นเรื่องของความเครียดกับการทำงานที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ อาจหายไปเมื่อรู้ตัวและหาทางผ่อนคลาย ความเครียดในระดับไม่สูงนักทำให้ผู้ปฏิบัติมุ่งมั่น อดทน และตั้งใจปฏิบัติงานจนประสบผลสำเร็จด้วยดี แต่หากความเครียดนั้นมีมากเกินไป หรือหากไม่สามรถจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นได้ก็จะนำไปสู่ภาวะ Burn out นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Maslach และ Leiter ได้ให้คำจำกัดความของ Burn out ไว้ดังนี้ “Burn out หมายถึงการตอบสนองต่อความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน โดยมีองค์ประกอบ 3 อย่างได้แก่ ความอ่อนล้าทางอารมณ์ หมายถึงความรู้สึกหมดพลังกับการทำงานจากการรับแรงกดดันทางอารมณ์ที่มากเกินไป การลดความเป็นบุคคล หมายถึง การเกิดทัศนคติด้านลบต่อผู้รับบริการหรือกับงาน และความรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”จึงจะเห็นได้ว่า Burn out นั้นเกิดจากความเครียดในบริบทของการทำงานเป็นหลักซึ่งดำเนินมาอย่างเรื้อรัง ส่งผลต่อทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน รวมถึงผลจากความเครียดเรื้อรังนี้อาจก่อให้เกิดโรคทางจิตเวชตามมาได้ เช่น โรคซึมเศร้า เป็นต้น

กลไกการเกิดภาวะ Burn out หากรู้สึกว่าน่าจะเริ่มมีอาการ Burn out เราลองมาทำความเข้าใจกลไกการเกิดภาวะ Burn out ก่อนว่าประกอบไปด้วยขั้นตอนอย่างไรบ้าง ดังนี้
  • มีความทะเยอทะยานและต้องการพิสูจน์ความสามารถของตัวเองต่อเพื่อนร่วมงาน
  • ลงมือทำงานอย่างหนักเพื่อต้องการพิสูจน์ความสามารถดังกล่าว โดยการรับงานมากกว่าปกติและต้องการจะรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตนเอง รวมถึงการปฏิเสธความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  • ละเลยความต้องการของตัวเองและครอบครัว อุทิศเวลาให้กับงานเท่านั้น โดยเชื่อว่าการเสียสละความสุขส่วนตัวจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ความสามารถของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์
  • เริ่มตระหนักได้ว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่หนทางที่ดีกับตัวเอง เริ่มมีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากความเครียด
  • เริ่มแยกตัวจากสังคม เพื่อน ครอบครัว และอุทิศให้กับงานมากขึ้นกว่าเดิม
  • เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นเครื่องจักรที่ทำงานให้เสร็จไปแต่ละวัน เกิดความรู้สึกว่างเปล่า เริ่มหากิจกรรมทดแทนซึ่งกลายเป็นว่าทำมากเกินไป และก็ย้อนกลับมาคิดว่าเป็นการเสียเวลาอีก
  • เริ่มมีอารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่าย สิ้นหวัง
  • เป็น Burn out syndrome ซึ่งหากรุนแรง อาจมีความคิดสิ้นหวังจนเกิดความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้ และเป้าหมายของการไม่อยากมีชีวิตอยู่นั้นก็เพื่อหลบหนีออกไปจากสิ่งแวดล้อมที่ใช้ชีวิตอยู่

เราจะรับมือกับอาการ Burn out อย่างไร? การทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นของภาวะ Burn out มีความสำคัญ และป้องกันไม่ให้ดำเนินมาจนเกิดภาวะ Burn out ได้ ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เมื่อเริ่มเครียดก็ควรรีบจัดการก่อนที่จะเป็นมาก โดยวิธีจัดการความเครียดในเบื้องต้นเป็นทักษะสำคัญที่ต้องบริหารจัดการเป็นประจำ เพื่อช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดี ในประเทศแคนาดาได้มีการศึกษาโดยสอบถามแพทย์อาวุโสหลายท่านที่มีความสามารถในการปรับตัวได้ดีในเรื่องการจัดการกับภาระงานและการสร้างสมดุลในชีวิต คำตอบที่ได้มีข้อสรุปน่าสนใจ ดงันี้
  • การมีมุมมองต่ออาชีพว่าเป็นงานที่มีคุณค่า รู้สึกภาคภูมิใจกับงานที่ทำ
  • การบริหารเวลา จัดลำดับความสำคัญของงาน ควรมีเวลามองภาพรวมของงานอยู่เสมอพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  • การบริหารคน เนื่องจากทีมที่ดีช่วยผ่อนแรงได้ การมอบหมายงานให้ตรงกับความถนัดของแต่ละคนก็เช่นกัน
  • การยอมรับและให้อภัยตนเองได้เมื่อเกิดข้อผิดพลาด
  • กระตือรือร้นพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมถึงการสอนหรือถ่ายทอดงานก็เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี เปรียบเทียบงานเหมือนความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ที่ดีต้องหมั่นสร้างความโรแมนติก งานก็เช่นกัน เพื่อให้น่าสนใจก็จะต้องพัฒนาหรือหาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อให้งานนั้นน่าสนใจอยู่เสมอ
  • ควรสังเกตตัวเอง เมื่อเริ่มเหนื่อยล้าต้องหยุดพัก การลาพักผ่อนก็ควรทำเสียตั้งแต่ยังไม่รู้สึกเหนื่อยจนเกินไป เพื่อที่จะได้มีความสุขกับการเดินทางพักผ่อนนั้น
  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือในบางครั้งที่รู้สึกเหนื่อยล้าและต้องการหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิต การอ่านหนังสือหรือศึกษาปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาที่ตนเองนับถือก็อาจช่วยทำให้เข้าใจชีวิตได้มากขึ้น
  • การพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือปรึกษากับเพื่อนร่วมอาชีพ หรือคนในครอบครัวก็ช่วยประคับประคองจิตใจในยามที่เกิดปัญหาได้เช่นกัน

ภาวะ Burn out สามารถป้องกันได้ แต่หากมีอาการจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตก็เป็นอีกแนวทางที่สำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขในการทำงานต่อไปได้อย่างยั่งยืน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์สุขภาพจิต
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

พญ. จามรี ณ บางช้าง

img

ความถนัดเฉพาะทาง

จิตแพทย์

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ